ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง หลังจากที่เหลือผู้เล่นรายใหญ่แค่สองราย จากการถอนตัวออกไปของ JD.com เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยภาพของการเปลี่ยนแปลงถูกถ่ายทอดผ่านผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเบอร์ใหญ่ของวงการอย่างลาซาด้า (Lazada) ที่คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในปีนี้จะเติบโตขึ้น 13% หรือคิดเป็นมูลค่า 6 แสนล้านบาท และจะทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซมีส่วนแบ่งในธุรกิจค้าปลีกเป็น 16% นอกจากนี้ ทางลาซาด้ายังคาดการณ์ด้วยว่า ภายในปี 2025 ผู้ใช้งานอีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตขึ้นเป็น 61.8% ของจำนวนประชากร หรือเท่ากับ 43.5 ล้านคนเลยทีเดียว
ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มลาซาด้าเองนั้น พบว่าในปี 2022 ที่ผ่านมา มีตัวเลขที่น่าสนใจในหลาย ๆ ด้านดังนี้
- – 74% ของนักช้อปไทยซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้ง
- – 25% ของนักช้อปไทยซื้อสินค้าออนไลน์หลายครั้งต่อสัปดาห์
- – จำนวนผู้ขายบนลาซาด้าเพิ่มขึ้น 30% ในปี 2022 (เทียบกับปีก่อนหน้า)
คนไทยไม่รอแคมเปญ – ซื้อสินค้าพรีเมียม – ช้อปล่วงหน้าเพิ่ม
ด้านคุณธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ ลาซาด้า ประเทศไทย เผยข้อมูลเชิงลึกของแพลตฟอร์มด้วยว่า พบการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการช้อปของคนไทยที่น่าสนใจหลายด้าน เช่น แทนที่จะรอซื้อสินค้าในช่วงเทศกาล คนไทยกลับตัดสินใจซื้อล่วงหน้าก่อนเทศกาลหลาย ๆ วัน พร้อมอ้างอิงถึงเทศกาลวาเลนไทน์ที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังพบว่านักช้อปชาวไทยเริ่มซื้อสินค้าที่มีราคาสูงมากขึ้นในกลุ่มกล้องดิจิทัล – โทรศัพท์มือถือด้วย
ขณะที่สินค้าขายดีของแพลตฟอร์มนั้น คุณธนิดาเผยว่า พบการเติบโตในกลุ่มลิปสติก, น้ำหอม และครีมอาบน้ำ อีกครั้ง พร้อมให้เหตุผลว่า อาจมาจากการเปิดเมืองที่ทุกคนต้องกลับไปทำงาน จึงทำให้มีการแต่งหน้าเพิ่มขึ้นก็เป็นได้
ลาซาด้า’2023 เลิกสานต่อแคมเปญเลขคู่?
สำหรับหลายคนที่คาดหวังว่าจะได้เห็นแคมเปญเลขคู่ที่มาพร้อมโปรโมชันแรง ๆ แบบในอดีตที่ผ่านมา ทางผู้บริหารลาซาด้ากลับมองว่า การปรับแนวทางการจัดแคมเปญเป็นการจัดอีเวนท์แบบต่อเนื่องถึง 11 วันก็ถือว่าแรงไม่แพ้กัน ประกอบกับเวลานี้ ลาซาด้าพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยพวกเขามองว่าการซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไม่จำเป็นต้องซื้อในช่วงโปรโมชันอีกต่อไป แต่สามารถซื้อได้ตลอดเวลา จึงนำไปสู่การปรับรูปแบบอีเวนท์ของลาซาด้าในเดือนมีนาคมนี้ให้เป็นการขายรูปแบบใหม่ที่ใช้เวลาถึง 11 วันนั่นเอง (ตั้งแต่ 3 – 13 มีนาคม 2023)
แคมเปญแบบใหม่แยกอีเวนท์เป็น 2 ช่วง
ผู้บริหารลาซาด้าเผยว่า สำหรับอีเวนท์ใหญ่ 3.3 นี้จะแบ่งออกเป็นสองช่วง นั่นคือ 3 – 5 มีนาคมที่จะมีการดีลพิเศษต่าง ๆ ออกมาโดยเฉพาะ แต่หลังจากนั้น (6 – 13 มีนาคม) จะเป็นการจัดแคมเปญตามหมวดหมู่ของสินค้า เช่น วันที่ 6 เป็นสินค้าหมวดแม่และเด็ก หรือวันที่ 12 เป็นสินค้าหมวดบ้านและสวน เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งที่ลาซาด้าจะให้ความสำคัญมากขึ้นก็คือเรื่องของประสบการณ์ในการใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่บริษัทจะให้บริการ (บางตัวเริ่มให้บริการไปแล้ว) มีตั้งแต่
- LazPayLater บริการแบบช้อปก่อนจ่ายทีหลัง
- บริการห่อของขวัญ พร้อมแนบข้อความพิเศษโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- บริการติดตั้งสินค้า (หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า)
- การคืนสินค้าแบบไม่มีค่าใช้จ่าย
- บริการ Virtual Try-On สำหรับสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง
- บริการ Try & Buy (แบรนด์ให้สินค้าทดลองก่อนเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้จริงก่อนตัดสินใจซื้อ)
ตั้งเป้าผู้ใช้แตะ 300 ล้านคนในปี 2030
ลาซาด้าเผยด้วยว่า ตัวเลขผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเป็นประจำนั้นอยู่ที่ 160 ล้านราย (รวมผู้ใช้บริการในไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม) ซึ่งทางแพลตฟอร์มตั้งเป้าว่า จะมีผู้ใช้งานทะลุ 300 ล้านคนในปี 2030 ส่วนกลยุทธ์ของลาซาด้าในการก้าวไปให้ถึงจุดนั้น คุณธนิดาเผยว่า เป็นการลงทุนสร้าง Ecosystem อย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบโลจิสติกส์ ที่ปัจจุบัน ถือเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้นยังมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถรองรับคำสั่งซื้อจำนวนมาก ๆ ได้ รวมถึงมีช่องทางการชำระเงินที่ปลอดภัย และเสถียรมากพอสำหรับวันที่มี Transactions สูง ๆ ด้วย
“เราโชคดีที่มีบริษัทแม่อย่างอาลีบาบา (Alibaba) ทำให้เราสามารถนำเทคโนโลยีหลาย ๆ ตัวที่มีการใช้งานในจีนมาใช้กับประเทศไทย นอกจากนั้นเรายังลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยเน้นไปที่การลงทุนระยะยาว เพื่อสร้างรากฐานของอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก”
คุณธนิดายังกล่าวถึงการถอนตัวออกจากตลาดไทยของ JD.com ด้วยว่าไม่ส่งผลต่อลาซาด้าแต่อย่างใด