“ประเทศเวียดนามเป็นทั้ง Blue Ocean และ Red Ocean สำหรับเรา Blue Ocean ก็คือเข้ามายังตลาดใหม่ที่ยังไม่เคยมีคนเข้า แล้วเราก็ทำอะไรหลายอย่างที่ยังไม่มีคนทำ อย่างเช่น Mini go! แต่ Red Ocean ก็คือ Local เขาแข็งแรงมาก ดังนั้นวิธีการของเราถึงได้เลือกที่จะโตแบบ Inclusion เติบโตไปพร้อมกับพาร์ทเนอร์ แล้วเราก็ต้อง Very Focus ซึ่งเราเลือกที่จะให้ความสำคัญกับสินค้ากลุ่ม Food ผ่านแบรนด์ Tops” นี่คือคำกล่าวของ คุณญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล ก่อนที่จะอธิบายให้ภาพการดำเนินงานธุรกิจของ “เซ็นทรัล” ในเวียดนาม
10 ปี ของ “เซ็นทรัล” ในเวียดนาม
หัวเรือใหญ่ของ เซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC เริ่มต้นด้วยการไล่เรียงไทม์ไลน์ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เซ็นทรัล บุกดินแดนที่มีประชากร 97 ล้านคนแห่งนี้
– เข้าสู่ตลาดเวียดนามด้วยสินค้าแฟชั่น ในปี 2012 ซึ่งทางเซ็นทรัล ยอมรับว่า Too Early เนื่องจากพฤติกรรม – ความชื่นชอบของผู้บริโภคยังไม่ตรงกัน
– ปี 2015 เริ่มเป็นพาร์ทเนอร์กับ เหงียนคิม (Nguyen Kim) แบรนด์ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และ ลานชี (Lan Chi) ร้านค้าปลีกท้องถิ่น
– ปี 2016 ซื้อกิจการ Big C เวียดนาม
– ปี 2018 เปิดตัว โมเดิร์นเทรด แบรนด์ “GO!”
– ปี 2019 รีแบรนด์ Big C เป็นแบรนด์ “GO!”
– ปี 2021 เปิดศูนย์การค้า GO! สาขาใหม่เพิ่ม 3 แห่ง นำแบรนด์ Tops Market จากไทยมาทำตลาดที่เวียดนาม เน้นกลุ่มสินค้า “อาหาร” และเปิดตัว Application
– ปี 2022 เดินหน้าขยายสาขาศูนย์การค้า GO!, Tops Market และแนะนำโมเดล Mini go! (ที่เรียกว่า Mini go! แต่จริงๆ แล้วใช้วิธีการเขียน go ! ด้วยตัวเล็ก)
อาณาจักร “เซ็นทรัล” ในเวียดนาม ใหญ่แค่ไหน มีอะไรบ้าง
ปัจจุบัน “เซ็นทรัล รีเทล” มีธุรกิจอยู่ใน 40 จังหวัดของเวียดนาม มีสาขาทั้งสิ้น 340 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 1.2 ล้านตารางเมตร ถือว่าเป็นผู้ประกอบการรีเทลจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด รวมทั้งครองบัลลังก์เบอร์ 1 ในกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต แบ่งเป็นธุรกิจต่างๆ ดังนี้
– GO! ศูนย์การค้า 2 ชั้น ขนาดประมาณ 4,500 ตารางเมตร โมเดลชั้นล่างเป็นร้านค้าเช่า มีทั้งร้านอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ ส่วนชั้นบนเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตขายทั้งอาหารสด และ FMCG
– Mini go! โมเดิร์นเทรดที่ไซส์เล็ก พื้นที่ประมาณ 1,700 ตารางเมตร เพื่อตอบโจทย์เมืองรอง แต่ยังคงคอนเซ็ปท์การจัดเรียงสินค้าให้เข้าถึงง่าย ทันสมัย รองรับประชากรที่ใช้เวลาเดินราว 20 นาที โดยรอบ
– Tops Market โฟกัสที่อาหารสด รวมทั้งสินค้าระดับพรีเมี่ยม จับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง
ในส่วนของ Big C ทางเซ็นทรีล รีเทล มีแผนรีแบรนด์เปลี่ยนแปลงให้เป็น Go! ทั้งหมดภายในปีนี้ สอดคล้องกับช่วงเวลาสัญญาที่จะหมดลิขสิทธิ์พอดี นอกเหนือจากแบรนด์ค้าปลีกหลักที่กล่าวมาแล้ว ยังมี Lanchi Mart ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ทาง CRC ใช้จับกลุ่มลูกค้าทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งมีพฤติกรรมและความต้องการที่แตกต่างจากลูกค้าที่อยู่ทางตอนกลาง-ใต้ กับ Nguyen Kim ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เมื่อเข้าไปใน Go! Mall ก็มีร้านนี้ให้เห็น คล้ายๆ Power Buy ในเซ็นทรัลที่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมี Playground แบรนด์ Kubo ที่อยู่ข้างทางเข้าไฮเปอร์มาร์เก็ตของ Go! Mall สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมเวียดนาม ที่อาศัยพื้นที่ในมอลล์ให้ “ครอบครัว” ใช้เวลาร่วมกัน อีกทั้งยังมีแบรนด์ Bip Bip ธุรกิจขนส่ง ตอบสนองกระแสการช็อปปิ้งออนไลน์ และยังมี look kool ที่วางจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ ของมีดีไซน์ จับกลุ่มคนรุ่นใหม่
วัดศักยภาพ “เวียดนาม”
ในปี 2023 นี้ “เซ็นทรัล รีเทล” ประกาศแผน 5 ปี ด้วยงบการลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อเป้าหมายยอดขาย 150,000 ล้านบาท เป็นค้าปลีกต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม และขึ้นแท่นเบอร์ 1 Food Omnichannel และเป็นเบอร์ 2 ในกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ โดยมีสาขาทั้งหมด 600 แห่ง ภายในปี 2027
เหตุผลที่ทางกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล มองเห็นศักยภาพของประเทศเวียดนามมาจาก จำนวนประชากรที่กำลังจะทะลุ 100 ล้านคนภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ รวมทั้งประชากรยังอยู่ในวัยหนุ่ม-สาว ขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุค Aging Society มาระยะหนึ่งแล้ว ในส่วนของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2022 ที่ผ่านมา GDP ของประเทศไทยเติบโต 3.2% เวียดนามกลับเติบโต 7% และคาดการณ์ปี 2023 นี้ ก็ยังเติบโตอีก 6.2% แล้วปี 2024 เติบโตอีก 7.2%
ขณะเดียวกันเทรนด์การเติบโตของ “เมือง” (Urban) ก็มีแนวโน้มที่ขยายตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ในปี 2019 มีประชากร 34% ถือว่าอยู่ในเขตเมือง แต่คาดการณ์ว่า 2024 จะมีประชากร 41% อาศัยในเขตเมือง กระทั่งปี 2029 กว่าครึ่งของคนเวียดนามจะอยู่ในเขตเมือง นั่นทำให้ไลฟ์สไตล์ พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป และ Central Retail พร้อมที่จะนำเสนอสินค้า – บริการที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค
ลุยต่างประเทศ ต้องโตแบบ Inclusion
ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสมากมายที่เวียดนาม อย่างไรก็ตามความท้าทายของการทำธุรกิจในเวียดนามเป็นเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ที่ คุณญนน์ เล่าว่า การติดต่อซื้อที่ดิน ประสานงานเพื่อก่อสร้าง ไปจนถึงขั้นตอนก่อสร้างมีความล่าช้ากว่าประเทศไทย บางสาขาใช้เวลาก่อสร้างกว่า 2 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
ด้านกลยุทธ์หลักของ “เซ็นทรัล รีเทล” ใช้วิธีการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เหงียนคิม (Nguyen Kim) ที่เดือนธันวาคม ปี 2022 เพิ่งเปิดตัวแฟลกชิพสโตร์ และ ลานชี มาร์ท (Lan Chi) ซึ่งมีความเข้าใจผู้บริโภคมากกว่าที่ CRC จะดำเนินธุรกิจด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังใส่ใจกับความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งพนักงานและคู่ค้า
อีกด้านหนึ่งคือการโฟกัสในสินค้าที่ตัวเองถนัด นั่นก็คือ “อาหาร” ภายใต้แบรนด์ Tops ทาง CRC มีแผนส่งสินค้ามากกว่า 300 SKUs มาจากประเทศไทย รวมทั้งส่งสินค้าบางอย่าง เช่น กุ้ง ไปที่ประเทศไทย แถมการสั่งสินค้าอิมพอร์ตจากต่างประเทศโดยรวมตลาดไทยและเวียดนามเข้าด้วยกันก็ทำให้ได้ Economy of Scale ราคาคุ้มค่า
ปิดท้ายด้วยการหยิบเอา Know How เรื่อง CRM จากประเทศไทยมาทำ Loyalty Programm ที่เวียดนาม เพื่อสร้างความผูกพันกับลูกค้า ให้กลับมาช็อปปิ้งซ้ำๆ แล้วยังยกระดับพลังของ The 1 ให้ใช้ในต่างประเทศได้ หลังจากที่ใช้ในห้างที่ยุโรปของเครือเซ็นทรัลกรุ๊ปไปก่อนหน้านี้แล้ว
“ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการท้องถิ่นจะมีความแข็งแรงอย่างมาก เขามีพื้นที่มากกว่าเรา ถ้าในแง่ของพื้นที่เรายังเป็นเบอร์ 2 แต่เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่ากับมาร์เก็ตแชร์ เราโฟกัสที่ส่วนแบ่งตลาด ยอดขาย และการนำสิ่งใหม่ๆ มาสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคมากกว่า” คุณโอลิวิเยร์ แลงเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม กล่าวถึงภาพการแข่งขัน
นอกเหนือจากเจ้าถิ่นอย่าง Saigon Co.Op แล้ว Central Ratail ยังถูกประกอบด้วยผู้เล่นรายอื่นๆ จาก ญี่ปุ่นและเกาหลี โดยรวมแล้ว Top 5 รีเทลในเวียดนามประกอบไปด้วย อันดับ 1 Saigon Co.Op เบอร์ 2 Central Retail และตามด้วย AEON กับ Vin Group และ Lotte ซึ่งแต่ละรายก็งัดเอาความถนัด และโมเดลธุรกิจค้าปลีกของตัวเองมาใช้ในเวียดนามอย่างเป็นที่
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของค้าปลีกใน “เวียดนาม” ดินแดนที่เป็นทั้ง “โอกาส” และ “ความท้าทาย” ของ “เซ็นทรัล รีเทล” ทำให้น่านน้ำใจกลางฮาลองเบย์ คือ Blue Ocean และ Red Ocean ในเวลาเดียวกัน