อุตสาหกรรมหนังสือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น พฤติกรรมผู้คนให้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น สะท้อนได้จากมูลค่ายอดขายที่ลดลงมาต่อเนื่อง นับตั้งแต่ยุครุ่งเรือง ปี 2557 อุตสาหกรรมหนังสือมีมูลค่าสูงสุด 30,000 ล้านบาท มีร้านหนังสือทั่วประเทศกว่า 2,600 ร้าน งานสัปดาห์หนังสือฯ (Book Fair) มีคนเข้างานกว่า 2.9 ล้านคน ทำยอดขายสูงสุดได้ 600 ล้านบาท
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาต้องเจอปัจจัยลบซ้ำจากสถานการณ์โควิด ทำให้ปี 2563-2564 เป็นช่วงต่ำสุด อุตสาหกรรมหนังสือมีมูลค่าอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท ร้านหนังสือลดจำนวนลงเหลือ 800 ร้านทั่วประเทศ (ร้านสแตนด์อโลน 100 ร้าน และเชนร้านหนังสือ 700 ร้าน)
แม้มีแพลตฟอร์มออนไลน์ เข้ามาเป็นช่องทางซื้อใหม่ แต่ไม่ได้ทดแทนการขายจากร้านหนังสือ เพราะพฤติกรรมลูกค้าเมื่อมาที่ร้านหนังสือจะเลือกซื้อหลายเล่ม โดยเลือกดูจากชาร์จ Best Sellers เป็นสิ่งแรก ทำให้เกิดการซื้อมากขึ้นจากการเห็นคนอื่นซื้ออ่าน ขณะที่การซื้อจากออนไลน์จะเลือกซื้อทีละเล่ม
อุตสาหกรรมหนังสือเริ่มฟื้น
คุณทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่าหลังโควิดคลี่คลาย เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปลายปีก่อนที่เริ่มกลับมาจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ (Book Expo) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (เป็นการกลับมาจัดงานที่ศูนย์สิริกิติ์ อีกครั้งหลังปิดปรับปรุงตั้งแต่ปี 2562) ตัวเลขต่างๆ เริ่มดีขึ้น
“มองว่าอุตสาหกรรมหนังสือผ่านจุดต่ำสุดในช่วงโควิดไปแล้ว ไม่น่าจะลดลงไปกว่านี้อีก และคนในอุตสาหกรรมผ่านมาหลายวิกฤติ มีการปรับตัวและอยู่ได้แล้ว แต่ยอดขายคงไม่กลับแตะระดับสูงสุด 30,000 ล้าน เหมือนในยุครุ่งเรือง เพราะร้านหนังสือที่เป็นหน้าร้านขายหนังสือลดจำนวนไปมาก”
จากแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมหนังสือในปีนี้ คาดว่าจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 (Book Fair) ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 9 เมษายน 2566 ที่ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะมีคนเข้างานกว่า 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น “เท่าตัว” เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งจัดงานที่บางซื่อ มีคนเข้างาน 7 แสนคน เพราะยังอยู่ในช่วงโควิด จำกัดคนเข้า ปีนี้ตั้งเป้าหมายยอดขายภายในงาน 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 199 ล้านบาท
อีกสัญญาณที่มั่นใจว่าอุตสาหกรรมหนังสือกลับมาแล้ว มาจากการสำรวจสำนักพิมพ์ต่างๆ พบว่ามียอดพิมพ์ “หนังสือปกใหม่” เพิ่มขึ้น เฉพาะในงานสัปดาห์หนังสือฯ มีการออกหนังสือปกใหม่รวม 8,000 ปก คาดว่าทั้งปีนี้จะมีหนังสือปกใหม่รวม 20,000 ปก เพิ่มขึ้นจากช่วงโควิดซึ่งอยู่ที่ 17,000-18,000 ปก
พฤติกรรมนักอ่านที่มางานสัปดาห์หนังสือฯ จะใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 500 บาท เน้นซื้อหนังสือปกใหม่ที่ออกในงาน ขณะที่โดยเฉลี่ยคนไทยอ่านหนังสือ 1-3 เล่มต่อเดือน กลุ่มหลักคืออายุ 18-30 ปี และ 55 ปีขึ้นไป
“3 วันแรก” เปิดบริการถึงเที่ยงคืน
สำหรับงานสัปดาห์หนังสือฯ ปีนี้มี 333 สำนักพิมพ์ จำนวน 905 บูธ เพิ่มขึ้นปีก่อนที่มีจำนวน 800 บูธ ปีนี้จัดงานรวม 11 วัน ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 9 เมษายน 2566
โดยมีพิธีเปิดงานวันที่ 30 มีนาคม เวลา 15.00 น. (เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานตั้งแต่เวลา 17.00 น.) โดยปีนี้ 3 วันแรก (30 มีนาคม – 1 เมษายน) เปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน ส่วนวันที่ 2-9 เมษายน เปิดให้บริการ 10.00 – 21.00 น. ตามปกติ
ปีนี้เป็นปีแรกที่ทดลองเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืนใน 3 วันแรกของงาน เนื่องจากได้สอบถามผู้ร่วมงานปีก่อนๆ พบว่ากลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน ต้องการให้ขยายเวลาบริการ เพราะบางกลุ่มเลิกงานค่ำ ต้องใช้เวลาเดินทางมางาน
ภายในงานได้แบ่งโซนจำหน่ายหนังสือทั้งหมด 7 หมวด ได้แก่ หนังสือเด็กและการศึกษา หนังสือต่างประเทศ หนังสือเก่า หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น (Book Wonderland) หนังสือนิยายและวรรณกรรม หนังสือนิยายวาย (Wonder Y) และหนังสือทั่วไป
สำหรับหนังสือมาแรง ปีก่อนกับปีนี้ไม่ต่างกัน คือ กลุ่มการ์ตูน นิยาย Light Novel นิยาย Y ส่วนกลุ่มหนังสือ How to พัฒนาตัวเอง หนังสือแนะนำการลงทุนต่างๆ เป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจมาตั้งแต่ช่วงโควิดและดีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
อีกกลุ่มที่ได้รับความสนใจมากขึ้น คือ นิยายแปลต่างประเทศ เพราะมีแฟนคลับศิลปินต่างชาติ อ่านหนังสือตามไอดอลที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือจากฝั่งตะวันตก โดยสำนักพิมพ์เองจะมีการติดตามเหล่าแฟนคลับว่าพูดถึงหนังสือเล่มไหนที่ไอดอลอ่าน จากแฮชแท็ก เช่น #จินยองอ่าน หรือตามดูศิลปินคนดังว่าอ่านหนังสืออะไร ก็จะตามไปซื้อลิขสิทธิ์มาแปล
ดึงอินฟลูเอนเซอร์กระตุ้นการอ่าน
การจัดงานสัปดาห์หนังสือฯ ปีนี้ภายใต้คอนเซ็ปต์ Bookfluencer : ผู้นำอ่าน เพราะเป็นยุคทองของอินฟลูเอนเซอร์หรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจ สามารถสร้างแรงดึงดูดหรือเปลี่ยนมุมมองความคิดให้กับผู้อื่น ในเรื่องของการอ่านก็เช่นเดียวกัน
คอนเซ็ปต์ Bookfluencer มาจากการจัดงานมหกรรมหนังสือฯ ช่วงปลายปีก่อน ที่มีคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มาเปิดงาน ได้เดินซื้อหนังสือหลายโซน จากนั้นในงานมีป้ายติดว่าหนังสือเล่มไหนที่คุณชัชชาติอ่าน พบว่าทุกเล่มกลายเป็น Best Sellers จากผู้สนใจซื้อตาม
ในวันเปิดงานวันที่ 30 มีนาคม สมาคมฯ ได้ร่วมกับ TikTok ที่จะนำ TikToker สายอ่าน 50 คน มาทำคอนเทนต์แนะนำหนังสือภายในงาน เพื่อกระตุ้นความสนใจนักอ่านและร่วมโปรโมตงานสัปดาห์หนังสือปีนี้