ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา วงการตลาด ออกแบบ และดิจิทัล ไปจนถึงคอนเทนต์ เกิดกระแสตื่นตัวกับ Open AI ที่สามารถนำเสนองานออกแบบออกมาได้อย่างน่าทึ่ง สอดคล้องกับคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้งานป้อนเข้าไป จนถึงขนาดมีคำถามว่าที่ว่า AI เหล่านี้จะเก่งฉกาจ ขนาดมาแย่งงานจากมนุษย์ได้เลยหรือไม่
เนื่องในโอกาสที่ BrandBuffet ได้สนทนากับ คุณอันทวน เบแซร์ เดส์ ออรส์ Vice President ประจำลิกซิล โกลบอล ดีไซน์ ภูมิภาคเอเชีย ในฐานะดีไซน์เนอร์ ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อการจัดการน้ำและที่อยู่อาศัย แบรนด์ อเมริกันสแตนดาร์ด (American Standard) โกรเฮ่ (GROHE) และอิแนกซ์ (INAX) เราได้สอบถามเขาถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้นในตอนนี้ และตัวเองมีมุมมองอย่างไร รวมทั้งเทรนด์การออกแบบห้องน้ำยุคหลังโควิดจะเป็นเช่นไร และนี่คือความเห็นของ Product Designer ตัวจริง…
ดีไซน์เนอร์ที่ดีต้องคิดอย่างไร
“ผมเข้าใจดีว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเจ้า AI ก็ทำออกมาได้อย่างน่าทึ่งเลยใช่ไหมละ” เขาตอบรับถึงสถานการณ์ตอนนี้ ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า
“อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงสูงสุดคือ ประโยนช์กับผู้ใช้งาน สิ่งที่ทำออกมามีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งมันเริ่มจากความเข้าใจผู้บริโภค อีกส่วนหนึ่งที่ต้องคิดถึงคือความเหมาะสมของแบรนด์ แล้วตระหนักว่าแบรนด์ของเรามีคุณค่า(value) เรื่องไหน และเกิดขึ้นมา(stand for) เพื่ออะไร”
“หลายครั้งที่เทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้นมาแล้วมันก็ดูจะดี มีประโยชน์มาก แต่การเป็นดีไซน์เนอร์ต้องรู้จักเลือกว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด อย่างเช่นงานของเราคือการออกแบบห้องน้ำ บางคนพูดถึงเทคโนโลยี IoT หรือ Voice Assistant สิ่งที่เราต้องคิดคือ ย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วผู้บริโภคได้ต้องการคุยกับห้องน้ำขนาดนั้นหรือ บางคำสั่งมีประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันเราต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และความเหมาะสมกับการใช้งานจริง ดีไซน์เนอร์ที่ดีต้องรู้จักเลือก ไม่ใช่แค่คิดเรื่องกิมมิค”
“ครั้งหนึ่งผมเคยไปประชุมที่เซี่ยงไฮ้ วันนั้นผมไม่ค่อยสบายด้วย พอกลับถึงโรงแรมก็อยากจะอาบน้ำ แล้วนอน แต่กลายเป็นว่าผมไม่เข้าใจว่าต้องกดปุ่มไหนในห้องน้ำที่ออกแบบได้เท่มากๆ แล้วต้องโทรถามเจ้าหน้าที่ของโรงแรม แน่นอนว่าอุปกรณ์ในห้องน้ำต่างๆ ไม่ใช่โปรดักท์ของเรานะ และผมคงไม่บอกว่าแบรนด์อะไร แต่นี่คือตัวอย่างของการออกแบบที่ไม่คำนึงถึงการใช้งานของผู้บริโภค”
หลังจากเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟังแล้ว คุณอันทวน เล่าถึงวิธีการการออกแบบสินค้าของเครือ Lixil ผ่านโปรดักท์หนึ่งที่ ชื่อว่า DuoStix หัวของสายชำระ จากแบรนด์ American Standard ที่เป็นแท่งตรง มีความพิเศษที่ส่วนหัวสามารถถอดออกมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะหันหัวฉีดไปทิศทางไหน นอกจากนี้ยังถอดออกมาเพื่อใช้ตัวสายฉีดเป็นหัวฉีดแรงดันสูงเอาไว้ใช้ทำความสะอาดพื้นที่ในห้องน้ำก็ได้
เขาเล่าว่าสินค้าชิ้นนี้ เริ่มต้นด้วยการหาอินไซต์ของผู้คนจนทราบว่า แต่ละคนมีวิธีใช้ “สายชำระ” ไม่เหมือนกัน ต่างทิศทางกันออกไป ขณะเดียวกันแรงดันของน้ำที่ควบคุมได้ยาก เพราะน้ำแต่งบ้านก็แตกต่างกัน แต่เมื่อผ่านอุปกรณ์ของ American Standard ทำอย่างไรที่สายน้ำจะนุ่ม ผู้สูงอายุ เด็ก หรือคนที่ผิวหนังบอบบาง มีอาการแพ้ก็ใช้ได้ แต่ต้องเพียงพอสำหรับการทำความสะอาด ปิดท้ายด้วยการใส่ใจเรื่องฟังก์ชั่น ที่ทำให้ตัวสายฉีดเอง สามารถใช้งานได้หลากหลาย ล้างห้องน้ำ ล้างไม้ม็อบ เหมาะสมกับประเทศที่มีพื้นที่น้อย จนอุปกรณ์ในห้องน้ำต้องสามารถทำงานได้มากกว่า 1 ฟังก์ชั่น นี่เองเป็นความใส่ใจที่ทางทีมออกแบบต้องทำการบ้านอยู่นาน
นอกจากนี้ เขายังเล่าถึงการออกแบบแผงปุ่มกดของชักโครกญี่ปุ่น ที่ทางทีมของ Lixil พยายามสร้าง Easy Set โดยออกแบบให้ปุ่มกดเข้าใจง่ายที่สุด เช่น ฟังก์ชั่นที่ถูกใช้มากที่สุดจะเป็นปุ่มที่ใหญ่ที่สุดและวางไว้ในตำแหน่งที่สังเกตุให้ได้ง่ายที่สุด แล้วไล่เรียงขนาดของปุ่มไปที่ฟังก์ชั่นอื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจและคุ้นเคย
“บางครั้งหลังจากที่เราฟังผู้บริโภคบอก สัมภาษณ์ พูดคุยกับพวกเขา จนเราแน่ใจแล้ว แต่เมื่อนำไปออกแบบ แล้วทำ Prototype จริงออกมา แล้วกลับไม่ใช่อย่างที่เราคิด เราต้องรับฟังความเห็นในด้านลบด้วย แล้วทีมของเราก็ต้องกลับไปออกแบบใหม่ แน่นอนว่าไม่มีใครแฮปปี้ แต่สิ่งที่เราทำก็ได้ ก็คือ Test – Test และ Test อยู่อย่างนั้น จนกว่าจะมั่นใจว่าสินค้าเราตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดอย่างแท้จริง จึงจะผลิตออกมา นั่นเป็นหัวใจของเรา และเราก็ต้องเรียนรู้จากทีมอื่น ภูมิภาคอื่นๆ” คุณอันตวนเล่าถึงการทำงานของดีไซน์เนอร์
“ห้องน้ำ” ยุคหลังโควิด-19 ความสะอาดที่มาพร้อมกับความมั่นใจ
นอกเนือจาก AI เทคโนโลยีสุดล้ำแล้ว เทรนด์การออกแบบและใช้งานห้องน้ำอีกอย่างที่เขามองว่ามาแรง ก็คือ มุมมองของผู้บริโภคที่คำนึงถึงห้องน้ำ เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ผู้บริโภคคาดหวังว่า “ห้องน้ำ” จะต้องมีความสะอาดมากขึ้น ดังนั้นเทคโนโลยี Touchless ทั้งหลายจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่มาแรง โดยเฉพาะในโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ต่างๆ จากเดิมที่จะเห็นบริเวณอ่างล้างมือ ปัจจุบันนี้ขยายมาเป็นที่ชักโครกด้วยแล้ว ผู้ใช้งานไม่อยากเอื้อมมือไปกดน้ำ แต่ต้องการให้อุปกรณ์สามารถกดน้ำชำระล้างได้เองอัตโนมัติ รวมทั้งความเคยชินนี้ไม่จำกัดอยู่แค่ “นอกบ้าน” อีกต่อไปแล้ว
“เทรนด์นี้ ( Touchless) มาแรงในพื้นที่สาธารณะ อาคารต่างๆ ที่มีผู้คนเข้ามาใช้งานร่วมกัน ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้ใช้งาน ต้องทำให้เขามั่นใจเรื่องความสะอาดได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันเป็นเรื่องของ Public Space แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความต้องการนี้เกิดขึ้นกับห้องน้ำที่อยู่ในบ้านด้วย มันเป็นเรื่องของ Mentality และความเคยชินที่เกิดขึ้นหลังจากโควิด ซึ่งมันก็ทำให้เราขยายตลาดได้อีก นอกจากนี้ห้องน้ำมีความพิเศษตรงที่ ห้องน้ำคือ Safe Space ของทุกคน เวลาที่คุณต้องการความเป็นส่วนตัวสุดๆ คุณก็เข้าห้องน้ำ ไม่มีใครตามเข้าไปได้ ดังนั้นสำหรับห้องน้ำในบ้าน ต้องเพิ่มเติมเรื่องของความสบายที่เป็นส่วนตัว เพื่อรีแลกซ์”
“ส่วนเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วจะคงอยู่ตลอดไปก็คือ เรื่องของความสะอาดที่เดิมก็มีความสำคัญลำดับต้นๆ อยู่แล้ว นับจากนี้จะยิ่งยกระดับขึ้นไปอีกในทุกๆ พื้นที่ คนเราจะล้างมือบ่อยขึ้น และความสะอาดจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Service ที่ต้องได้รับการการันตี”
ทั้งหมดนี้ คือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นสำหรับวงการออกแบบ เมื่อโจทย์ใหญ่ของเหล่านักออกแบบจะต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีที่กำลังถูกตั้งคำถามว่าจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์หรือไม่ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่คาดหวังจากสินค้า บริการและสถานที่ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งตลอดการพูดคุย คุณอันตวน เน้นย้ำถึงคำว่า Purposeful อยู่เสมอ ดีไซน์เนอร์ทั้งหลายต้องหวนกลับไปคำนึงถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการออกแบบ จึงจะอยู่รอดในความท้าทายนี้!