บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เจ้าของปั๊มน้ำมัน PT เป็นที่รู้จักโดยมีจุดเริ่มต้นมาจากกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” สร้างการเติบโตมาจากรอบนอกด้วยการขยายสาขาในต่างจังหวัด ตรอก ซอก ซอยต่างๆ ก่อนจะเริ่มขยับขยายเข้ามาในเขตเมืองมากขึ้นตลอด โดยปี 2565 ที่ผ่านมา PTG ประกาศทรานฟอร์มตัวเองครั้งใหญ่สู่การเป็น Opportunity Seeker ที่มองหาน่านน้ำใหม่ทางการเติบโต
นำไปสู่การจัดพอร์ตโฟลิโอและพัฒนา 8 กลุ่มธุรกิจขึ้นมาใหม่ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจน้ำมันและแก๊ส 2.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 3.ธุรกิจ Retail แบบที่เป็น Offline to Online 4.ธุรกิจขับเคลื่อนยานยนต์โลจิสติกส์และซัพพลายเชน 5.ธุรกิจซ่อมบำรุง 6.ธุรกิจสุขภาพ ทั้งกายและใจ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย 7.ธุรกิจ Digital Platform ทั้งการเงินและ Lifestyle และ 8.พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด
ทั้งหมดจะเข้ามาเติมเต็มส่วนธุรกิจหลัก (เดิม) อย่าง “ธุรกิจน้ำมัน” และเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ให้ PTG ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเพื่อให้สอดรับ “เมกะเทรนด์” ของโลกในอนาคต และเป็นธุรกิจที่จะสนับสนุนให้กำไรจากธุรกิจ Non-oil เพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2569 เป็นการสลัดภาพจากอดีตที่ทุกคนมักมองว่า PTG คือ “ปั๊มบ้านนอก” หรือ “สิงห์ภูธร” สู่ภาพจำในการขยายไปยังกลุ่มธุรกิจใหม่ๆเพื่อก้าวสู่ความเป็น Thailand’s Most Trusted Platform ในอีก 5 ปี
กางแผน 5 ปี สู่เป้าหมาย Thailand’s Most Trusted Platform ต้องเป็นมากกว่าปั๊มน้ำมัน
ทั้งนี้หากย้อนดูผลประกอบการของธุรกิจน้ำมัน หรือ Oil ในปี 2565 ที่ผ่านมาของ PTG มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านทุกช่องทางสูงเป็นประวัติการณ์คิดเป็น 5,316 ล้านลิตร เติบโต 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักของการเติบโตเป็นผลมาจากช่องทางการค้าปลีกผ่านสถานีบริการมากกว่า 6.6% โดยปีที่ผ่านมาสถานีบริการน้ำมัน PT สิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,149 สถานี
แม้จะทำให้ PTG ประสบผลสำเร็จในส่วนของธุรกิจน้ำมันในไทย ทว่าจากเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป บวกกับในโลกยุคหลักการระบาดของโควิด-19 ทำให้ “น้ำมัน” เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการเติบโตในระยะยาว หากแต่คือการมองหาโอกาสทางการเติบโตใหม่ๆให้แก่ธุรกิจด้วยการขยายไปยัง Non-Oil มากขึ้น
โดยสเต็ปแรกของ PTG กับก้าวใหม่ในช่วง 2-5 ปีนับจากนี้ คือย้ำจุดเปลี่ยนจาก Follower เป็น Challenger สู่เป้าหมาย Thailand’s Most Trusted Platform หรือการเป็นแบรนด์ที่มากกว่าปั๊มน้ำมัน โดยจะเร่งทั้งเร่งผลักดันให้อีก 2 ขาธุรกิจอย่าง “กาแฟพันธุ์ไทย-แก๊สหุงต้ม” ขึ้นแท่นเบอร์ 2 ในทุกช่องทางของแต่ละอุตสาหกรรมให้ได้ หลังประสบความสำเร็จพาธุรกิจน้ำมันขึ้นแท่นเบอร์ 2 เป็นผลสำเร็จมาแล้ว
ภายใต้กรอบการลงทุนในปี 2566 PTG วางงบประมาณไว้ทั้งสิ้นราว 5,000-6,000 ล้านบาท โดย 80% จะถูกแบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของธุรกิจ Non-Oil 2,000-2,500 ล้านบาท New Business ราว 1,500 -2000 ล้านบาท ขณะที่อีก 20% จะเป็นงบประมาณด้านการลงทุนในส่วนของธุรกิจ Oil
คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า “แม้เราจะลดบทบาทการลงทุนในธุรกิจน้ำมันเหลือเพียง 20% จากงบลงทุนทั้งหมดแต่เราก็ไม่ได้ลดบทบาทการทำธุรกิจ Oil ลงแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการเร่งการเติบโตให้ธุรกิจใหม่ โดย ก้าวต่อไปจะเปลี่ยนจากการทำปั๊มน้ำ (Oil และ None-Oil) สู่การ Co-Creation และถ้าเราอยากจะไปได้เร็วเราต้องไปคนเดียว แต่ถ้าเราอยากไปได้ไกลวันนี้ต้อง Collaboratoin และต้องเปลี่ยนจากที่โฟกัสบนรถยนต์ เป็นคนที่อยู่หลังพวงมาลัย เพื่อสร้าง Customer Centric ร่วมกันแบบไร้รอยต่อหรือ O2O
และการจะไปให้ถึงเป้าหมายเหล่านี้ PTG มีวิวัฒนาการใช้ข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา เราเจอโน้น เจอนั่นมากมาย แต่เรายังไม่ได้เจอนี่ (Journey) ของลูกค้า ผมเชื่อว่าวันนึงถ้าเราเจอ Journey ของลูกค้า เราถึงจะต่าง และอีก 5 ปีนับจากนี้ เราจะชิปจาก Follower เป็น Challenger และ PT จะกลายเป็น Thailand’s Most Trusted Platform ที่ไม่ได้เป็นแค่ปั๊มน้ำมัน
โดยตลอดช่วงปีที่ผ่านมาธุรกิจ Non-Oil ของ PTG มีการเติบโตในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น จำนวน Touchpoint ที่เติบโต 36% รายได้เติบโต 68% ทำให้ภาพใหญ่ของ PTG นับจากนี้คือการเทนำ้หนักของการลงทุนมายังกลุ่มธุรกิจ Non-Oil ด้วยการกางโรดแมปการดำเนินงานภายใต้วิชั่นที่ “อยากเชื่อมคนไทยทุกคนเข้าด้วยกันให้มีชีวิตที่อยู่ดีมีสุขในทุกช่วงของชีวิต” ผ่าน 3 กลยุทธ์หลักในการผลักดันการเติบโต ได้แก่
- การขยายสาขา ขยายบริการ
- การยกระดับบริการ
- การเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับคู่ค้าต่างๆ ในการก้าวเติบโต ไปจนถึง การ Co-Creation ร่วมกันกับผู้ประกอบการต่าง รวมไปถึงตาร์ทอัพที่ยังขาดโอกาสในการขยายสาขา หรือการสนับสนุนด้านต่างๆ
“กาแฟพันธุ์ไทย”จิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่เติมเต็มพอร์ต Non-Oil กับ 4 กลยุทธ์สู่เขตเมือง
เมื่อเจาะลึกความสำเร็จของปั๊มพีทีไปอีกสเต็ป พบว่า ในส่วนของธุรกิจ Non-Oil กาแฟพันธุ์ไทยคือส่วนสำคัญในการเป็นแม่เหล็ก ในการสร้างความเข้าถึงของลูกค้าหลังปีที่ผ่านมา “กาแฟพันธุ์ไทย” ฉลองครบรอบ 10 ปีอย่างยิ่งใหญ่ ไปพร้อมกับสร้างผลกำไรได้เป็นครั้งแรก โดยตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา “กาแฟพันธุ์ไทย” สามารถสร้างเติบโตในแง่ของการขยายสาขาจากปีก่อนหน้า 60.7% และยอดขายเติบโตกว่า 76% ซึ่งปัจจัยหลักส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไม่ปรับขึ้นราคาสินค้า
ขณะที่ในปี 2566 PT ตั้งเป้าว่าจะขยายสาขา “ร้านกาแฟพันธุ์ไทย” เพิ่มเป็น 1,500 สาขา จากปี 2565 ที่มีอยู่ 511 สาขา พร้อมกับวางแผนงานระยะยาวในการสร้างการเข้าถึง เพื่อให้ลูกค้าสามารถหาดื่มได้ง่ายขึ้น ด้วยการขยายร้านกาแฟพันธุ์ไทยให้ครบทุกปั๊มน้ำมันของตัวเอง และขยายเข้ามาเขตเมืองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมองว่าพฤติกรรมคนเมืองส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกาแฟสดมากกว่ารอบนอก และใน 5 ปี จะมีกาแฟพันธุ์ไทยไม่น้อยกว่า 5,000 สาขา และร้าน “กาแฟพันธุ์ไทย” จะต้องเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ได้ในปี 2568
ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ “กาแฟพันธุ์ไทย” เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ นับจากนี้ PTG จึงได้วางหมากในการสร้างการติบโตให้แก่แบรนด์ ผ่านกลยุทธ์หลักใน 4 ด้าน ได้แก่
1.การขยายสาขาแบบแฟรนไชส์ ทั้งภายในและนอกสถานีปั๊มน้ำมัน โดยจะเน้นทำที่เข้ามาในเขตเมืองมากขึ้นทั้งในย่านธุรกิจที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล เมืองท่องเที่ยว รวมไปถึงหัวเมืองตามจังหวัดต่างๆ โดยมีรูปแบบแฟรนไชส์ทั้งสิ้น 5 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบ Kiosk, Food Truck, Trailer, Build in และ Stand Alone โดยลงทุนเริ่มต้น 1.25 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาด
2.การพัฒนาเมนูเครื่องดื่มใหม่ๆ ภายในร้าน ซึ่งจะมีทั้งเมนูซิกเนเจอร์สไตล์ไทย และเมนูที่มีความต้องการในขณะนั้น โดยที่ผ่านมาได้มีการใช้วัตถุดิบคุณภาพจากเกษตรกรไทย เช่น ตาลโตนดจากสทิงพระ สงขลา และ ส้มมะปี๊ดจากจันทบุรี มาเป็นส่วนประกอบของกาแฟและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
3. เน้นบริการรูปแบบดิลิเวอรี่ เพื่อสร้างการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น ด้วยรูปแบบที่แตกต่างผ่านกิจกรรมการตลาดต่างๆ
4.นำข้อมูลจาก PT Max Card และ PT Max Card Plus มาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมความต้องการของลูกค้าและพัฒนาให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
“หัวใจสำคัญของการเชื่อมลูกค้าเข้าด้วยกันในชีวิตประจำวันคือ สมาชิกบัตร Max Card ที่จะเพิ่มขึ้น 30 ล้านราย ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 19 ล้านราย ที่เปรียบเสมือน Max’s World เชื่อมผ่านแอพพลิเคชั่น Max Me ที่เป็น Application และ e-Wallet ที่จะช่วยต่อยอดฐานสมาชิกในโลกออนไลน์ คือการใช้จ่ายผ่านแต้มให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งานร่วมกัน เป็นแพลตฟอร์มการใช้จ่ายที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”
นอกจาก “กาแฟพันธุ์ไทย” แล้ว อีกหนึ่งเรือธงที่จะเข้ามาเสริมพอร์ตในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของ PTG คือ “คอฟฟี่ เวิลด์” (Coffee World) ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 26 สาขาเพื่อ โดยเข้าไปเจาะตลาดลูกค้าที่ชื่นชอบการเดิมห้างฯ ในเขตเมือง เป็นการเจาะตลาดระดับกลางบน ซึ่งการมีทั้ง 2 แบรนด์จะทำให้เพิ่มโอกาสขยายแบรนด์ไปได้เร็วขึ้น
Diversify สู่ธุรกิจ EV ก้าวสู่จุดเริ่มต้นรุกธุรกิจรถยนต์–พลังงานทดแทนเต็มสูบ
อีกหนึ่งก้าวใหม่ที่น่าสนใจของ PTG ในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ Non-Oil คือการ Diversify ธุรกิจสู่ EV (EV Charging Station) โดยได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เพื่อติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์อีวีภายในสถานีบริการน้ำมัน PT ภายใต้ชื่อ Elex by EGAT Max โดยสิ้นปี 2565 ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าไปแล้ว 35 สถานี แม้หลายคนจะมองว่าน้อยแต่ครอบคลุมทั่วประเทศจากเหนือจรดใต้ ซึ่งทางค่ายมองว่าเพียงพอต่อปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้แล้ว โดยในอนาคตมีแผนที่จะติดตั้งไปตามจุดสำคัญๆ
ขณะที่ ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV ในปี 2566 มีโอกาสตัวเลขแตะระดับ 50,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 270% เมื่อเทียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 13,454 คัน และจะเพิ่มแตะระดับ 300,000 แสนคัน ภายในปี 2568
จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนการเติบโตของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV ที่ดีในอนาคต แต่ “คุณพิทักษ์” บอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะปูพรมจุดชาร์จ EV และรุกคืบอย่างเต็มสูบ เพราะจำเป็นต้องมีดีมานด์ในตลาดให้เพียงพอเสียก่อน โดยจะวัดจากงานมอเตอร์ ที่จะต้องมียอดการจองรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ถึง 10,000 คัน เมื่อนั้น PTG จะเร่งเครื่องขยายจุดชาร์จ EV แบบเต็มสูบทันที
“เมื่อมียอดจองรถในงานมอเตอร์โชว์มากกว่า 1 หมื่นคันเมื่อไร PTG จะปูพรมจุดชาร์จ EV ทั่วประเทศทันที และ ภาพรวมตลาดไปถึงจุดนั้นแล้วที่จะขยายจุดชาร์จ EV เพิ่ม 300-400 สาขาต่อปีก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป” คุณพิทักษ์กล่าว
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน PTG มีจำนวนสาขาของธุรกิจ Non-Oil ภายใต้การบริหารงานในสิ้นปีที่ 2565 ผ่านมาอยู่ที่ 1,526 สาขา แบ่งเป็น
- ร้านกาแฟพันธุ์ไทย 511 สาขา
- ธุรกิจ LPG แบ่งเป็น สถานีบริการ Auto LPG 231 สถานีบริการ และร้านจำหน่ายก๊าซ LPG บรรจุถัง (Gas Shop) 253 สาขา
- ร้านสะดวกซื้อ Max Mart 309 สาขา
- ร้านคอฟฟี่ เวิลด์ 26 สาขา
- ศูนย์บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์ Autobacs 45 สาขา
- ศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมัน Maxnitron Lube Change 52 สาขา
- จุดพักรถ Max Camp 64 จุด
- สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging) 35 จุดชาร์จ
อ่านเพิ่มเติม
10 ข้อคิด Underdog Spirit ‘พิทักษ์ รัชกิจประการ’ แห่ง PTG กับความกล้า ความบ้า และลงมือทำจริง