หลังเข้ามารับตำแหน่ง ซีอีโอ SCB ครบ 6 เดือน คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประกาศวิสัยทัศน์ 3 ปี (2566-2568) พาธุรกิจหลักของยานแม่ SCBX ก้าวสู่ “ดิจิทัลแบงก์” เต็มรูปแบบ ตั้งเป้าเบอร์ 1 บริหารความมั่งคั่ง เปิดตลาด Emerging Wealth เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และให้บริการไร้รอยต่อในทุกช่องทาง (Omni-Channel)
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) อายุ 116 ปี ธนาคารเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ยังคงจุดแข็งการเป็น Universal Bank ให้บริการครบวงจร ด้วย Touchpoints 766 สาขา จุดบริการ ATM กว่า 10,000 ตู้ พนักงานดูแลลูกค้ากว่า 10,000 คน ดิจิทัลแพลตฟอร์ม แอพ SCB EASY และ Connect มีฐานลูกค้า 17 ล้านราย
ภายใต้แม่ทัพคนใหม่ คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ มองก้าวต่อไปของ SCB มุ่งสู่การเป็น “ธนาคารที่ดีขึ้น” อย่างต่อเนื่อง ด้วยบทบาทต้องเป็นมากกว่าธนาคาร และทำให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายในทุกช่องทาง ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ในการเป็น “Digital Bank with Human Touch” พัฒนาองค์กรให้เป็นธนาคารที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน
หากมองโอกาสการเติบโตของ SCB มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ
1. การเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ
มุมมองด้านเศรษฐกิจและสังคมในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเล็กน้อยหรือเติบโตราว 2% ส่วนเอเชียเติบโต 4-5% ขณะที่ประเทศไทยจีดีพีเติบโต 3% โดยทิศทางการลงทุนเศรษฐกิจโลกหลังจาก “จีน” เปิดประเทศ ภูมิภาคเอเชียและไทยจะได้อานิสงส์นี้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง
การเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมชนชั้นกลางในอาเซียน จะเพิ่มเป็น 65% ใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ในเอเชียจะเติบโต 58% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการ หรือ AUM (Asset Under Management) 2569 จะเติบโตอีก 2 เท่าจากปัจจุบัน กลุ่มที่จะผลักดันการเติบโตนี้ คือ Mass Affluent และ Affluent หรือคนชั้นกลางอายุน้อยที่มีความมั่งคั่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นกลุ่มที่จะเติบโตสูงถึง 70-80% ถนัดการใช้ดิจิทัล
ปัจจุบันโอกาสการได้รับบริการด้านบริหารความมั่งคั่งของกลุ่มนี้ไม่ง่าย เพราะยังมีเงินและสินทรัพย์ไม่มากพอที่ธนาคารจะส่งที่ปรึกษาการลงทุน (RM) มาดูแล ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ SCB จะเข้าไปให้บริการ
2. พฤติกรรมผู้บริโภคใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้น
สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าอย่างสิ้นเชิง ใช้เงินสดลดลง ใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น และการใช้บริการทางการเงินเปลี่ยนไป คนไทยตอบรับเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็วและใช้ดิจิทัลเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย โดย 94% ของคนไทย เข้าถึงบริการทางการเงิน และต้องการบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันคนไทย 70% ใช้ดิจิทัลเข้าถึงการออมและชำระเงินเป็นหลัก ทำให้มีโอกาสเติบโตได้ในหลายบริการ ทั้งสินเชื่อ การลงทุน การบริหารการเงิน เพราะคนไทย 60% ออมเงินผ่านบัญชีเงินฝาก และ 30% ไม่เคยลงทุนในตลาดการเงิน จากพฤติกรรมนี้ SCB เชื่อว่า มีโอกาสที่จะตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าด้วยบริการใหม่ๆ มากขึ้น
3. เทรนด์ธุรกิจการเงิน
การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มตลาดการเงินในโลกดิจิทัล ทำให้ธนาคารและบริษัทเทคโนโลยี แข่งกันพัฒนาบริการด้านการเงินดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศพิจารณาออกใบอนุญาต Virtual Bank
แต่จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันทั่วโลกมี Digital Banking ประมาณ 250 แห่ง มีทรัพย์สินเพียง 0.04% เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของธนาคารทั้งโลก แต่ก็เป็นสิ่งที่ SCB ต้องติดตามให้ทัน เพราะเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โดยพฤติกรรมลูกค้าในยุคนี้ต้องการใช้บริการธนาคารหลากหลาย ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นทุกองค์กรต้องมองการให้บริการแบบ End-to-End ครบวงจรทุกโปรดักท์
ตามดูวิสัยทัศน์ 3 ปี SCB
จากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และเทรนด์ธุรกิจการเงินในโลกดิจิทัล SCB จึงกำหนดยุทธศาสตร์ปักหมุด “ดาวเหนือ” นำทางธุรกิจ ภายใต้แผน 3 ปี (2566-2568) ด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่
1. SCB ก้าวสู่ “ดิจิทัลแบงก์” เต็มตัว
โดยเป็น “ดิจิทัลแบงก์” ที่มีสาขา คงความเป็น Universal Bank ที่ใช้ดิจิทัลยกระดับบริการ โดย SCB จะไม่ขอใบอนุญาต Virtual Bank กับ ธปท. (แต่ไม่เกี่ยวกับ SCBX ว่าจะขอใบอนุญาต Virtual Bank หรือไม่) เพราะ SCB สามารถปรับตัวเป็น ดิจิทัลแบงก์ ได้ จึงไม่จำเป็นต้องเปิดอีกแบรนด์เพื่อเป็นดิจิทัลแบงก์
กลุ่มลูกค้าหลักของ SCB เป็นระดับกลางถึงบน จึงต้องให้บริการแบบมีสาขาและดิจิทัลไปคู่กัน
“เชื่อว่าผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงิน ยังต้องอาศัยความเชื่อใจของลูกค้า ผ่านความสัมพันธ์ระยะยาว หากเทียบกับธนาคารดิจิทัล ที่มาจากอุตสาหกรรมอื่น ที่ไม่มีประสบการณ์ดูแลลูกค้ามาก่อน หากลูกค้าต้องการลงทุนและบริหารความมั่งคั่ง ด้วยเงินหลักล้าน ก็ต้องเลือกธนาคารที่ไว้ใจและอยู่ในธุรกิจธนาคารมายาวนาน”
จากสถิติการใช้ดิจิทัลแบงก์ของลูกค้า ผ่านแอพธนาคาร 52% ผ่านแอพของบริษัทเทคโนโลยีอยู่ที่ 22% นั่นหมายถึงความไว้วางใจของลูกค้าที่มีต่อธนาคาร
ในการก้าวสู่ดิจิทัลแบงก์ สิ่งที่ SCB ให้ความสำคัญ คือบริหารต้นทุนให้ต่ำ จากการใช้เทคโนโลยีมาสร้างประสิทธิภาพการทำงาน ตอบโจทย์ลูกค้า ปี 2565 ต้นทุนอยู่ที่ 42% ตามเป้าหมาย 3 ปีอยู่ที่ 35-40%
2. ธนาคารเบอร์ 1 บริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)
ปัจจุบัน SCB มีกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งเดิม ทั้ง HNW (High Net Worth) และ UHNW (Ultra High Net Worth) อยู่แล้ว แต่จากแนวโน้มการเติบโตกลุ่มชนชั้นกลางที่มีความมั่งคั่ง (Emerging Wealth) มากขึ้น จึงมีโอกาสสร้างการเติบโตในธุรกิจนี้ได้
โดยคาดว่า AUM ของชนชั้นกลางในเอเชียในปี 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นจาก 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 4.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจธนาคารจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากกลุ่มนี้ 20,000-25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่าครึ่งของรายได้รวม
แนวโน้มคนชั้นกลางอายุน้อยที่มีความมั่งคั่งในประเทศไทยเติบโตเช่นกัน เห็นได้จากความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกของคนรุ่นใหม่มีมากขึ้น เป็นกลุ่มที่ไม่ได้มองเรื่องเงินฝากอย่างเดียว SCB จึงต้องเข้ามาตอบโจทย์การใช้บริการคนกลุ่มนี้ เริ่มด้วยดิจิทัลแบงก์ เพื่อเป็นตัวเลือกในการลงทุนด้านความมั่งคั่งต่อไปในอนาคต
ปัจจุบันไม่มีธนาคารใดเป็นเจ้าตลาดการบริหารความมั่งคั่งที่ชัดเจน ดังนั้นจากจุดแข็งด้านความพร้อมของบุคลากร ผลิตภัณฑ์และพันธมิตร ทั้ง บลจ.ไทยพาณิชย์, SCB Julius Baer และ FWD
SCB จึงตั้งเป้าหมายเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด Wealth Management ภายใน 3 ปี ปัจจุบันมีลูกค้า Wealth 4 แสนราย สินทรัพย์ AUM 1.6 ล้านล้านบาท ภายในสิ้นปี 2568 ลูกค้าจะเพิ่มเป็น 6 แสนราย สินทรัพย์ AUM 2 ล้านล้านบาท
3. บริการไร้รอยต่อในทุกช่องทาง (Omni-Channel)
แม้ SCB จะก้าวไปเป็น ดิจิทัลแบงก์ แต่ก็ต้องมีบุคลากรและมีสาขารองรับด้วย โดยจะให้บริการทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ในทุก Touchpoints ช่วง 3 ปีนี้เตรียมงบประมาณลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 7,000-10,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน SCB มี ธนาคาร 766 สาขา แม้จะไม่เพิ่มขึ้น แต่ยืนยันว่าจะมีสาขาธนาคารอยู่ต่อไปแน่นอน
ไม่มีวันที่ไทยพาณิชย์จะไม่มีสาขา เพราะสินค้าและบริการด้านความมั่งคั่ง ที่ใช้ใจซื้อต้องใช้คนเสนอขาย นี่คือจุดแข็งของเราในการเป็น Digital Bank with Human Touch
วิสัยทัศน์ทั้ง 3 เรื่องนี้จะเป็น “ดาวเหนือ” นำทางธุรกิจ SCB ไปถึงเป้าหมายให้ได้ใน 3 ปี และเมื่อทำสำเร็จ มั่นใจว่าธนาคารจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครบวงจร เป็นธนาคารที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเข้มแข็งให้ SCB อยู่กับสังคมไทยไปอีกนับ 100 ปีข้างหน้า
อ่านเพิ่มเติม