HomeBrand Move !!ญี่ปุ่นเปิดผลสำรวจ น้ำหนักกระเป๋านักเรียนแตะ 4.28 กิโลกรัม ทำเด็กปวดหลังพุ่ง 60%

ญี่ปุ่นเปิดผลสำรวจ น้ำหนักกระเป๋านักเรียนแตะ 4.28 กิโลกรัม ทำเด็กปวดหลังพุ่ง 60%

แชร์ :

japan school bag

น้ำหนักกระเป๋านักเรียนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีแนวคิดด้านการศึกษาที่ก้าวหน้าอย่างญี่ปุ่น โดยมีผลสำรวจที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว Mainichi ระบุว่า 60% ของเด็กญี่ปุ่นรู้สึกปวดหลังมากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ไม่เฉพาะเด็กไทยที่เผชิญปัญหาแบกหนังสือไปเรียนกันจนตัวเอียง แต่น้ำหนักกระเป๋าของเด็กในญี่ปุ่นก็กำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยผลการสำรวจของบริษัท Footmark ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชุดว่ายน้ำสำหรับเด็กชั้นประถมร่วมกับมหาวิทยาลัย Taisho พบว่า ค่าเฉลี่ยของน้ำหนักกระเป๋านักเรียนในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 4.28 กิโลกรัมในปี 2022 จากเดิม 3.97 กิโลกรัมในปี 2021 และมีบางครอบครัวยอมรับว่า น้ำหนักกระเป๋าของลูกนั้นพุ่งเกิน 10 กิโลกรัมเลยทีเดียว

การสำรวจยังพบด้วยว่า มีเด็กบอกว่าพวกเขาปวดหลังเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 2022 จากเดิมตัวเลขนี้อยู่ที่ 50% ในปี 2021 ส่วนเด็กที่บ่นว่าปวดไหล่ เอว และส่วนอื่น ๆ ของร่างกายก็มีถึง 27% ด้วยเช่นกัน

อาจารย์ทาเคชิ ชิราโดะ จากมหาวิทยาลัย Taisho ซึ่งร่วมทำวิจัยครั้งนี้ระบุว่า น้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เหมาะสมสำหรับเด็กชั้นประถมควรจะอยู่ที่ 2 – 3 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ น้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เด็ก ๆ ต้องแบกทะลุขีดจำกัดดังกล่าวไปไกลมากแล้ว

แนวคิด “เก็บหนังสือไว้ที่โรงเรียน” ใช้ไม่ได้จริง?

หนึ่งในทางแก้ปัญหากระเป๋าหนักที่เคยมีก็คือการอนุญาตให้เด็ก ๆ เก็บหนังสือเรียนบางส่วนไว้ที่โรงเรียน แต่แนวคิดดังกล่าวก็เริ่มถูกตั้งคำถามโดยหน่วยงานด้านการศึกษาท้องถิ่น เพราะมาตรการนี้ไม่สามารถใช้ได้จริง สุดท้ายแล้ว เด็ก ๆ ก็ต้องนำหนังสือเรียนกลับบ้านเพื่อใช้ประกอบการทำการบ้าน หรืออ่านเตรียมสอบอยู่ดี

ส่วนทางแก้ในมุมผู้ผลิต พบว่าแบรนด์กระเป๋าอย่าง Nitori เคยออกแบบกระเป๋านักเรียนที่ทำจากผ้า เพื่อให้มีน้ำหนักเบาขึ้นเช่นกัน (รวมถึงราคาที่ช่วยให้พ่อแม่จ่ายน้อยลงด้วย)

วิกฤติโรคระบาด ทำเด็กแบกของเยอะขึ้น

การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักกระเป๋าเรียนยังมีอีกหลายปัจจัย โดยหนึ่งในนั้นคือ การระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กญี่ปุ่นต้องแบกกระติกน้ำมาโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งไอเท็ม รวมถึงแนวคิดที่ว่าเด็ก ๆ ต้องเรียนเขียนโปรแกรมเพื่อรับกับการทำงานในอนาคต ก็ทำให้พวกเขาต้องพกอุปกรณ์ดิจิทัลเพิ่มลงในกระเป๋าด้วย

แน่นอนว่า ไม่เฉพาะเด็กไทยที่พ่อแม่มักส่งไปเรียนพิเศษ แต่เด็กญี่ปุ่นก็ต้องเรียนพิเศษเช่นกัน ซึ่งหมายถึงเด็ก ๆ ต้องแบกกระเป๋าใบเล็ก ๆ สำหรับใส่หนังสือไปเรียนพิเศษเพิ่มอีกหนึ่งใบ

รายงานชิ้นนี้ได้ยกตัวอย่าง สิ่งของที่เด็กประถมปีที่ 5 (อายุ 10 ขวบ น้ำหนักตัว 40 กิโลกรัม) รายหนึ่งในกรุงโตเกียวต้องแบกไปโรงเรียนในวันที่มีเรียนพิเศษก็คือ อุปกรณ์ดิจิทัลน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม 1 เครื่อง, กระติกน้ำ, กระเป๋านักเรียน และกระเป๋าใบเล็ก ๆ สำหรับใส่ของเพื่อไปเรียนพิเศษ โดยทั้งหมดนี้พบว่า มีน้ำหนักรวมกันเกิน 10 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะเริ่มใช้หนังสือเรียนดิจิทัลควบคู่กับแบบเรียนทั่วไปในเด็กชั้น ป. 5 – 6 โดยจะเริ่มในปีการศึกษา 2024 ซึ่งหากวันนั้นมาถึง ก็เป็นไปได้ว่า เด็ก ๆ จะต้องแบกอุปกรณ์ดิจิทัลไปเรียนอย่างเต็มตัว และความฝันที่จะมีกระเป๋าเบา ๆ ก็คงจะห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน

Source


แชร์ :

You may also like