HomeBrand Move !!5 กลยุทธ์ GMM Music พลิกธุรกิจเพลงทำกำไร ยึดเบอร์ 1 โชว์บิซ จัด 9 เฟสติวัลทั่วไทย ปั้นฮับงานฮาโลวีน-LGBTQ+ 

5 กลยุทธ์ GMM Music พลิกธุรกิจเพลงทำกำไร ยึดเบอร์ 1 โชว์บิซ จัด 9 เฟสติวัลทั่วไทย ปั้นฮับงานฮาโลวีน-LGBTQ+ 

แชร์ :

ก่อนโควิด ปี 2562 GMM Music “ธุรกิจเพลง” หนึ่งในเสาหลักของ GMM Grammy ทำรายได้ 4,014 ล้านบาท มากที่สุดในรอบ 10 ปี มีกำไร 427 ล้านบาท  เป็นการกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังผ่านคลื่น Disrupt ในอุตสาหกรรมเพลง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ทุกธุรกิจต้องมาสะดุดจากสถานการณ์โควิด รวมทั้ง GMM Music ที่ปี 2563 รายได้ลดลงมาอยู่ที่ 2,759 ล้านบาท กำไรเหลือ 5 ล้านบาท ปี 2564 รายได้ 1,816 ล้านบาท “ไม่มีกำไร” เพราะโควิดทำให้ไม่สามารถจัดงานโชว์บิซ (คอนเสิร์ตและเฟสติวัล) รวมทั้งงาน Live Show (งานจ้างศิลปินจัดแสดงในผับบาร์) ที่ปกติมีปีละ 7,000 งาน

มาในปี 2565 สถานการณ์โควิดคลี่คลาย GMM Music กลับมาเติบโตอีกครั้ง ทำรายได้ 3,043 ล้านบาท เติบโต 67% กำไร 355 ล้านบาท

คุณภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ย้ำว่าจากตัวเลขผลประกอบการที่ GMM Music ทำได้ในปีที่ผ่านมา วันนี้ชัดเจนว่า We are back on track ในอุตสาหกรรมเพลงอีกครั้ง

เปิดสถิติธุรกิจเพลง ปี 2565

– บทสรุปผลงานธุรกิจเพลง GMM Music ในปี 2565 มียอดการสตรีมทั้งหมด 14,000 ล้านสตรีม เกิดจากการสร้างเพลงใหม่ 404 เพลง (แบ่งเป็น 30 อัลบั้ม, 153 ซิงเกิล, 44 เพลงประกอบภาพยนตร์ และ 48 เพลงคัฟเวอร์) และเพลย์ลิสต์จำนวน 3,817 เพลย์ลิสต์

– ยอดการสตรีมเพลงใหม่มีจำนวน 2,150 ล้านสตรีม คิดเป็น 16% ทำได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยการสตรีมเพลงใหม่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกที่ 15%

– แนวเพลงที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ เพลงร็อก 40% เพลงลูกทุ่ง 32% และเพลงป๊อป 14%

– ปี 2565 ยังถือเป็น Year of New Age Artist ด้วยการสร้างปรากฏการณ์แจ้งเกิดของศิลปินใหม่ทั้ง ป๊อป ร็อก และลูกทุ่ง ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน Paper Planes, Three Man Down, Tilly Birds, ไททศมิตร, โจอี้ ภูวศิษฐ์, Monica, เวียง นฤมล, เบียร์ พร้อมพงษ์, เบล นิภาดา และ New Country

– เป็นค่ายเพลงอันดับ 1 ที่มีเพลงฮิตติด Thailand Billboard Chart มากที่สุด 37%

– ศิลปิน “มนต์แคน แก่นคูน” ครองแชมป์ศิลปินลูกทุ่งที่มียอดการสตรีมรวมใน YouTube ประเทศไทยสูงสุดถึง 3 ปีซ้อน กว่า 800 ล้านวิว

– ศิลปินที่สร้างสถิติบน TikTok อย่าง Paper Planes เจ้าของเพลงฮิต “ทรงอย่างแบด” กับสถิติ 1,000 ล้านวิว ตามด้วย “หญิงลี” เจ้าของเพลง “คาเฟอีน” กับสถิติ 400 ล้านวิว และลูกทุ่งหน้าใหม่ New Country กับเพลง “Stand by หล่อ” ด้วยยอดวิว 200 ล้านวิวภายในเวลาอันสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok

ตามดู 5 กลยุทธ์สร้างรายได้ 3,800 ล้าน ในปี 66

ในปี 2566 GMM Music เน้นเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ ตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 3,800 ล้านบาท เติบโต 25% แบ่งออกเป็น 5 ธุรกิจหลัก

– ธุรกิจ Digital รายได้ 1,200 ล้านบาท เติบโต 10%
– ธุรกิจ Artist Management รายได้ 1,050 ล้านบาท เติบโต 42%
– ธุรกิจ Showbiz รายได้ 898 ล้านบาท รายได้ 66%
– ธุรกิจ Right Management รายได้ 300 ล้านบาท เติบโต 27%
– ธุรกิจ Physical Product รายได้ 200 ล้านบาท เติบโต 38%

GMM Music วาง 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจเพลง เพื่อทำให้ได้เป้าหมายรายได้ 3,800 ล้านบาทในปีนี้

1. เบอร์ 1 ธุรกิจโชว์บิซในประเทศไทย

หลังจากเปิดตัวแบรนด์ “เทศกาลดนตรี” (Music Festival) Big Mountain ครั้งแรกในปี 2553 ปัจจุบันจัดไปแล้ว 12 ครั้ง มีผู้ชมกว่า 100,000 คนต่อวัน ครองอันดับ 3 เทศกาลดนตรีที่มีคนดูมากที่สุดของเอเชีย จากนั้นได้สร้างแบรนด์เทศกาลดนตรีใหม่ๆ เพื่อขยายฐานผู้ชมงานรายภูมิภาคทั่วประเทศ ปีนี้จะมีการจัดงานรวม 9 มิวสิค เฟสติวัล

– Big Mountain Music Festival 13 เขาใหญ่
– นั่งเล่น 7 เขาใหญ่
– เชียงใหญ่เฟส 4 เชียงใหม่
– Rock Mountain 2 เขาค้อ เพชรบูรณ์
– Monster 2 กรุงเทพฯ
– นั่งเล 2 ชะอำ เพชรบุรี
– Rock on the beach  พัทยา
– พุ่งใต้เฟส หาดใหญ่ สงขลา
– เฉียงเหนือเฟส ขอนแก่น

โดยเทศกาลดนตรี “เชียงใหญ่เฟส” เชียงใหม่ ที่จัดมาแล้ว 3 ปี มีจำนวนผู้ชม 40,000 คน เป็นงานที่มียอดผู้ชมเติบโตเร็วที่สุด (มากกว่า Big Mountain ในปีที่ 3 มียอดผู้ชม 30,000 คน) โดยวางเป้าหมายสร้างแบรนด์ “เชียงใหญ่เฟส” ให้เป็นงานเทศกาลดนตรีเจาะผู้ชมงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ชื่นชอบแหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่

ปีนี้ได้ขยายเข้าโอกาสใหม่ในกลุ่มโชว์บิซ ในการสร้างแบรนด์จัดเทศกาลประจำจังหวัด เริ่มที่งานฮาโลวีน, งาน LGBTQ+ ทั้ง 2 งานถืออีเวนท์ที่มีผู้สนใจร่วมงานจำนวนมาก แต่ปัจจุบันยังไม่มีการจัดงานประจำปีที่เป็นแหล่งรวมผู้คน GMM Music จึงวางเป้าหมายให้กรุงเทพฯ เป็นฮับของงานเทศกาลดนตรีระดับสากลทั้งฮาโลวีน และ LGBTQ+ เพื่อดึงผู้ร่วมงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ทั้งคนไทยและต่างประเทศ

การจัดงาน “แฟนมีตติ้ง” กลุ่มศิลปินเกาหลี เริ่มที่ “พัค จินยอง” (PARK JIN YOUNG) หรือ จินยอง GOT7 ซึ่งจัดไปแล้วเมื่อวันที่ 18 และ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ปีนี้ยังมีการจัดงานแฟนมีตติ้งและคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีอีกหลายคน

ในกลุ่มโชว์บิซยังมีการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินดังในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ไมโคร, เป๊ก-ออฟ-ไอซ์ การรวมตัวของ 3 ศิลปินดัง เป๊กผลิตโชค, อ๊อฟ ปองศักดิ์ และไอซ์ ศรัณยู, แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ของธงไชย แมคอินไตย์ เป็นต้น

ปัจจุบันตลาดเทศกาลเพลงและคอนเสิร์ตในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนเสิร์ตศิลปินไทย 50% และศิลปินต่างประเทศ 50%

ในประเทศไทยมีการจัดงานมิวสิค เฟสติวัลปีละ 300-400 งาน แบ่งเป็นขนาดใหญ่ (L) มีผู้ชมกว่า 10,000 คนต่อวัน ในตลาดนี้ GMM Music ครองส่วนแบ่ง 90% ,ขนาดกลาง (M) ผู้ชม 5,000 คนต่อวัน และขนาดเล็ก (S) ผู้ชม 1,000 คนต่อวัน

การจัดเทศกาลดนตรีและคอนเสิร์ตต่างๆ ในปีนี้ของ GMM Music วางเป้าหมายผู้ชมรวมกว่า 500,000 คน ถือเป็นเบอร์ 1 ธุรกิจโชว์บิซในประเทศไทย ซึ่งโชว์บิซ จะเป็นหนึ่งในเสาหลักสร้างรายได้ระดับ 1,000 ล้านบาทให้ GMM Music ในอนาคต เช่นเดียวกับธุรกิจดิจิทัลและ Artist Management ที่มีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทไปแล้ว

2. Entertainment Big Data ใหญ่ที่สุดในประเทศ

การลงทุนแพลตฟอร์มด้าน Big Data ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ฝ่ายโชว์บิซหรือ ฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเก็บดาต้ามาแล้ว 5 ปี GMM MUSIC ได้ลงทุนในการใช้ Machine Learning และ AI มาเรียนรู้พฤติกรรมของแฟนเพลง ศิลปิน แบรนด์สินค้า ตลอดจนสื่อทุกแพลตฟอร์ม เพื่อนำไปวางแผนงานที่มีความแม่นยำอันสูงสุดในการเลือกใช้ศิลปินกับแบรนด์สินค้า หรือสื่อและอินฟลูเอนเซอร์ที่หลากหลาย รวมทั้งการทำ Data Prediction ที่สามารถมองเห็นความต้องการและปริมาณการซื้อบัตรในโชว์บิซได้อย่างแม่นยำก่อนการขาย

สเต็ปต่อไป GMM Music จะเดินหน้าขยาย Music Data สู่การทำ Personalization Commerce เป็นการทำตลาดแบบรายบุคคล เพื่อก้าวสู่การเป็น Entertainment Big Data ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

“เป้าหมายในอุตสาหกรรมเพลง GMM Music ไม่ได้แข่งกับใคร แต่จะใช้ Big Data มาช่วยให้เติบโตให้มากขึ้นไปอีก”

3. ผลิตผลงานเพลงครอบคลุมทุกเซกเมนต์

GMM Grammy เป็นค่ายเพลงเบอร์ 1 ที่มีศิลปินมากที่สุด โดยยังคงสร้างสรรค์และจัดวางแบรนด์ศิลปินให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ ทั้งเพลงป๊อป เพลงร็อก และเพลงลูกทุ่ง ปีนี้ขยายกำลังการผลิตเพลงเพิ่มเป็น 500 เพลง 32 อัลบั้ม 160 ซิงเกิล 5,000 เพลย์ลิสต์ต่อปี เพื่อรักษาผู้นำค่ายเพลงที่มียอดการสตรีมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทั้งจากเพลงใหม่และเพลงเก่า

4. สร้างศิลปินใหม่ต่อเนื่องทุก Gen ทุกแนวเพลง

GMM Music วางเป้าหมายในการสร้างศิลปินใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งศิลปินร็อก (New Rock Idol), ศิลปินลูกทุ่ง (New Country Idol) และศิลปินป็อปไอดอล (New Pop Idol) พร้อมเดบิวต์สู่ตลาดมากกว่า 15-20 ศิลปินใหม่

นอกจากนี้ได้สร้างเครือข่ายในการเฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเป็นศิลปินฝึกหัด ผ่านความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา สถาบันสอน ร้อง-เต้น โมเดลลิ่ง มิวสิคคอมมูนิตี้ โปรดิวเซอร์ และผู้จัดในสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะมีการคัดเลือกเข้า-ออกตลอดอย่างต่อเนื่องทั้งปีด้วยหลักสูตรที่เข้มข้นของ GMM ACADEMY ที่มีคนมาสมัครกว่า 10,000 คน

รวมทั้งความร่วมมือกับ YG Entertainment ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน YG”MM เปิดรับสมัครคัดเลือกศิลปินฝึกหัดในปีที่ผ่านมาก็มียอดผู้สมัครกว่า 9,000 คน แต่การฝึกหัดต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

การสร้างศิลปินใหม่ของ GMM Music มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพให้ศิลปินรุ่นใหม่มีทักษะและความสามารถแสดงผลงานในระดับสากล

5. ผลักดันการเติบโตรายได้ธุรกิจดิจิทัล

ธุรกิจ Digital ถือเป็นพระเอกของ GMM Music ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 1,200 ล้านบาท เติบโต 10% เป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อีก จากการนำความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมาต่อยอดในการสร้าง Performance ให้สูงขึ้นในทุกโซเชียลมีเดียของค่ายและศิลปิน และเชื่อมโยงกับ Music Marketing, Music Optimization และ Music Playlist ตามพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like