แม้สถานการณ์โควิดคลี่คลาย แต่ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับวิกฤติใหม่ๆ ที่สร้างปัญหา ไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อ ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ สงครามยูเครน-รัสเซีย ยืดเยื้อมาปีกว่ายังไม่จบ กระทบกับเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังดูเลวร้าย สถานการณ์แบงก์ล้มที่เริ่มจาก Silicon Valley Bank (SVB) สหรัฐ ไปถึงธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ล้วนเป็นวิกฤติที่หลากหลาย (Polycrisis) ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค และแบรนด์ต่างๆ ต้องรับมือกับความท้าทายในปี 2023
เพื่อศึกษาความเห็นและทัศนคติของประชากรทั่วโลกต่อสถานการณ์ต่างๆ ในปีนี้ “อิปซอสส์” (Ipsos) บริษัทวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคระดับโลก ได้จัดทำรายงานการศึกษา Ipsos Global Trend 2023 ชี้ให้เห็นถึงภาวะวิกฤติโลก ก้าวเข้าสู่ยุคโลกแห่งความไร้ระเบียบ (A New World Disorder) ในปี 2023
รายงานชุดนี้เป็นการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ “อิปซอสส์” เคยนำเสนอมาโดยสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 48,000 คน ใน 50 ตลาดประเทศ ครอบคลุม 70% ของประชากรโลก และ 87% ของ GDP รวมถึงเอเชีย 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม โดยสำรวจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงของความคิดเห็นของประชากรในแต่ละปี
คุณอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ และคุณพิมพ์ทัย สุวรรณศุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ อิปซอสส์ กล่าวว่ารายงานชุดนี้เริ่มสำรวจมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อวิเคราะห์เรื่องของกระแสประชานิยม การสร้างแบรนด์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี ข้อมูลและความปลอดภัย การเมือง และประเด็นทางสังคม โดยอัพเดทการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ปี 2023 ทั่วโลกมองวิกฤติถาโถมเคราะห์ซ้ำกรรมซัด
ผลการศึกษาชุดนี้ ชี้ให้เห็นถึงการก้าวเข้าสู่โลก Polycrisis ที่มีวิกฤติหลากหลายด้าน หลังจากโลกผ่านพ้นโควิดมาแล้วแนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น แต่ต้องมาเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยาวนานกว่า 1 ปีและยังไม่จบ ทำให้เกิดมาตราการแซงก์ชั่น กระทบเศรษฐกิจหลายประเทศ ล่าสุดวิกฤติการเงินแบงก์ล้มในสหรัฐ และสวิส ยังเป็นปัญหาที่ต้องจับตาว่าจะลุกลามเพิ่มขึ้นหรือไม่
ปี 2023 เห็นได้ว่าทั่วโลกเจอวิกฤติถาโถมแบบไม่มีเวลาให้หายใจ เรียกว่าเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดก็ว่าได้
รายงานอิปซอสส์ ชี้ให้เห็นถึงความคิดเห็นของประชากรทั่วโลกกว่า 74% มองว่ารัฐบาลและการบริการสาธารณะของประเทศให้ความช่วยเหลือประชาชน “น้อย” เกินไป
โดยตลาดในภูมิภาคเอเชีย มีความกังวลใจสูงกับการเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดย อินโดนีเซีย กังวลเป็นอันดับ 1 ในอัตรา 92% ตามด้วยเวียดนาม 91% ฟิลิปปินส์ 88% ไทย 86% เกาหลี 85% และอินเดีย 85%
สรุป 5 เรื่อง ปี 2023 โลกที่เต็มไปด้วยวิกฤติ
ผลการศึกษาชุดนี้ อิปซอสส์ วิเคราะห์มุมมองผู้คนทั่วโลกจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นผ่าน 12 เทรนด์สำคัญของโลก
ประกอบไปด้วย 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Antgonism) 2. การคำนึงด้านสุขภาพ (Conscientious Health) 3. ความถูกต้อง (Authenticity is King) 4. ภาวะวิกฤติด้านข้อมูล (Data Dilemma) 5. มิติด้านเทคโนโลยี (The TECH Dimension) 6. จุดสูงสุดของโลกาภิวัฒน์ (Peak Globalisation) 7. โลกที่ถูกแบ่งแยก ( A Divided World) 8. จุดเปลี่ยนของทุนนิยม (Capitalism’s Turning Point) 9. การโหยหาและยึดเหนี่ยวกับสิ่งเดิม (The Enduring Appeal for Nostalgia) 10. ปฏิกิริยาต่อความไม่แน่นอนและความไม่เท่าเทียม (Reactions to Uncertainty and Inequality) 11. การมองหาความเรียบง่าย (Search for Simplicity) 12. ตัวเลือกสำหรับการดูแลสุขภาพ (Choices to Healthcare)
สรุป 5 ประเด็นหลักในปี 2023 เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคโลกแห่งความไร้ระเบียบ (A New World Disorder) จากวิกฤตหลากหลาย (Polycrisis) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยากเกินคาดเดา
1. วิกฤติเศรษฐกิจเงินเฟ้อฉุดกำลังซื้อ
วิกฤติเศรษฐกิจถาโถมต่อเนื่องหลายๆ เรื่อง ส่งผลกระทบกับกระเป๋าเงินผู้คนทั่วโลก ที่รู้สึกว่าปีนี้ตนเองยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้กับความยากลำบากด้านการหารายได้ โดยค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 34%
ส่วน “คนไทย” อยู่ในสัดส่วน 27% แม้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่สูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์
โดยประเด็นที่คนไทยรู้สึกมีความกดดันด้านรายได้ คือ กังวลปัญหาเงินเฟ้อ 53% และกังวลรายได้ไม่พอใช้ 48% ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน เพราะเงินเฟ้อทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เงินในกระเป๋าที่จับจ่ายได้จึงลดลง
2. สิ่งแวดล้อมกำลังเข้าสู่วิกฤติ
พบว่าทั่วโลก 80% มีความเห็นตรงกันว่า “กำลังมุ่งหน้าสู่ภัยพิบัติด้านสภาวะแวดล้อม” โดยผู้คนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมมือกันแก้ปัญหา ภาพรวมอัตราเฉลี่ยโลก 75% ยังเชื่อว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์และภาครัฐ ยังไม่เห็นทางที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นนี้ได้
ขณะที่คนไทย มีความกังวลปัญหาสิ่งแวดล้อมสูงกว่าอัตราเฉลี่ยโลก คืออยู่ที่ 86% เพราะตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาปัญหา PM 2.5 เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น จากพื้นที่ต่างจังหวัดภาคเหนือ มาถึงกรุงเทพฯ โดยมองว่าภาครัฐต้องมีนโยบายเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา และภาคเอกชนที่พูดแนวคิด ESG (Environment Social Governance) ในการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนต้องทำเรื่องนี้ให้เห็น ไม่ใช่พูดเพื่อซื้อใจผู้บริโภค
3. สนับสนุนแบรนด์ดูแลสังคม
คนไทย 81% คาดหวังจะเห็นความชัดเจนของแบรนด์และธุรกิจ คือ เป็นแบรนด์สนับสนุนสังคม ดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้สามารถทำเงินได้ในเวลาเดียวกัน
71% คนไทยพร้อมซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบ ถึงแม้จะต้องจ่ายมากกว่าเดิม
57% ยอมจ่ายแพงขึ้นให้กับแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์โดนใจ
โดยมีสถิติที่ต้องการให้ธุรกิจแสดงความจริงใจในการทำธุรกิจ ในแต่ละประเทศดังนี้ อินเดีย 78% อินโดนีเซีย 71% เวียดนาม 64% ฟิลิปปินส์ 60% มาเลเซีย 56% และไทย 50%
4. ขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้
ในภูมิภาคเอเชีย มีความกลัวภาวะวิกฤติด้านข้อมูลและข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในระดับใกล้เคียงกัน โดยเฉลี่ย 60% มีความกลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาทำลายคุณภาพชีวิต และไทยอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยที่ 61% โดย 81% รู้สึกว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสูญเสียความเป็นส่วนตัวในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่
ขณะเดียวกันผู้คนในเอเชียพูดเหมือนกันหมดว่า จินตนาการไม่ได้เลย หากอยู่โดยปราศจากอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับผู้คนทั่วโลก 71% อยู่ไม่ได้ถ้าขาดอินเตอร์เน็ต ส่วนคนไทยอยู่ในอันดับ 10 ของเอเชียที่ขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้ในอัตรา 73%
5. โอกาสของแบรนด์ท้องถิ่น
หากมองในมุมของโอกาสที่เกิดจากวิกฤติที่ผู้บริโภคทั่วโลกต้องเจอในปี 2023 ก็ยังมีโอกาสสำหรับนักการตลาดและแบรนด์อยู่เช่นกัน
– ประเด็นความกังวลเรื่องรายได้ลดลง ทำให้คนไทย ที่เดิมใช้สินค้ามัลติแบรนด์ ทั้งอินเตอร์แบรนด์และแบรนด์ไทย จากภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้สินค้าอินเตอร์แบรนด์ปรับขึ้นราคา คนไทยก็หันมาซื้อสินค้าโลคอลแบรนด์มากขึ้น เพราะเงินจับจ่ายลดลงและเลือกซื้อสินค้าจำเป็น
– คนไทย 73% พร้อมซื้อสินค้าโลคอลแบรนด์ที่มีนโยบายช่วยเหลือชุมชนและดูแลสิ่งแวดล้อม โดย 75% สนใจซื้อสินค้าช่องทางออนไลน์ ที่เสนอเงื่อนไขให้ดีกว่าช่องทางปกติ
สำหรับบทสรุปวิจัย Ipsos Global Trend 2023 ในกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลก 50 ประเทศ ยังมองเศรษฐกิจและประเด็นสังคมในแง่ “ลบ” จึงกังวลกับเรื่องปากท้อง โดยมีสัดส่วน 65% ที่เชื่อมั่นว่าปี 2023 จะเป็นปีที่ดีกว่าปีก่อน (ปี 2022 อยู่ที่ 77%) ถือเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลก แต่ยังมีมุมที่เป็นปัจจัยบวกจากการเลือกตั้งในปีนี้ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นในช่วงการหาเสียงได้
ผลการศึกษานี้ Ipsos ได้เปิดสัมมนาออนไลน์ฟรี Global Trends–Thailand Webinar ในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ลงทะเบียนได้ที่ https://www.ipsos.com/en-th/ipsos-global-trends-2023-thailand-webinar