อีกหนึ่งความพยายามของการสร้างเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง หรือ Cultured Meat กำลังเกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น เมื่อนักวิจัย “Shoji Takeuchi” และทีมงานจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้นำชิ้นเนื้อสีแดงที่เขาบอกว่า เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของวัวออกมาให้ได้ชมกัน
เนื้อดังกล่าวมีขนาดราว 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งคุณ Shoji Takeuchi บอกว่า เขาได้ลองชิมแล้วเมื่อเดือนมีนาคมปี 2022 และพบว่า แม้มันจะมีรสอูมามิ แต่มันยังไม่สามารถให้สัมผัสของเนื้อวัวได้อย่างที่คาดหวัง ซึ่งทำให้เขาและทีมงานตั้งเป้าว่า จะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดังกล่าวให้กลายเป็นเนื้อสเต็กขนาด 100 กรัมให้ได้ภายในปี 2025
หนูจะโตไปเป็น “เนื้อสเต็กเพาะเลี้ยง”
ผลงานของคุณ Shoji Takeuchi ยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบริษัทด้านอาหารของญี่ปุ่นอย่างนิชชินฟู้ด โฮลดิ้ง (Nissin Foods Holdings) เพื่อให้มันกลายเป็นเนื้อสเต็กได้อย่างสมจริง ไม่ใช่เป็นแค่เนื้อสัตว์จากห้องแล็บทั่ว ๆ ไป
ด้วยเหตุนี้ เนื้อดังกล่าวต้องได้รับการออกแบบและวางโครงสร้างเนื้อเยื่อร่วมด้วย โดยคุณ Shoji Takeuchi บอกว่า ขณะที่สตาร์ทอัพทั่วไป เมื่อสามารถสร้างเนื้อจากห้องแล็บได้แล้ว จะพยายามเร่งทำตลาดเพื่อหารายได้ แต่ผลงานของเขานั้นคิดกลับกัน โดยเขามองว่า เขาจะสร้างให้มันกลายเป็นเนื้อสเต็กที่สมบูรณ์เสียก่อน จึงจะเริ่มทำตลาดนั่นเอง
“สเต็กเนื้อวัวจะมีเส้นใยกล้ามเนื้อจัดเรียงตัวขนานกันอย่างเป็นระเบียบ และหากถูกกระตุ้นด้วยไฟฟ้าก็ต้องสามารถกระตุกได้ ซึ่งเราพยายามสร้างเนื้อแบบนี้ เพราะมีคนไม่กี่คนในโลกที่คิดจะทำ”
ญี่ปุ่นยังปฏิเสธ “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง”
อย่างไรก็ดี การยอมรับเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงในญี่ปุ่นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากนัก เพราะมีการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเมื่อปี 2021 โดยคุณ Takeuchi, Nissin Food Group และคุณ Aiko Hibino อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Hirosaki พบว่า 34% ของผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ 4,000 คน ไม่สนใจเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง โดยมีเพียง 32% เท่านั้นที่บอกว่าสนใจจะทดลองชิมเนื้อดังกล่าว
ด้านอาจารย์ Hibino ก็พบด้วยว่า ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถาม กลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงค่อนข้างสูง เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และตระหนักดีว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์มีผลต่อปัญหามลภาวะของโลกอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
หันมาดูที่ภาครัฐ ก็พบว่าปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีกรอบ หรือข้อกฎหมายสำหรับกำกับดูแลเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรที่รับผิดชอบด้านอุตสาหกรรมอาหารระบุว่า เนื้อเพาะเลี้ยงเป็นอาหารชนิดใหม่ และอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า ต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยประเภทใดบ้าง เพื่อให้มันปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
ขณะที่การยอมรับ Cultured Meat หรือเนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยสิงคโปร์ได้รับการบันทึกว่าเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้มีการขายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงได้ในเชิงพาณิชย์ ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา เมื่อองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drung Administration หรือ FDA) มีการให้เครื่องหมายปลอดภัยกับเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้วเช่นกัน