HomePR Newsแคนนอน สานต่อความสำเร็จ Bird Branch Project ครั้งที่ 4 นำอาสาสมัครสร้างแหล่งน้ำจืดและบังไพร เพื่อร่วมสนับสนุนการวิจัยและอนุรักษ์พันธุ์นกอพยพ ณ เกาะมันใน จ.ระยอง [PR]

แคนนอน สานต่อความสำเร็จ Bird Branch Project ครั้งที่ 4 นำอาสาสมัครสร้างแหล่งน้ำจืดและบังไพร เพื่อร่วมสนับสนุนการวิจัยและอนุรักษ์พันธุ์นกอพยพ ณ เกาะมันใน จ.ระยอง [PR]

แชร์ :

บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด (Canon) ร่วมมือกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรม Canon Bird Branch Project ครั้งที่ 4 ณ เกาะมันใน จังหวัดระยอง นำอาสาสมัครพนักงานแคนนอนและครอบครัวรวม 58 คน ร่วมกับสมาชิกของสมาคมอนุรักษ์นกฯ ช่วยกันสร้างแหล่งน้ำจืดและบังไพร โดยมีจุดประสงค์เพื่อการสนับสนุนการวิจัย ร่วมอนุรักษ์นกอพยพ และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นายพงษ์เทพ ประเสริฐวรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและ CSR บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า “แคนนอนเชื่อว่าการอนุรักษ์นกสามารถทำได้หลายรูปแบบ สำหรับโครงการ Canon Bird Branch Project เรามุ่งมั่นเรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ ที่ทำให้การอนุรักษ์นกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์สูงสุด ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงาน สมาคม และสถาบันการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในครั้งนี้ เราได้เลือกทำโครงการที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเกาะที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และได้รับการยอมรับจากนักปักษีวิทยาว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการศึกษาในระยะยาว เพื่อติดตามจำนวนประชากรนกอพยพที่มีเส้นทางอพยพข้ามอ่าวไทย”

ข้อมูลจากโครงการศึกษานกอพยพบนเกาะมันในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของปี 2553-2557 คณะวิจัยสามารถติดตามนกอพยพ 67 ชนิด รวมจำนวน 2,175 ตัว โดยในจำนวนนี้ 93% จัดเป็นนกหายาก เช่น นกแต้วแล้วพันธุ์จีน นกจับแมลงอกสีน้ำตาลอ่อน นกแซวสวรรค์หางดำ นกจับแมลงคิ้วเหลือง นกจับแมลงหลังสีเขียว นกแซงแซวปากกา และนกเขนน้อยไซบีเรีย นกอพยพส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์และวางไข่ทางตอนเหนือของทวีปเอเชียและคาบสมุทรไซบีเรีย เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวจะอพยพหนีหนาวลงไปอาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียที่อบอุ่นกว่า และเมื่อหมดฤดูหนาว นกเหล่านี้จะอพยพกลับถิ่นโดยมีเส้นทางผ่านเกาะมันในของจังหวัดระยอง ทว่า มีนกอพยพจำนวนไม่น้อยที่ตายระหว่างทางเนื่องจากความหิวโหยและอ่อนแรง เกาะมันในจึงเป็นจุดแวะพักสำคัญในการพักเหนื่อย เป็นแหล่งอาหารของนกอพยพจำนวนมาก ก่อนที่พวกมันจะต้องเดินทางต่อเป็นระยะทางอีกหลายพันกิโลเมตร ซึ่งทำให้เกาะมันในกลายเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์นกที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของไทย

ด้วยเหตุผลข้างต้น แคนนอนจึงได้ร่วมมือกับสมาคมอนุรักษ์นกฯ จัดกิจกรรม Bird Branch Project ครั้งที่ 4 ในการสร้างอ่างน้ำจืดและบังไพร เนื่องจากบนเกาะมันในไม่มีแหล่งน้ำจืด และเพื่อให้นกอพยพสามารถพักอาศัยที่เกาะมันในได้อย่างปลอดภัย โดยเริ่มจากการกำหนดพื้นที่ที่คาดว่าจะจุดพักของนกอพยพ ซึ่งแบ่งเป็น

3 จุด ได้แก่ บริเวณหน้าหาดเกาะมันใน บริเวณด้านหลังเกาะใกล้จุดอนุบาลเต่าทะเล และบริเวณด้านในเกาะที่มักจะพบนกแต้วแล้วมาอาศัย จากนั้นจึงสร้างอ่างน้ำจืดให้นก (Bird bath) โดยนำขวดน้ำพลาสติกขนาด 5 ลิตรบรรจุน้ำจืดพร้อมติดตั้งวาวล์ควบคุมน้ำหยดและสายยาง นำไปแขวนบนต้นไม้เพื่อปล่อยน้ำหยดลงมาที่อ่างเหมือนหยดน้ำธรรมชาติ เมื่อน้ำเริ่มเต็มอ่าง นกจะได้ยินเสียงน้ำหยดและบินลงมากินน้ำหรือเล่นน้ำคลายร้อนได้ นอกจากนี้ยังติดกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) จุดละ 2 ตัว รวมทั้งสิ้น 6 ตัวเพื่อบันทึกภาพวีดีโอสำหรับการศึกษาและวิจัยพฤติกรรมของนก ตลอดจนสร้างบังไพรเพื่อให้นักวิจัยหรือนักท่องเที่ยวสามารถสำรวจพฤติกรรมของนกอพยพได้โดยไม่รบกวนความเป็นอยู่ของนก

“Bird Branch Project ที่เกาะมันในถือเป็นการจัดกิจกรรมครั้งที่ 4 โดยโครงการครั้งที่ 1-3 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2564-2565 โดยการติดตั้งบ้านนกเพื่ออนุรักษ์นกท้องถิ่นในเขตเมือง การร่วมมือกับสมาคมอนุรักษ์นกฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้แคนนอนมีโอกาสขยายความช่วยเหลือมาสู่นกอพยพในเกาะมันใน เพราะเราเชื่อว่านกทั้ง 2 กลุ่มต่างก็มีความต้องการเหมือนกันคือที่อยู่ที่ปลอดภัยและแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์เพื่อการดำรงอยู่ของสายพันธุ์ ซึ่งแคนนอนหวังว่าในอนาคตเราจะได้ร่วมมือกับพันธมิตรรายอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือนกกลุ่มอื่น ๆ ได้มากขึ้น เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของโลกเราต่อไป” นายพงษ์เทพ ประเสริฐวรนันท์ กล่าว

ผู้ที่สนใจโครงการ Canon Bird Branch Project สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Canon Bird Branch Project | Canon Global


แชร์ :

You may also like