Digital Disruption และโควิด-19 ไม่เพียงแค่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเขย่าโลกธุรกิจไปด้วย ทั้งยังค่อยๆ บีบให้ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันต้องออกจากตลาดอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับ “ย่าน” หรือ “ชุมชน” ในกรุงเทพฯ ต้องเจอการเปลี่ยนแปลง และถูก Disrupt ตลอดเวลา ทั้งยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และโครงการพัฒนาย่านมากมาย รวมถึงการมาของถนน และรถไฟฟ้า แม้จะทำให้ย่านเติบโต สร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนในย่านเกิดรอยต่อ และเห็นคุณค่าของชุมชนดั้งเดิมบางอย่างค่อย ๆ หายไป
แต่จะดีกว่าไหม หากสามารถนำพลัง “ความคิดสร้างสรรค์” มาผ่านกระบวนการออกแบบจนกลายเป็น Win-Win Solution เพื่อพัฒนาย่านให้เติบโตตามยุคสมัย และอนุรักษ์เสน่ห์วิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน หลายคนคงสงสัยว่า ความคิดสร้างสรรค์สามารถพัฒนาย่าน และผู้คนในชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เรามาทำความรู้จักพลังการออกแบบนี้ให้มากขึ้น กับ คุณโฉมชฎา กุลดิลก หัวหน้าสายงานกลยุทธ์แบรนด์และสื่อสารองค์กร SC Asset ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ที่เห็นความสำคัญของพลังการออกแบบ จนกระโดดเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) และ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และนักขับเคลื่อนพัฒนาเมือง
ไม่ใช่แค่งานดีไซน์ แต่เป็นโซลูชั่นพัฒนาชุมชนและคนในย่านให้เติบโตอย่างกลมกลืน
หากพูดถึงการออกแบบที่สร้างสรรค์ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแค่ “ดีไซน์” หรือ “งานออกแบบกราฟิก” สำหรับสินค้าและบริการ แต่ SC Asset มองนิยามการออกแบบ “ใหญ่” กว่านั้น เพราะสามารถนำมาออกแบบเป็นโซลูชั่นเพื่อพัฒนาเมืองและเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในย่านชุมชนเติบโตไปด้วยกันอย่างกลมกลืน จนเป็นที่มาของการสนับสนุน Bangkok Design Week ตั้งแต่ปี 2019 หรือประมาณ 3 ปีที่แล้ว
“เพราะเมืองมีการเติบโตขึ้นทุกวัน รวมทั้งมีผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่อาศัยในย่าน หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน จึงต้องมีข้อตกลงร่วมกัน เพราะถ้าไม่ออกแบบและปล่อยให้ต่างคนต่างพัฒนาอย่างอิสระ เมืองจะเติบโตแบบไร้ระเบียบ ทั้งยังทำให้คนในสายอาชีพนี้ ได้เพิ่มศักยภาพและนำดีไซน์มาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมเพิ่มขึ้นด้วย”
คุณโฉมชฏา บอกถึงพลังการออกแบบที่สร้างสรรค์ และความสำคัญของ Bangkok Design Week ส่งผลให้ตลอด 3 ปีที่เข้ามา สนับสนุนการจัดงาน ได้รับการตอบรับดีมาก สะท้อนจากผู้เยี่ยมชมบูธจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงช่วยให้สามารถขยาย Brand Exposure เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
ต่อยอดความสำเร็จสู่การปั้นวงเวียนใหญ่-ตลาดพลู รื้อฟื้นสินทรัพย์ของพื้นที่ให้ร่วมสมัย
จากความสำเร็จตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ปีนี้ SC Asset จึงเข้ามาสนับสนุนงาน Bangkok Design Week 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยธีมงานในปีนี้เน้นนำความคิดสร้างสรรค์มาออกแบบ เพื่อให้ทุกคนในย่านอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับพื้นที่เดิมให้มากที่สุด หรือ “urban’NICE’zation เมือง-มิตร-ดี” อีกทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์กรมาหชน) หรือ CEA ยังขยายพื้นที่จัดงานใน 5 ย่านใหม่ ประกอบด้วย เยาวราช, วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู/คลองสาน, บางโพ, พร้อมพงษ์, และเกษตร ซึ่งในงานครั้งนี้ SC Asset เองก็ขยับพื้นที่สร้างสรรค์มาสู่ย่าน “วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู / คลองสาน” เป็นครั้งแรกด้วย
คุณโฉมชฏา บอกว่า สาเหตุที่ทำให้ปีนี้ SC Asset สนใจย่านวงเวียนใหญ่-ตลาดพลู เริ่มจากการพัฒนาโครงการคอนโดมีเนียมในชื่อ เรฟเฟอเรนซ์ สาทร-วงเวียนใหญ่ (Reference Sathorn-WongWianYai) ซึ่งเป็นโครงการแรกในย่านฝั่งธน ความเป็นหน้าใหม่ในย่านนี้ จึงทำให้ SC Asset อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่อย่างเข้าใจชุมชนที่อยู่อาศัยเดิม ประกอบกับวิสัยทัศน์ของ SC Asset ให้ความสำคัญกับการสร้างนิเวศการอยู่อาศัยที่ดี เพื่อให้ทุกคนในพื้นที่อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งสอดคล้องกับธีมงานในปีนี้คือ “urban’NICE’zation เมือง-มิตร-ดี” จึงได้คุยกับทาง CEA
จากนั้น CEA จึงแนะนำให้รู้จักกับ “ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ” นักขับเคลื่อนและพัฒนาย่านตลาดพลู ซึ่งหลังจากอาจารย์ได้ฟังความคิดและความเชื่อของ SC Asset จึงลงมือเก็บข้อมูลและศึกษาพัฒนาการของย่านวงเวียนใหญ่ ทำให้พบว่าย่านนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก หากย้อนไปในอดีตเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เจริญรัถเป็นย่านเก่าแก่ที่มีการอยู่อาศัยมานาน และยังเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจเครื่องหนัง และงาน Craft DIY ทั้งในรูปแบบรับจ้างผลิต และจำหน่ายอะไหล่ อุปกรณ์ของฝั่งธน แต่ 10 ปีให้หลังมานี้ บทบาทเหล่านี้เริ่มหายไปจากการเปลี่ยนแปลงของย่าน รวมถึงการส่งต่อกิจการจากคนรุ่นพ่อแม่ให้ลูกหลาน ซึ่งหลายกิจการ ลูกหลานอาจไม่ได้สืบทอดกิจการต่อ ทำให้รู้สึกเสียดาย เพราะเป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า
ส่วน “ตลาดพลู” เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่มีทั้งวัฒนธรรมอาหารการกิน ศิลปะการแสดง และสถาปัตกรรมวัดวาอาราม แต่เมื่อโครงสร้างเมืองเปลี่ยนไป ทำให้คุณค่าของชุมชนดั้งเดิมค่อยๆ หายไป โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมต่างๆ จนกลายเป็นที่มาของไอเดียในการรักษา “สินทรัพย์เดิม” ที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยใช้งานดีไซน์เป็นตัวนำ แล้วมาออกแบบกิจกรรมเชื่อมโยงกับคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการชำเลืองมองกันและกัน พร้อมทั้งเกิดการส่งต่อวัฒนธรรมจากคนรุ่นเก่าไปสู่คนรุ่นใหม่
ปลุกย่านเก่า ให้กลับมามีชีวิตชีวา ผ่าน 3 กิจกรรม
โดยคอนเซ็ปท์ของกิจกรรมในย่านวงเวียนใหญ่-ตลาดพลู / คลองสานจะเน้นเปิดพื้นที่เพื่อให้ทุกคนได้มารู้จักวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่ซ่อนอยู่ในย่านนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย 39 กิจกรรม ผ่าน 3 กลุ่มกิจกรรม สำหรับกิจกรรมแรกจะเน้นสร้างความเข้าใจผ่านนิทรรศการ “ถลกหนัง The Maker อยู่อย่างย่านเจริญรัถ” ซึ่งจะรวบรวมผลงานเครื่องหนังและงานฝีมือของผู้ประกอบการในย่านเจริญรัถมาจัดแสดงในพื้นที่ห้องตัวอย่างของคอนโดมิเนียม Reference Sathorn-WongWianYai เพื่อสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกับความทรงจำ รวมถึงการนำภาพเก่าจากคนในย่านตลาดพลูมาจัดแสดงในร้านกาแฟ พร้อมการเล่าเรื่องจากเจ้าของภาพ เพื่อให้คนที่มาเที่ยวย่านเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในอดีต ขณะเดียวกัน ยังเนรมิตศาลเจ้าในมิติใหม่ โดยใช้อินโฟกราฟิกผสมไฟ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในแบบที่เข้ากับคนรุ่นใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาศาลเจ้าและรู้จักย่านมากขึ้น
ส่วนกลุ่มกิจกรรมที่สอง จะเน้นการสร้างตลาดใหม่ให้กับคนในย่าน ผ่านการ Collaboration กับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ และนักออกแบบ ซึ่งจะนำมาจัดแสดงใน พื้นที่ห้องตัวอย่างของ คอนโดมิเนียม Reference Sathorn-WongWianYai
รวมถึงกิจกรรม Workshop เครื่องหนังและงาน DIY แบบง่ายๆ จากผู้ประกอบการในย่าน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่ ตลอดจนกิจกรรมอภินิหารตลาดพลูคืนชีพ ที่จะพาทุกคนไปรู้จักความเป็นมาของตลาดที่เคยเป็นลมหายใจของผู้คนในย่านนี้ ผ่านนิทรรศการในรูปแบบ Art Installation และอนาคตของตลาดที่กำลังจะเปลี่ยนไป โดยนอกจากนิทรรศการประวัติตลาดแล้ว ยังมีการทำแบบสอบถามเพื่อสะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดไปให้กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในการปรับปรุงตลาดในอนาคตต่อไป
สำหรับกิจกรรมที่สาม จะเน้นสร้างความเป็นมิตรกับผู้คนในย่าน ผ่านกิจกรรมฉายหนังสารคดี และตลาดนัดสร้างสรรค์ พร้อมดนตรีสด เพื่อชวนให้คนในย่านออกมาท่องเที่ยว และใช้ชีวิตกันอย่างสนุกสนาน
“คำว่ามิตรที่ดีในมุมมอง SC Asset หมายถึงการมีเพื่อนที่ดี ซึ่งเพื่อนที่ดีจะช่วยเหลือกัน ถ้ามองในแง่ธุรกิจง่ายที่สุดคือ ทุกพื้นที่ที่เราเข้าไปสร้างโครงการ สร้างผลกระทบให้กับใครในระบบนิเวศหรือไม่ ถ้าเราเป็นมิตรที่ดี เราต้อง Concern และพยายามหาโซลูชั่นที่ไม่ทำร้ายกัน”
คุณโฉมชฏา บอกถึงนิยามมิตรที่ดี ซึ่งการเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของ Bangkok Design Week 2023 ในครั้งนี้ จะช่วยให้ SC Asset ได้เรียนรู้และเข้าใจคนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อน และนำข้อมูลมาออกแบบโซลูชั่นที่อยู่อาศัยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างไม่แปลกแยก แต่ในขณะเดียวกัน SC Asset ก็คาดหวังว่า คนในย่านนี้รู้จักแบรนด์มากขึ้นด้วย และในระยะยาว จะช่วยส่งเสริมเรื่องการออกแบบที่สร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ และประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
การเข้ามาสนับสนุนงาน Bangkok Design Week 2023 ของ SC Asset ในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่สะท้อนให้เราเห็นถึงพลังดีไซน์ในการออกแบบและพัฒนาย่านเท่านั้น แต่ยังเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้ได้เห็นกระบวนการคิดและต่อยอดนำเอาสินทรัพย์ของพื้นที่ที่ผู้คนหลงลืมมาทำให้เกิดความร่วมสมัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ซึมซับและเข้าใจวิถีชีวิตดั้งเดิมเหล่านี้ และอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากดึ่มด่ำกับงาน DIY และวัฒนธรรมเครื่องหนัง สามารถเข้าชมไอเดียเด็ดๆ และร่วมกิจกรรมที่ว่านี้ได้ที่ย่านวงเวียนใหญ่-ตลาดพลู / คลองสาน ในงาน Bangkok Design Week 2023 ตั้งแต่วันที่ 4-12 กุมภาพันธ์นี้ และผู้ที่จะแวะเวียนไปในงาน เตรียมกล้องให้พร้อม เพราะมีสถานที่ที่ซ่อนตัว รวมถึงผลิตภัณฑ์เจ๋งๆ รอให้ทุกคนมาแชะ และแชร์ประสบการณ์ในโลกโซเชียลมากมาย