HomeBrand Move !!Facebook เปิดมาตรการเข้มรับ “เลือกตั้ง” ซื้อโฆษณาได้ แต่ต้องยืนยันตัวตน

Facebook เปิดมาตรการเข้มรับ “เลือกตั้ง” ซื้อโฆษณาได้ แต่ต้องยืนยันตัวตน

พร้อมเปิดตัว Meta Ad Library คลังโฆษณา ย้อนดูได้นาน 7 ปี

แชร์ :

Facebook ประเทศไทยเปิดมาตรการปกป้องการแทรกแซงในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สส.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้แล้ว โดยอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถซื้อโฆษณาได้ และต้องมีการยืนยันตัวตน (Authenticity) เพิ่มเข้ามา รวมถึงมี Meta Ad Library หรือคลังโฆษณาให้เข้าไปศึกษาได้ (เก็บประวัติการลงโฆษณาไว้นาน 7 ปี) อย่างไรก็ดี มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นการดำเนินงานของทาง Facebook เอง ไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับ กกต. แต่อย่างใด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้บนแพลตฟอร์ม Facebook ก็คือ มาตรการด้านความโปร่งใสในการโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยจะมีเรื่องของการพิสูจน์ตัวตน (Authenticity) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งการพิสูจน์ตัวตนนี้ ทาง Facebook ระบุว่าใช้เวลา 48 ชั่วโมงในการดำเนินการ ส่วนการซื้อโฆษณาสามารถทำได้ และใช้เวลาในการอนุมัติโฆษณาราว 3 วัน

ทั้งนี้ ผู้ลงโฆษณาทางการเมืองมีหน้าที่ต้อง

  • ยืนยันตัวตนและสถานที่
  • สร้างข้อความจำกัดการรับผิดชอบ (Disclaimer) สำหรับโฆษณานั้น ๆ
  • ระบุว่าเป็นโฆษณาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการเมือง

ทีมงานของ Facebook ยังระบุด้วยว่า ไม่อนุญาตให้มีการซื้อโฆษณาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งข้ามประเทศด้วย พร้อมยกตัวอย่างกรณีของการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีการซื้อโฆษณาจากเอเจนท์นอกประเทศสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวของแพลตฟอร์มในยุคนั้นอย่างมากร่วมด้วย โดยสิ่งที่จะพบเห็นสำหรับโฆษณาทางการเมืองของประเทศไทยก็คือ จะมีการระบุชัดเจนว่า ใครคือผู้จ่ายเงินสำหรับโฆษณาชิ้นนี้

Meta_Election Integrity

จัดเตรียมทีมงานเฉพาะ

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในประเทศไทย ทาง Meta บริษัทแม่ของ Facebook ได้ระบุว่า มีการจัดเตรียมทีมงานเพื่อดำเนินการด้านการเลือกตั้งโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีคุ้นเคยกับบริบทในระดับท้องถิ่นของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังประกอบด้วยพนักงานชาวไทยที่พูดภาษาไทยอีกด้วย

เนื้อหาอะไรบ้างที่เป็นอันตราย

ในจุดนี้ ทีมงาน Facebook ได้อ้างอิงจากมาตรฐานชุมชน ซึ่งระบุถึงเนื้อหาที่เป็นอันตรายไว้ว่า มีตั้งแต่ข้อมูลเท็จที่เป็นอันตราย การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) การกลั่นแกล้ง (bullying) การล่วงละเมิด (harassment) และเนื้อหาที่ละเมิดนโยบายความรุนแรงและการยั่วยุ โดยมาตรฐานดังกล่าวคือสิ่งที่บังคับใช้ในระดับสากลเหมือนกันทุกประเทศ พร้อมมีผู้ตรวจสอบดูแลเนื้อหาบนแพลตฟอร์มเป็นภาษาไทยด้วย

อย่างไรก็ดี เพื่อป้องกันการแทรกแซงผู้ใช้สิทธิ์ของ Meta ยังไม่อนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตรายหลายประเภทที่ส่งเสริมให้เกิดการแทรกแซงหรือสกัดกั้นการลงคะแนนเสียง เช่น การบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับวันที่ สถานที่ เวลา และวิธีการในการลงคะแนนเสียงหรือการลงทะเบียนเลือกตั้ง หรือข้อเสนอในการซื้อขายเสียงด้วยเงินสดหรือของกำนัลต่าง ๆ ด้วย

หรือในส่วนของ IO พบว่า ทาง Meta ระบุว่า สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจจับเพื่อตรวจหา และหยุดความพยายามในการสร้างบัญชีปลอมได้นับล้านบัญชี โดยบ่อยครั้งบริษัทสามารถตรวจเจอและลบบัญชีปลอมภายในเวลาไม่กี่นาที หลังจากที่บัญชีเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมา (ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2565 มีบัญชีปลอมจำนวนกว่า 1.3 พันล้านบัญชีที่ถูกลบออกไปจากแพลตฟอร์ม)

เปิดตัวคลังโฆษณา Meta Ad Library ดูย้อนหลังได้ 7 ปี

นอกจากเทคโนโลยีต่าง ๆ แล้ว Meta ยังมีการเปิดตัว Meta Ad Library หรือคลังโฆษณาของทางบริษัทที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการลงโฆษณาทุกอย่างเอาไว้ให้สามารถเข้าไปค้นหากันได้ (เข้าไปที่ www.facebook.com/adlibrary) โดยรายละเอียดของคลังโฆษณาประกอบด้วย

  • สถานะของโฆษณา
  • อัตราการมองเห็นโฆษณา
  • งบประมาณที่ใช้
  • กลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึง
  • พื้นที่โฆษณาที่เข้าถึง
  • จำนวนการเข้าถึง

คุณแคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “การเลือกตั้งทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต Meta ได้ยกระดับและต่อยอดจากประสบการณ์การทำงานระดับโลก พร้อมรับฟังและเรียนรู้จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงและสนับสนุนความโปร่งใสในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย เราตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของเราในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของคนไทย และลดความเสี่ยงในการแทรกแซงกระบวนการการเลือกตั้งบนแพลตฟอร์มของเรา”


แชร์ :

You may also like