DHL Express ประกาศตัวเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายแรกที่ใช้รถยนต์ EV ให้บริการเชิงพาณิชย์ในไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมโชว์รถยนต์ขนส่งสินค้าด้วยพลังงานไฟฟ้าสำหรับให้บริการ Last Mile ในกรุงเทพฯ รวดเดียว 16 คัน และเตรียมขยายเพิ่มอีก 5 คันในพื้นที่ภาคตะวันออกภายในไตรมาส 3 ปีนี้
สำหรับรถยนต์ส่งสินค้า EV ทั้ง 16 คันที่นำมาให้บริการส่งของในเฟสแรกนี้เป็นรถยนต์จากค่าย BYD ที่ยนต์จะวิ่งให้บริการในพื้นที่ย่านสาธร, สีลม, ปทุมวัน, พระราม 3, ถนนสุขุมวิท และถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งทาง DHL Express ระบุว่า ในการชาร์จรถ EV หนึ่งครั้งใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง และสามารถวิ่งได้เป็นระยะทาง 260 กิโลเมตร ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในหนึ่งวัน โดยตัวรถจะกลับมาชาร์จไฟที่สำนักงาน ไม่มีการชาร์จไฟจากสถานีชาร์จข้างนอกแต่อย่างใด
สำหรับความสามารถอื่น ๆ ของรถจาก BYD ที่ DHL Express นำมาใช้งานนั้น พบว่า นอกจากวิ่งได้เป็นระยะทาง 260 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้งแล้ว ยังสามารถล็อกประตูได้อัตโนมัติเมื่อคนขับปิดประตูเพียงประตูเดียว หรือที่เรียกว่าระบบสแลมล็อค (Slam Lock) ด้วย โดย DHL Express มองว่า การมีระบบดังกล่าวเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กล่องพัสดุในตัวรถเวลาที่คนขับลงไปส่งของ หรือไม่ได้อยู่กับตัวรถนั่นเอง
ในด้านความสามารถพื้นฐานของรถยนต์ EV หนึ่งคันนั้น คุณศิวเวศม์ หงษ์นคร รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย กล่าวว่า รองรับน้ำหนักสินค้าได้ถึง 1.6 ตัน และระยะทางในการวิ่งขนส่งต่อเดือนคาดว่าจะทำได้มากถึง 3,000 กิโลเมตร ซึ่งในภาพรวม จะทำให้บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 436 ตันต่อปี อีกทั้งก่อนหน้านี้ DHL Express เคยเปิดตัวรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในการส่งของมาแล้ว โดยปัจจุบันมีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทยแล้วถึง 50 คัน ซึ่งนอกจากไทย ก็มีการใช้งานในประเทศเวียดนามด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขการลงทุนเรื่องธุรกิจ EV ในปี 2023 ของ DHL Express ในประเทศไทยให้ทราบ โดยทางบริษัทบอกเพียงว่า รถที่จะนำมาใช้งานเพิ่มเติมอีก 5 คันในเฟส 2 อาจเป็นรถ EV รูปแบบอื่น เนื่องจากจะนำไปใช้วิ่งส่งสินค้าในภาคตะวันออก ไม่ใช่การวิ่งในตัวเมืองอย่างรถทั้ง 16 คันที่เปิดตัวในรอบนี้นั่นเอง
ในภาพรวมปี 2566 คุณศิวเวศม์เผยว่า บริษัทมีรถขนส่งสินค้าสำหรับให้บริการในธุรกิจของ DHL Express รวมทั้งสิ้น 255 คัน และในจำนวนนี้ เป็นรถ EV ทั้งสิ้น 71 คัน (มอเตอร์ไซค์ 50 คันและรถยนต์ 21 คัน) โดยรถ EV คิดเป็น 27% ของรถที่ให้บริการทั้งหมด
ส่วนเป้าหมายในระดับภูมิภาค กลุ่มบริษัทด๊อยช์โพสต์ ดีเอชแอล ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้มีแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน โดยประกาศลงทุนเป็นเงิน 7,000 ล้านเหรียญยูโร หรือประมาณ 2.39 แสนล้านบาท เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากแผนดังกล่าว ทางบริษัทเผยว่าจะนำไปสู่การเพิ่มรถ EV เพื่อใช้ขนส่งสินค้ามากกว่า 1,000 คันในเอเชียแปซิฟิกภายในปี 2024 เลยทีเดียว
ด้านคุณเฮอร์เบิร์ด วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ DHL Express ประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า แผนดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย ที่ต้องการให้รถยนต์ 30% ในประเทศเป็นรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ZEV) ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นการสนับสนุนประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศสังคมคาร์บอนต่ำ แต่แน่นอนว่าในภาคธุรกิจอาจยังไม่สามารถระบุได้ว่า แนวทางดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีจุดคุ้มทุนเมื่อใด