Cafe Amazon เชนร้านกาแฟเบอร์หนึ่งของไทย ด้วยจำนวน 3,895 สาขา ณ สิ้นปี 2565 ทำยอดขายได้ 357 ล้านแก้ว หรือขายได้วันละเกือบ 1 ล้านแก้ว
ครบรอบ 20 ปี Cafe Amazon เดินหน้าต่อยอดแบรนด์จากตลาดกาแฟนอกบ้าน (ร้านกาแฟสด) มูลค่า 30,000 ล้านบาท เข้ามาชิงตลาดกาแฟในบ้าน มูลค่า 30,000 ล้านบาท ด้วยการเปิดตัว กาแฟขวด “อเมซอน” ทำตลาดในช่องทางร้านค้าปลีกทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตในตลาดรวมกาแฟ 60,000 ล้านบาท
ในปี 2565 ตลาดรวมกาแฟนอกบ้าน (ร้านกาแฟ) มีมูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 9.5% ต่อปี มีผู้เล่นหลักๆ ได้แก่ Cafe Amazon สตาร์บัคส์ อินทนิล กาแฟพันธุ์ไทย ที่ขยายสาขาทั้งในปั๊มและนอกปั๊ม
ส่วนตลาดกาแฟสำเร็จรูป หรือตลาดกาแฟในบ้าน มีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟปรุงสำเร็จ 3 in 1 มูลค่าตลาดกว่า 16,000 ล้านบาท กาแฟพร้อมดื่ม (RTD) ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบกระป๋อง มูลค่าตลาด 12,000 ล้านบาท และกาแฟผงสำเร็จรูป มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท และอีกตลาดกาแฟสำเร็จรูปมาแรง คือ กาแฟแคปซูล
ที่ผ่านมา Cafe Amazon ได้เข้าสู่ตลาดกาแฟในบ้าน ด้วยผลิตภัณฑ์กาแฟดริป (coffee drip) หลากหลายสูตร ล่าสุดช่วงปลายปี 2565 เปิดตัวสินค้าใหม่ “กาแฟแคปซูล” (Cafe Amazon Coffee Capsule) เกาะเทรนด์การดื่มกาแฟสดในบ้าน (Home Use/ Home Brew) ที่กำลังเติบโตเพื่อสร้างประสบการณ์ “โฮมบาริสต้า” ให้กับลูกค้า
ต่อยอดแบรนด์ Cafe Amazon จากร้านสู่กาแฟขวด
คุณสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่าปัจจุบันคนไทยยังบริโภคกาแฟอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เฉลี่ย 1.5-1.6 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (เพิ่มขึ้นจาก 0.9 กิโลกรัม) หากเทียบกับญี่ปุ่นบริโภค 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี นั่นทำให้ตลาดกาแฟยังมีช่องว่างเติบโตได้อีก โดยเฉพาะกาแฟกลุ่มพรีเมี่ยมหรือกาแฟสด เป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคหันมาดื่มมากขึ้น
OR จึงมองโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ด้วยการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด หรือค่ายสิงห์ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ภายใต้บริษัท ดริ้ง เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด (Drink Enterprise) เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่ม (Ready To Drink หรือ RTD) ทำตลาดผ่านช่องทางค้าปลีกทั่วประเทศ
เดือนเมษายน 2566 ได้ฤกษ์เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์แรก คือ กาแฟขวดพร้อมดื่ม Cafe Amazon และชาเขียวพร้อมดื่ม “ฮารุ โคลด์บรูว์ กรีนที”
สำหรับกาแฟขวด “อเมซอน” มี 3 รสชาติ ขนาด 200 มิลลิลิตร 1.อเมซอน แบล็ค ราคา 29 บาท 2. อเมซอน ลาเต้ ราคา 35 บาท 3.อเมซอน เอสเปรสโซ ราคา 35 บาท ทั้ง 3 สูตร เป็นเมนูขายดีที่สุดในร้าน Cafe Amazon โดยกาแฟขวดอเมซอน วางตำแหน่งเป็นกาแฟพร้อมดื่มกลุ่มพรีเมี่ยม (กลุ่มนี้ราคาตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป)
โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ คนทำงานรุ่นใหม่ กลุ่มนักศึกษา เป็นกลุ่มที่ไม่มีเวลา ใช้ชีวิตเร่งรีบ แต่ใส่ใจการดื่มกาแฟคุณภาพหรือกาแฟสดในกลุ่มพรีเมี่ยม นี่คือโจทย์ที่ Cafe Amazon ใช้จุดแข็งที่สะสมมา 20 ปี พัฒนาเป็นสินค้าใหม่ตอบโจทย์การเข้าถึงได้ง่าย ส่งต่อรสชาติจากกาแฟสดในร้านสู่กาแฟขวด เพื่อเสิร์ฟผู้บริโภคได้ทุกเวลา
การผลิตกาแฟขวดอเมซอน เริ่มตั้งแต่การคัดสรรเมล็ดกาแฟคุณภาพ ผ่านกระบวนการคั่ว และการสกัดกาแฟร้อนเพียง 27 วินาที สูตรเฉพาะของ Cafe Amazon เพื่อคงความเข้มข้น ให้ได้รสชาติ กลิ่นแท้ ๆ ของกาแฟ เพื่อประสบการณ์ดื่มที่ใกล้เคียงกับกาแฟสดที่ร้าน Cafe Amazon
การเปิดตัวกาแฟขวด Cafe Amazon เราต้องการส่งต่อรสชาติกาแฟสดลงไปในขวด เพื่อให้ได้รสชาติกาแฟสด เหมือนที่ดื่มในร้าน เป็นสูตรที่เราศึกษามานาน มั่นใจกาแฟขวด Cafe Amazon ยังคงเป็นรสชาติกาแฟสดในราคาที่เข้าถึงได้
คุณสุชาติ มองว่าร้านกาแฟสด Cafe Amazon และกาแฟขวดอเมซอน ลูกค้าจะมีไลฟ์สไตล์ต่างกัน คนที่ดื่มกาแฟสดที่ร้านคุ้นชินกับรสชาติกาแฟสด ส่วนกลุ่มที่ดื่มกาแฟ RTD ก็ต้องการรสชาติที่ใกล้เคียงกับกาแฟสด แต่สะดวกในการซื้อได้ทุกเวลา
“มีโอกาสที่คนที่ยังไม่เคยลองชิม Cafe Amazon ที่ร้าน หากเริ่มทดลองจากกาแฟขวดอเมซอน ที่ขายทุกช่องทางค้าปลีก รวมทั้งร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศ หากติดใจก็จะได้เป็นลูกค้าของร้าน Cafe Amazon ต่อไป เช่นเดียวกันกลุ่มที่เป็นลูกค้า Cafe Amazon อยู่แล้วก็มีโอกาสบริโภคกาแฟขวดอเมซอน ในเวลาเร่งรีบ (on the go) เพิ่มขึ้น”
สำหรับกาแฟขวด Cafe Amazon จะวางขายในช่องทางค้าปลีกทั่วประเทศ โดยในช่วง 3 เดือนแรก วางขายในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ทั่วประเทศกว่า 13,000 สาขา (โดยมีร้าน 7-Eleven ที่อยู่ใน PTT Station กว่า 2,000 สาขา) เริ่มวันที่ 10 เมษายนนี้ ตั้งเป้าหมายยอดขายปี 2566 อยู่ที่ 8 ล้านขวด
ตั้งแต่ 1 เมษายนนี้ เป็นต้นไป ลูกค้าที่เติมน้ำมันที่ PTT Station ซูเปอร์พาวเวอร์ 1,200 บาท รับกาแฟอเมซอน 1 ขวด เป็นการทำแคมเปญเพื่อทำให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับสินค้ากาแฟขวดอเมซอน
“ดริ้งเอนเทอร์ไพรซ์” วางเป้าหมายแรก 1,000 ล้าน
ภายใต้บริษัทร่วมทุน “ดริ้ง เอนเทอร์ไพรซ์” ของ OR และบุญรอดฯ ที่ถือเป็นบริษัทระดับบิ๊กทั้งคู่ เรียกว่าเป็นการจับคู่พันธมิตร 1+1 มากกว่า 2 โดยวางแผนจะพัฒนาเครื่องดื่มกลุ่ม RTD ที่ใช้จุดแข็งของทั้ง 2 องค์กรออกมาทำตลาดต่อเนื่อง วางเป้าหมาย 1-2 ปีแรก จะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท
ในมุมของ OR การเปิดตัวเครื่องดื่ม RTD กาแฟขวดอเมซอน ถือเป็นการ Diversify ธุรกิจกลุ่ม Non-oil ให้กว้างขึ้น จากจุดแข็งโลเคชั่นร้าน Cafe Amazon ที่มีกว่า 3,895 สาขา ทั้งใน PTT Station และนอกปั๊ม เป็นการนำแบรนด์ Cafe Amazon เข้าสู่ตลาดค้าปลีกที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วประเทศ หลังจากนี้จะมีการต่อยอดเครื่องดื่มอื่นๆ สู่ตลาด RTD ต่อเนื่อง
อ่านเพิ่มเติม