ตลอดกว่า 90 ปีที่ผ่านมา บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีเป้าหมายสำคัญในการทำให้ทุกองค์ประกอบของธุรกิจสามารถส่งมอบคุณค่าไปสู่ผู้คนและสังคมโดยรอบ ทั้งจากการสร้างผลิตภัณฑ์ การสร้างโมเดลธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างคน เพื่อสามารถเป็นตัวแทนส่งต่อความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี ไปสู่คนไทยทุกคนได้ ตามปณิธานสำคัญที่ยึดถือมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ นั่นคือการทำให้ “องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน”
โรงงานต้องดูแลทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
การขยายธุรกิจของบุญรอดฯ โดยเฉพาะการตั้งโรงงานทั้ง 10 แห่ง ตามพื้นที่ต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ผลิตสินค้าเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ “พลเมืองที่ดี” เพื่อมีส่วนช่วยแก้ปัญหาที่แต่ละพื้นที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น นอกจากช่วยสร้างความกินดีอยู่ดี สร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้คนแล้ว ทุกโรงงานยังมีบทบาทในการเข้าไปช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นในพื้นที่ และช่วยกระจายความแข็งแรงออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้ในที่สุด
อีกหนึ่งโจทย์สำคัญของโรงงานแต่ละแห่ง คือ การออกแบบโครงการเพื่อสังคมให้ตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก แต่ละภูมิภาคของประเทศมักมีปัญหาเฉพาะด้านที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน โรงงานแต่ละแห่งของสิงห์ก็จะบูรณาการทั้งองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และกำลังคนที่มีโดยเฉพาะเครือข่ายสิงห์อาสาทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ พร้อมหาทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่งไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ยังสานต่อให้แต่ละโครงการสามารถนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ตัวอย่างเช่น บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ และมักมีปัญหาเรื่องไฟป่า หมอกควัน มลภาวะทางอากาศต่างๆ จึงริเริ่มโครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า” ภายใต้ความร่วมมือของพนักงาน เครือข่ายสิงห์อาสา มหาวิทยาลัย และตัวแทนชุมชน แก้ปัญหาจากต้นทางผ่านการดูแลพื้นที่เสี่ยงไฟป่า พร้อมถ่ายทอดความรู้ในการรักษาป่าต้นน้ำให้ชาวบ้าน รวมทั้งสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นเพื่อช่วยดูแลสุขภาพคนในพื้นที่ ตลอดจนโครงการ “ไม้ยืนต้นป่ายั่งยืน” ที่ร่วมกับ ม.แม่โจ้ เครือข่ายภาคประชาสังคมและชาวบ้าน ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ฟื้นฟูผืนป่าต้นน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยไฟป่า คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าเติบโตได้ในระยะยาว พร้อมสร้างประโยชน์ให้ชาวบ้าน ทั้งลดความเสี่ยงภัยพิบัติ เพิ่มความหลากหลายของพืชพันธุ์ทำกิน และระบบสาธารณูปโภคช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้คนในพื้นที่ได้
ด้าน บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน และมักมีปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงภัยแล้งอยู่บ่อยครั้ง ก็ได้ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น สร้างแหล่งน้ำชุมชน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ทำการเกษตรและใช้ในครัวเรือน พร้อมติดตั้งแท็งก์น้ำดื่มขนาดใหญ่ไว้ในชุมชน เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคในหน้าแล้ง แม้กระทั่ง บริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของประเทศอย่างจังหวัดสิงห์บุรี ก็ได้แบ่งปันพื้นที่หน้าโรงงานเป็นแปลงนาสำหรับปลูกข้าว โดยชักชวนปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกร รวมถึงหมอทำขวัญข้าว และนักเรียน มาร่วมถ่ายทอดและสืบสานภูมิปัญญาการทำนาตามวิถีดั้งเดิมของชาวสิงห์บุรี เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบสานอัตลักษณ์และเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน
เช่นเดียวกับ บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด หรือโรงงานบางเลน หนึ่งในโรงงานที่ได้ชื่อว่ามีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ก็เข้ามามีบทบาทช่วยพัฒนาคน พัฒนาทักษะให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ผ่านการมอบทุนการศึกษาใน โครงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรแบบทั่วถึง (Total Innovation Management Enterprise) หรือโครงการ TIME ซึ่งพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง เปิดโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศมีโอกาสศึกษาต่อในระดับ ปวส. ไปจนถึงปริญญาโท ควบคู่กับการทำงานในโรงงานบางเลน ซึ่งตลอด 6 ปี ได้มอบทุนแบบครบวงจร ทั้งค่าเล่าเรียน รวมทั้งค่าใช้จ่ายและสวัสดิการต่างๆ เพื่อมีส่วนสร้างคนคุณภาพที่สามารถทำงานจริงได้ทันทีหลังเรียนจบรวมกว่า 200 คน และได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวสิงห์รวม 32 คน
โครงการนี้ไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้นักเรียนที่ได้รับทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรได้อย่างตรงจุด เนื่องจากภาคการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาคนให้ภาคอุตสาหกรรมได้ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมเองจึงควรมีส่วนเข้าไปช่วยเติมทักษะที่จำเป็นตั้งแต่ต้นทางการในพัฒนาบุคลากร
การ “สร้างคน” คือ พื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
โครงการ TIME ของโรงงานบางเลน ยังถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลต้นแบบการ “สร้างคน” ตามแนวทางของบุญรอดฯ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคนที่มีคุณภาพ เพื่อเติมเต็มความสุขและรอยยิ้มให้สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการส่งมอบโอกาสให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพื่อเป็นกำลังหลักทั้งในการช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ รวมไปถึงการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย
โดยตลอดโครงการจะมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากบุญรอดฯ มาเป็นต้นแบบทั้งทักษะการทำงานและร่วมบ่มเพาะแนวคิด มุมมอง และทัศนคติการทำงานที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศยุค Digital Economy ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และแข่งขันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้นักศึกษาทุกคนที่จบโครงการ สามารถทำงานจริงได้ทันที สามารถคิดได้แบบนวัตกร ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ มีความเป็นผู้นำ กล้าคิดนอกกรอบ ปรับตัวได้ทันกับทุกการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้อยู่เสมอ
หนึ่งบทพิสูจน์ความสำเร็จในการสร้างคนของบุญรอดฯ คือ การได้รับรางวัล “นวัตกรรมการศึกษาเพื่อสังคม” จาก สวทช. ในฐานะองค์กรที่สามารถบูรณาการความชำนาญที่มีเพื่อต่อยอดโอกาสการเรียนรู้ให้สังคม ผ่านการสร้างหลักสูตรที่พัฒนาความรู้ความสามารถของผู้เรียน พร้อมสร้างคนคุณภาพที่พร้อมทำงานได้ทันทีจากการเรียนจริง
สิ่งที่บุญรอดฯ เชื่อมาโดยตลอดคือ คนที่มีคุณภาพคือสารตั้งต้นของการสร้างสังคมที่มีคุณภาพ เป็นการสร้างฐานรากของการพัฒนาที่แข็งแรงและยั่งยืนตามมา นำมาสู่โมเดลในการสร้าง “คนหัวใจสิงห์” เพื่อสะท้อนถึงดีเอ็นเอความเป็นบุญรอดฯ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งมอบความสุขและรอยยิ้มให้กับผู้คนในสังคมอยู่เสมอ