Digital Economy อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับคนไทยทุกคน ในการแถลงข่าว AIS BEYOND THE BOUNDARIES จึงมีการประกาศอีกหนึ่งคำใหม่ นั่นคือ Ecosystem Economy ที่คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS เผยว่าอาจเป็นคำตอบที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตเหนือกว่าตัวเลขคาดการณ์ GDP ที่ 3.6% ก็เป็นได้ พร้อมเสนอทฤษฎี “พายสามชิ้น” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้าง Ecosystem Economy ให้แข็งแรงด้วย
“เอไอเอสจะทำธุรกิจที่เราเก่งและแข็งแรง ไม่ไปกินรวบอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างแน่นอน แต่เราจะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทุก ๆ คนเพื่อนำเสนอ สินค้าและบริการของเขาให้กับลูกค้าของเรา” – สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS
ประโยคข้างต้นมาจากสิ่งที่ผู้บริหารเอไอเอสมองเห็นในช่วงเวลาที่ผ่านมา นั่นคือ การทรานสฟอร์มตัวเองของเอไอเอสจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมไปสู่การเป็น Cognitive Tech-Co นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และสิ่งที่จะทำต่อในปีนี้ ก็คือการดูแลลูกค้าทั้ง 46 ล้านเลขหมายให้ได้รับประโยชน์จากดิจิทัลให้มากขึ้นใน 4 แกน ได้แก่
- Mobile
- Fixed Broadband
- Enterprise Business
- Digital Service
นอกจากนั้น ผู้บริหารเอไอเอสยังได้กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2024 บริษัทกำลังสร้างทีม Data Analytics เพื่อให้สามารถเข้าถึง Insight ต่าง ๆ และนำมาใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น รวมถึงมีการเปลี่ยนระบบไอทีหลังบ้านให้ฉลาดและเก่งมากขึ้น เพื่อให้การเชื่อมต่อหรือทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายคือการปรับระบบเน็ตเวิร์กไปสู่การเป็น Network Automation ที่ฉลาดพอจะปรับเปลี่ยน หรือแก้ไขได้ด้วยตัวเองเมื่อเกิดปัญหา (เช่น เกิด Traffic Jam ก็สามารถสลับไปใช้เส้นทางอื่นได้เอง) หรือสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นและป้องกันได้ก่อน
เปิดตัว “Ecosystem Economy” รับมือเศรษฐกิจผันผวน
สำหรับ Ecosystem Economy และทฤษฎีพายสามชิ้นที่มีการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงบนเวที มาจากภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่ผู้บริหารเอไอเอสมองเห็นว่า เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น การล่มสลายของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป หรือการที่เศรษฐกิจแต่ละประเทศมีอัตราการเติบโตไม่เท่ากัน ซึ่งในมุมของคุณสมชัยมองว่าประเทศไทยไม่ได้น้อยหน้าประเทศอื่น ๆ แต่อย่างใด
“ต้องชื่นชมว่า เมืองไทย ธุรกิจใหญ่ ๆ ในประเทศไทยยังแข็งแรงมาก และเชื่อว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้แน่นอน ที่สำคัญคือเรามีประชากรมากถึง 72 ล้านคน ซึ่งเป็นสเกลที่ใหญ่มากพอจะ Drive ธุรกิจต่าง ๆ ให้เติบโตได้ ต่างประเทศอยากมาลงทุนในไทยเยอะ อาจจะติดที่กฎระเบียบทางราชการบ้างเท่านั้นเอง”
“เรายังมีโอกาส ในฐานะที่เราอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยี มีการประมาณการไว้ว่า ภายในสิ้นปี 2027 เราจะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อ (IoT) มากถึง 800 ล้านเลขหมาย วันนี้ AIS – ทรู – ดีแทค มีอยู่รวมกัน 100 กว่าล้านเลขหมาย นั่นหมายถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ยังมีอีกถึง 8 เท่า”
“ปัญหาคือประเทศไทยมี SME ย่อย ๆ อยู่ถึง 3.2 ล้านราย เมืองไทยจะแข็งแรงได้ ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่ ๆ แข็งแรงเท่านั้น รากหญ้าต้องแข็งแรงด้วย ประเทศไทยจึงจะเติบโตอย่างยั่งยืน วันนี้ความมั่งคั่งทั้งหลายอยู่ที่บริษัทใหญ่ ๆ ทั้งนั้นเลย การจะทำให้ธุรกิจของเรายั่งยืนต่อไป เราต้องทำให้ระดับกลางและระดับล่างแข็งแรงด้วย”
นั่นจึงนำไปสู่ทฤษฎีพายสามชิ้น ที่คุณสมชัยมองว่าตอบโจทย์การเติบโตของสังคมไทยในยุคต่อไปนั่นเอง
อะไรคือทฤษฎีพายสามชิ้น
“ยุคดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชั่นเป็นโอกาสของบริษัทเล็ก ๆ ที่จะเติบโตอย่างที่ในอดีตไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเราเห็นได้มากมายทั้งในสหรัฐอเมริกา ในจีน แต่ทำไมสิ่งเหล่านั้นไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เหตุผลก็คือโครงสร้างการทำงาน การทำธุรกิจ หรือแม้แต่กฎระเบียบต่าง ๆ ในไทย มันเอื้อบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น แนวคิดอย่าง Digital Economy ที่ทุกคนต้องไป สำหรับผมแล้ว ฟันธงเลยว่าล้าสมัย ใช้การไม่ได้ ผมจึงอยากนำเสนอแนวทาง Ecosystem Economy เข้ามาแทน” คุณสมชัยกล่าว พร้อมอธิบายว่า Ecosystem Economy คือการทำเศรษฐกิจแบบร่วมกัน ประกอบด้วย 3 ส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ นั่นคือ
- Digital Infrastructure ที่แข็งแรง
- Cross Industries Collaboration
- Human Capital & Sustainability
“ผมขอเสนอทฤษฎีพายสามชิ้น หนึ่งคือ ทำเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เก่ง ให้อัจฉริยะ สองคือเรื่องของโอเปอเรชั่น ต้องเปิดใจกว้าง รับทุกคน อย่ากินรวบคนเดียว สามคือช่วยกันพัฒนาบุคลากรของไทย ถ้าเราช่วยกันในสามส่วนนี้ ประเทศไทยจะแข็งแรง GDP เราจะเติบโตกว่านี้แน่นอน เพราะมันมาจากฐานรากที่แข็งแกร่งนั่นเอง” – สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าว
เปิดรายละเอียด พายสามชิ้น
สำหรับพายชิ้นแรกนั้น ผู้บริหารเอไอเอสเผยว่านอกจากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความอัจฉริยะ (Digital Intelligence Infrastructure) แล้ว การมีคลื่นความถี่มากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง รวมกว่า 1460 MHz รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับ NT ก็จะทำให้เอไอเอสามารถให้บริการต่าง ๆ ได้มากขึ้น นอกจากนั้น เอไอเอสยังเปิดตัวบริการ 5G SA (Stand Alone) แล้วครบทั้ง 77 จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตพื้นที่เศรษฐกิจ EEC ที่ครอบคลุมกว่า 92% ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของโครงข่ายเน็ตบ้าน ปัจจุบัน AIS Fibre เข้าถึงแล้ว 8.8 ล้านครัวเรือน และครองส่วนแบ่งตลาดในเชิงของผู้ใช้งานกว่า 16% ส่วนในภาคอุตสาหกรรม มีการเปิดตัว AIS PARAGON (Next Generation Orchestration Platform) ที่จะเป็นเสมือน 5G One Stop Platform ให้ภาคอุตสาหกรรมช่วยบริหารจัดการ resources ผ่าน Cloud และ Edge Computing ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกำลังก่อสร้าง Green Data Center เพื่อจะเป็น Data Center ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย
สำหรับรายละเอียดการทำงานกับพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วนข้ามอุตสาหกรรม (Cross Industry) นั้นพบว่า ทางแบรนด์มีการทำงานร่วมกับร้านค้าถุงเงิน ร้านธงฟ้า ร้านค้ารายย่อย โชว์ห่วย ร้านสตรีทฟู้ด รวมกว่า 1.8 ล้านร้านค้าทั่วประเทศ ผ่านโครงการพอยท์เพย์ จากธนาคารกรุงไทย ให้ลูกค้าสามารถนำ AIS Points มาแลกรับสิทธิพิเศษได้ หรือตัวอย่างของพายชิ้นสุดท้ายที่เป็นการร่วมมือกันของ AIS Academy กับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และ สมาคมวิทยาลัยและสถาบันประเทศแคนาดา หรือ Colleges and Institutes Canada (CICan) ในการนำหลักสูตรการเรียนรู้จากสถาบันชั้นนำของประเทศแคนาดามาให้คนไทยและลูกค้าได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง
นอกจากนั้น บริษัทยังมีการสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน ผ่านโครงการ AIS “อุ่นใจ CYBER” ด้วยนั่นเอง