ยุคดิจิทัลเป็นยุคที่ทำให้ชีวิตของใครหลายคนสะดวกสบายมากขึ้นก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง การก้าวเข้าไปเป็น “พลเมืองดิจิทัล” ก็พบว่ามีความเสี่ยงต่าง ๆ รออยู่มากมายไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการถูกล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว การถูกล่อลวงด้วย Fake News การให้บริการ – ขายสินค้าที่ไม่ซื่อสัตย์ ตลอดจนการถูกโจรกรรมข้อมูล จนนำไปสู่การสูญเสียเงินทองดังที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่าการให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ และหากหลายคนจำได้จะพบว่า เมื่อ 4 ปีก่อน มีการลุกขึ้นมากระตุกให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวผ่านแคมเปญใหญ่ “ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย” ของเอไอเอส พร้อมเปิดผลการสำรวจจากหลากหลายสถาบันที่ระบุว่าในปี 2561 เยาวชนไทยอายุระหว่าง 8 – 12 ปีมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง อีกทั้งยังพบว่า เด็กไทยขาดทักษะในการใช้งานดิจิทัลอย่างชาญฉลาด หรือ DQ (Digital Intelligence Quotient) ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น การกลั่นแกล้งออนไลน์, การเข้าถึงสื่อลามก, ปัญหาเสพติดเกม ไปจนถึงการถูกหลอกให้ออกไปพบกับคนแปลกหน้าได้อย่างง่ายดาย
น่าสนใจที่แคมเปญดังกล่าวไม่ได้จบลงในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่นำไปสู่การเปิดตัวคาแรคเตอร์ “อุ่นใจไซเบอร์” ของทางแบรนด์ ร่วมกับชุดความรู้ที่ถูกพัฒนาต่อจนเป็นหลักสูตรด้าน Digital Literacy ขึ้นมาบนแพลตฟอร์มของบริษัทอย่าง LearnDi และเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปเรียนรู้ทักษะดิจิทัลที่จำเป็นต้องมีได้ด้วยตัวเอง โดยเอไอเอสตั้งชื่อให้กับเส้นทางนี้ว่า “มีความรู้ก็อยู่รอด”
2565 ปีที่ต้องอยู่รอดด้วย “ความรู้”
อย่างไรก็ดี การจะส่งต่อทักษะดิจิทัลไปสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างชาว Gen Z ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบรนด์อาจต้องไปอยู่ในคอมมูนิตี้ของบรรดา Gen Z เสียก่อน นั่นจึงทำให้เราได้เห็นการจับมือกันของอุ่นใจไซเบอร์กับ “จอยลดา” แพลตฟอร์มนิยายแชทออนไลน์ที่มีกลุ่มผู้ใช้งานมากถึง 3.1 ล้านคนต่อเดือน (และเป็น Gen Z ถึง 49%) เปิดตัวนิยายแชท 7 เรื่อง 7 รส โดยเนื้อหาของนิยายนั้นเป็นการให้ความรู้ในประเด็นที่เป็นภัยออนไลน์ออกมาได้ตรงจุดทีเดียว เช่น “ขอเป็นนายแค่ 5 นาที” นิยายแชทที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการขโมยอัตลักษณ์พลเมืองไซเบอร์ (Cyber Identification) ของพี่น้องมาเป็นของตัวเอง, “เพื่อเธอ เพื่อฝัน เพื่อฉันคนใหม่” นิยายแชทที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ CyberBullying และทักษะ Cyber Safety ที่จะมาช่วยรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์, “ความฝันของอันดา” นิยายแชทที่ตัวเอกอยากเป็น Youtuber แต่ที่บ้านไม่สนับสนุนจนนำไปสู่ความท้าทายเรื่อง Cyber Rights หรือความเป็นส่วนตัว เป็นต้น
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS เคยกล่าวถึงแนวคิดในการจับมือกับจอยลดาว่า มาจากการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องของเอไอเอสเพื่อหาวิธีการใหม่ ๆ ในการทำคนไทยมีทักษะดิจิทัล เข้าใจ รู้เท่าทัน ภัยไซเบอร์ ซึ่งกรณีของจอยลดา มาจากการทำงานร่วมกันกับคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จัดกิจกรรมประกวดแผนสื่อสารการตลาด และพบว่าช่องทางโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่สื่อชนิดเดียวที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ แต่ยังมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ อีกหลากหลายตามการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ ซึ่งจอยลดาก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่คนรุ่นใหม่แนะนำนั่นเอง
ภัยดิจิทัลเข้ม เส้นทางความรู้ต้อง “ข้น”
อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี 2565 ก็มีข้อมูลจากศูนย์บริการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่น่าตกใจไม่แพ้กันเปิดเผยออกมา โดยระบุว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 29 ตุลาคม 2565 มีสถิติการแจ้งความออนไลน์ 113,461 คดี คิดเป็นความเสียหายมากถึง 21,900 ล้านบาท โดยรูปแบบการหลอกลวงที่สร้างความเสียหายเป็นตัวเงินมากที่สุดคือ การหลอกให้ลงทุน (คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 5,000 – 6,000 ล้านบาท) รองลงมาคือการหลอกให้กลัวด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วให้เหยื่อโอนเงิน อันดับสามคือการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันแล้วดูดเงินออกจากระบบ อันดับสี่คือการหลอกให้ทำงาน หรือกู้เงินแบบมีผลตอบแทนสูง และสุดท้ายคือหลอกให้รักแล้วโอนเงิน (อ้างอิงจาก https://www.brandbuffet.in.th/2022/10/ais-sends-a-new-campaign-against-cyber-threats/)
เมื่อความเข้มข้นของภัยดิจิทัลเพิ่มขึ้น ความเข้มข้นของการให้ความรู้จากอุ่นใจไซเบอร์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเราพบว่าในปี 2565 ที่อาชญากรไซเบอร์หลอกเงินคนไทยไปนับหมื่นล้านบาทนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ก็อนุมัติให้หลักสูตรด้าน Digital Literacy ของอุ่นใจไซเบอร์เป็นหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการเสริมทักษะดิจิทัลหลักสูตรแรกของไทยที่ได้รับมาตรฐานจากทางหน่วยงาน และจะถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนทั่วประเทศ 29,000 แห่ง ในปีการศึกษาที่จะถึงนี้ (2566)
แต่เพื่อสร้างความตระหนักในฝั่งของคอนซูเมอร์เพิ่มขึ้น อุ่นใจไซเบอร์ก็ยังร่วมกับ Phenomena ส่งหนังโฆษณาชุดใหม่ภายใต้แนวคิด “มีความรู้ก็อยู่รอด” ออกมาในช่วงเดือนตุลาคมด้วย โดยตัวหนังเล่าเรื่องผ่าน 3 ตัวละครหลักที่นั่งคุยกันในห้องน้ำ ได้แก่ น้องหน้ายักษ์, ผีเสี่ย และผีป้า กำลังนั่งคุยกันเกี่ยวกับสาเหตุการตาย เช่น ผีเสี่ยเล่าว่าโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน เลยเจ็บใจจนตาย ส่วนผีป้าก็ตายเพราะเชื่อเฟคนิวส์ กินน้ำผุดศักดิ์สิทธิ์จนกระเพาะทะลุ จากนั้นผีทั้งสองก็หันมาคุยกับน้องหน้ายักษ์ในเชิงล้อเลียนจากการมีเขี้ยวโง้งขนาดใหญ่เหมือนฟันของยักษ์โผล่ออกมา โดยเข้าใจว่า น้องหน้ายักษ์เสียชีวิตแล้วเช่นกัน
ผลก็คือ น้องหน้ายักษ์จึงได้มีโอกาสเล่าความอัดอั้นในใจจากการโดนเพื่อน ๆ ล้อเลียนจนผีเสี่ยและผีป้ารู้สึกผิด แต่น้องหน้ายักษ์ก็มีวิธีการรับมือการถูกบูลลี่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากได้เรียนหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์จากเอไอเอสมาก่อนนั่นเอง
ตัวภาพยนตร์โฆษณาแสดงให้เห็นว่า ภัยที่กล่าวมาคือภัยที่เป็นปัญหาคอขาดบาดตายจริง ๆ หากไม่รู้เท่าทัน และก็เป็นฝีมือของ Phenomena เช่นกันที่รวบตึงใจความสำคัญเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน และเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องแนวตลก สยองขวัญที่ถูกจริตคนไทยเพื่อสื่อให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการใช้งานออนไลน์หรือแม้แต่สื่อดิจิทัลได้ตลอดเวลาหากขาดความรู้ โดยแคมเปญมีความรู้ก็อยู่รอดนี้ ข้อมูลของทางเอไอเอสระบุว่า สามารถเจาะเข้าถึงคนไทยได้มากกว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านสื่อ TV, OOH และ Online เลยทีเดียว (ปี 2565)
2566 สานต่อ “วันเด็ก ต่อเนื่องสู่ Safer Internet Day”
“จะตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” เพื่อสานต่อความเข้มข้นในแคมเปญมีความรู้ก็อยู่รอด เราจึงได้เห็น 2 โปรเจกต์ใหญ่ของอุ่นใจไซเบอร์ตามมาติด ๆ ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา กับการส่งแบบทดสอบ “Cyber Survivor Quiz” โดยเป็นการจับมือกับ Capital ทำแบบทดสอบสำหรับช่วยวิเคราะห์ตัวตน รวมถึงแนะแนวทางในการอยู่บนโลกโซเชียลได้ปลอดภัยขึ้นในช่วงวันเด็ก (14 มกราคม 2566)
ตามมาด้วยการจับมือกับขายหัวเราะสตูดิโอ นำคาแรคเตอร์ที่คนไทยคุ้นเคยมาวาดเป็นการ์ตูนรักปนตลกเรื่อง “เมื่อผมตกหลุมรักขึ้นไม่ไหว” และเปิดตัวในวัน Safer Internet Day โดยภายในการ์ตูนดังกล่าวเป็นการเล่าเรื่อง 8 ทักษะดิจิทัลที่คนไทยควรรู้อย่างทักษะการจัดสรรเวลาหน้าจอ, การจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคล, ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ, ทักษะการรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์, ทักษะอัตลักษณ์พลเมืองไซเบอร์, มารยาททางไซเบอร์, ทักษะการจัดการความเป็นส่วนตัว และทักษะการจัดการร่องรอยบนโลกออนไลน์ มาให้อ่านสนุก ๆ และเข้าใจง่ายแทน
ทั้งหมดนี้สะท้อนได้ว่า 4 ปีที่ผ่านมานับจากปี 2562 ที่เอไอเอสเริ่มต้น “ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย” คือการส่งสัญญาณอย่างจริงจังถึงภัยดังกล่าว และสร้างเส้นทางที่สะท้อนตัวตนของ “อุ่นใจไซเบอร์” ภายใต้ความเชื่อที่ว่าการมีความรู้คือหนทางเดียวที่จะทำให้เรารอดพ้นภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ กับแนวคิด “มีความรู้ก็อยู่รอด” ที่สื่อสารออกมาได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ในช่วงแรก การสร้างหลักสูตร Digital Literacy บนแพลตฟอร์ม LearnDi (Learndiaunjaicyber.ais.co.th) หรือในแอปพลิเคชันอุ่นใจไซเบอร์อาจต้องใช้เวลานานไปบ้าง แต่เมื่อฐานรากพร้อมแล้ว สิ่งที่เราได้เห็นตามมาคือการจับมือกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ และส่งต่อ “องค์ความรู้” นั้นออกมาได้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับ สพฐ., จอยลดา, ขายหัวเราะสตูดิโอ, การสร้างแบบทดสอบ Cyber Survivor Quiz หรือการทำภาพยนตร์โฆษณากับ Phenomena รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ YouTube, Facebook, TikTok, Twitter
ที่ผ่านมา ภัยดิจิทัลอาจจะแก้ยาก แต่สิ่งที่อุ่นใจไซเบอร์สื่อสารออกมาในช่วง 4 ปีมานี้ น่าจะสะท้อนได้ดีว่า ประเทศไทยยังมีความหวัง ที่สำคัญ วันนี้เรามีรากฐาน และองค์ความรู้ด้าน Digital Literacy พร้อมแล้วที่จะรับมือกับภัยดังกล่าวนั่นเอง