บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด หรือ “สิงห์” อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเมืองไทยที่มีอายุยาวนาน 90 ปี ไม่เคยหยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพตอบสนองผู้บริโภค ตลอดหลายปีที่ผ่านมา“ค่ายสิงห์” หันมาโฟกัสธุรกิจนอน-แอลกอฮอล์มากขึ้น โดยบริษัทบุญรอดฯ มีแบรนด์สินค้าคุณภาพที่ครองใจผู้บริโภคอันดับ 1 หลากหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มสิงห์ น้ำแร่เพอร์ร่า โซดาสิงห์ สิงห์ เลมอน โซดา ฯลฯ โดยยังคงมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพพอร์ตโฟลิโออยู่ตลอดเวลา
ภายใต้การร่วมทุนระหว่าง บุญรอดบริวเวอรี่ กับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ (OR) กับบริษัทใหม่บริษัท ดริ๊งค์ เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด เพื่อผลิตเครื่องดื่มสำเร็จรูป (RTD: Ready To Drink) เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยมีชาและกาแฟเข้าสู่ตลาดอย่างเป็นทางแล้วอย่าง ชาเขียวพร้อมดื่ม “ฮารุ โคลด์บรูว์ กรีนที” และ กาแฟพร้อมดื่ม “คาเฟ่อเมซอน” ออกทำตลาด
ด้วยนโยบายของ “คุณภูริต ภิรมย์ภักดี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ที่เคยบอกว่า ทางค่ายจะไม่หยุดพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด โดย ดริ้ง เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด (Drink Enterprise) จะพัฒนาสินค้าออกมาป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเปิดตัสทั้งสองผลิตภัณฑ์เป็นแค่จุดเริ่มต้นของกาารทำตลาดเท่านั้น และหลังจากนี้จะเป็นการผนึกกำลังกันต่อยอดสร้างรายได้แบบ Multiple ที่ต้องไม่เติบโตแบบคนเดียว หากแต่คือการสร้างความแข็งแกร่งในการนำเสนอสินค้าใหม่ร่วมกัน
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของอีกก้าวใหม่ของบุญรอดฯ หรือสิงห์ กับการเข้าสู่มสมรภูมิชาเขียวพร้อมดื่มพรีเมี่ยมเมืองไทย ด้วยการส่ง “ฮารุ โคลด์บรูว์ กรีนที” แบรนด์ชาพร้อมดื่มน้องใหม่บุกตลาดชาเขียวพร้อมดื่มพรีเมี่ยมเซกเมนต์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามเทรนด์สุขภาพ
คุณธิติพร ธรรมาภิมุข Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า แม้ในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มจะยังมีเซกเมนต์ย่อย รวมถึงตลาดใหญ่อย่าง Mass Market ให้เข้าไปเล่นค่อนข้างมาก แต่ “สิงห์” มองว่าการจะเข้าไปในตลาดชาพร้อมดื่มควรเริ่มจากจุดแข็งของทางค่าย เพราะด้วยความที่มีไร่ชาและสินค้าชาเขียวพร้อมดื่มแบรนด์ “มารุเซ็น” ของตัวเองอยู่แล้วในการต่อยอด โดยเริ่มจากชาพรีเมี่ยมที่บริษัทมีความถนัดและเชี่ยวชาญ จะสร้างความได้เปรียบทางการตลาด
จาก “มารุเซ็น” ถึง “ฮารุ” สู่ตลาดชาเขียวพรีเมี่ยมแบบครบวงจร
การต่อยอดมายังผลิตภัณฑ์ใหม่ “ฮารุ โคลด์บรูก์ กรีนที” ในครั้งนี้ เริ่มจากการตั้งชื่อสองพยางค์ “ฮารุ” ที่มาจากภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “ฤดูใบไม้ผลิ” เพราะมองว่าตลาดชาเขียวต้องการคำสั้นๆ ที่จำง่าย และต้องไม่เกินสองพยางค์ ขณะเดียวกันต้องสะท้อนเอกลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นออกมาให้ชัดเจน ดังนั้นการสื่อสารแบรนด์ครั้งนี้จึงเกิดขึ้นจากความเป็น “Modern Japanese” ชูความโมเดิร์นของญี่ปุ่น ที่ดูมินิมอล แต่พิถีพิถัน ตกต่างจากชาเขียวญี่ปุ่นพรีเมี่ยมอื่นๆที่เน้นความเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ผ่านแพ็คเกจจิ้งและการสื่อสารแบรนด์แบบญี่ปุ่นร่วมสมัย มีเป้าหมายเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดพรีเมี่ยม คนรุ่นใหม่ ที่รักสุขภาพ รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์ไปคาเฟ่ ชอบมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ
นอกจากนี้ยังสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์ในเรื่องของรสชาติ ด้วยการเลือกเอาจุดเด่นอย่างความเป็นชาเขียวพรีเมี่ยม ที่ผ่านกระบวนการสกัดชาผ่านกรรมวิธี Cold Brew ที่ให้ความสำคัญด้านอุณภูมิและเวลาสกัดที่นานกว่าชาทั่วไป 2 เท่า ซึ่งเป็นการสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์จากชาเขียวพร้อมดื่มรายอื่นในตลาด โดย “ฮารุ โคลด์บรูว์ กรีนที” มาในรูปแบบขวดขนาด 440 มล. มี 2 รสชาติ ได้แก่ สูตรปราศจากน้ำตาล (Natural) และสูตรหวานน้อย (Mild Sweet) ราคาจำหน่าย ขวดละ 30 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เทียบเท่ากับผู้เล่นอื่นในตลาดเดียวอย่าง โออิชิ อิชิตัน และฟูจิ ซึ่งถือว่าทำให้สามารถแข็งขันในตลาดได้เป็นอย่างดี
“ด้วยพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน นักศึกษาในปัจจุบันยอมจ่ายเงินเพื่ออะไรที่ดีกว่า หากคุ้มค่าคุ้มราคา ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวัน ขณะที่เรื่องเทรนด์สุขภาพก็กำลังมาแรง ทำให้เรามองว่านี่คือจังหวะที่ดีในการเปิดตัวสินค้ากลุ่มชาเขียวพร้อมดื่มออกมาทำตลาด” คุณธิติพรกล่าวถึงพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของทางแบรนด์
อีกหนึ่งความแข็งแกร่งที่บุญรอดฯ นำมาใช้ในการต่อยอดแบรนด์ “ฮารุ” ให้ติดตลาด คือ การที่มีไร่ชาเป็นของตัวเอง อย่างไร่ “สิงห์ปาร์ค เชียงราย” ที่มีพื้นที่กว่า 8,000 ไร่ ถือเป็นแหล่งปลูกชาใหญ่ของประเทศไทยด้วย มาเป็นจุดแข็งในการผลิตวัตถุดิบ จากยอดอ่อนใบชาสายพันธุ์คุณภาพเกรดพรีเมียม โดยที่ผ่านมาได้มีการจับมือกับยักษ์ใหญ่ด้านชาจากญี่ปุ่นในการทำตลาดแบรนด์ “มารุเซ็น” ชาเขียวพร้อมชงสำเร็จรูปที่เน้นจับตลาดส่งออก และลูกค้าองค์กร B2B ในเซกเมนต์พรีเมี่ยมอยู่แล้ว ได้รับมาตรฐาน JGAP ของ “มารุเซ็น” แห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น แถมยังได้รับการันตีว่าเป็น1 ใน 3 แหล่งผลิตชาที่ดีที่สุดของโลก ต่อจาก เกาหลี ปุ่น
“คุณธิติพร” บอกว่า ทั้งหมดคือการเอาสินค้าที่ดีให้ลูกค้าได้ชิม ทดลอง เพื่อสร้างการรับรู้ให้ลูกค้ารู้จักเสียก่อน และนั่นคือ “ใบเบิกทาง” แรกของ “บุญรอด” กับการปั้นแบรนด์ “ฮารุ” ลงชิงชัยในสนามชาเขียวพร้อมดื่มพรีเมี่ยมได้ไม่ยาก ก่อนจะต่อยอดสินค้าอื่นในอนาคต
สิงห์-โออาร์ ทางลัดสร้างแบรนด์ที่ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่
อีกหนึ่งจุดแข็งของบุญรอดฯ คือ เป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจ FMCG มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดที่ทำมาในหลายกลุ่มสินค้าตลอดลหายสิบปี โดยเฉพาะในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่ายของ บุญรอดฯ ที่แข็งแกร่ง ด้วยจำนวนร้านค้ากว่า 20,000 แห่งในเครือที่ใช้ในการกระจายสินค้า บวกกับมีระบบโลจิสติกส์ที่มีความเชี่ยวชาญในการกระจายสินค้าในพอร์ตค่อนข้างมาก เข้ามาเป็นจุดแข็งในการกระจายสินค้าในอนาคต
คุณธิติพร ธรรมาภิมุข Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้งจำกัด กล่าวว่า การเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน แทนที่การทำคนเดียว ซึ่งจะเหนื่อยกว่า ในเรื่องของแบรนด์ดิ้ง ถ้าเริ่มชื่อใหม่ กาแฟ ก็ต้องเริ่มใหม่เลยทั้งหมด ดังนั้นการผนึกกำลังกันจะเป็นการช่วยสร้างแบรนด์ได้มากกว่า ซึ่งการมี R&D ที่ดี ต้นทุนที่ถูก (จากวัตถุดิบต้นนำ้ที่มี) บวกกับการทำการตลาด และช่องทางจำหน่ายที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้ว
ทำให้ “ฮารุ” มีครบทุกอย่างทั้งแบรนด์ โลจิสติกส์ ช่องทางร้านค้า ฯลฯ ตั้งแต่ในวันแรกที่ทำตลาด ซึ่งจะเป็นการสร้าง “แต้มต่อ” ทางการตลาด หรือย่นระยะเวลาในการสร้างแบรนด์ โดยเฉพาะเรื่องชาเขียวทางค่ายเริ่มมาศึกษาและพัฒนาอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ ราคาต้นทุนที่สามารถควบคุมได้ โดยมีจุดแข็งอย่าง “โออาร์” เข้ามาเสริมทัพ
เจาะ “Premium Segment” รับเทรนด์ชาเขียวสุขภาพโตแรง
ขณะที่ภาพรวมตลาดชาเขียวพร้อมดื่มเมืองไทยเริ่มกลับมามีสัญญาณบวกอีกครั้ง 2 ปีที่ผ่านมา บวกกับเทรนด์สุขภาพที่มาแรง ทำให้ผู้เล่นหลายรายเริ่มกลับเข้ามาลงสนามชาเขียวพร้อมดื่มอีกครั้ง เช่นเดียวกับ “ค่ายสิงห์” ที่มองเห็นโอกาสดังกล่าว เพราะมองว่าด้วยพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน นักศึกษาในปัจจุบันยอมจ่ายเงินเพื่ออะไรที่ดีกว่า หากคุ้มค่าคุ้มราคา ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวัน ทำให้มองว่าเวลานี้คือจังหวะที่ดีในการเปิดตัวสินค้ากลุ่มชาเขียวพร้อมดื่มออกมาทำตลาดอีกครั้ง
ปัจจุบันตลาดชาเขียวพร้อมดื่มมูลค่า 13,864 ล้านบาท ในเมืองไทย มี 3 ผู้เล่นหลักอย่าง “โออิชิ-อิชิตัน-ฟูจิ” ครองตลาดอยู่ ข้อมูลจาก“AC Nielsen” ระบุว่า ปีที่ผ่านมาตลาดชาเขียวพร้อมดื่มมีการเติบโตใน 22% หลักๆ เป็นผลมากจากผู้เล่นในตลาดชาพร้อมดื่มเริ่มมีผลประกอบการที่ดี ฟื้นตัวจากปัจจัยลบต่างๆ โดยมีการประเมินว่า “ตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม” ณ สิ้นปี 2566 จะยังคงเติบโตได้มากกว่า 15%
หากโฟกัสลงมาในเซกเมนต์พรีเมี่ยมที่มีสัดส่วนอยู่ราว 20% หรือมีมูลค่าราว 1,500 ล้านบาท ภาพรวมตลาดมีการเติบโตที่ดีกว่า 10% ต่อเนื่องหลายปี นับว่าแซงหน้าเซกเมนต์อื่นๆในท้องตลาด โดยปัจจัยหลักมาจากเรื่องของเทรนด์สุขภาพที่มาแรงในยุคนี้ โดยฝั่งของอิชิตัน มี “ชาชิซึโอกะ” และ “ชาโฮจิฉะ ไมลด์ลี่ สวีท” ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง 22.70% (ปี 2565) ในส่วนของ “โออิชิ” มี “โออิชิ โกลด์” (Oishi Gold) และ “ชาเขียวฟูจิ” ที่ทำตลาดตามมาแบบติดๆ
โดย “บุญรอดฯ” วางเป้าหมายยอดขายชาเขียวพร้อมดื่ม “ฮารุ” ในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 10 ล้านขวด โดยในช่วง 3 เดือนแรกนับจากนี้จะวางจำหน่ายใน 7-Eleven และ Shingha Online ก่อนจะขยายไปในช่องทางร้านค้าทั่วประเทศในอนาคต