กลางเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ประเทศฝรั่งเศสได้จัดการประชุมสุดยอดบิ๊กอีเวนต์ระดับชาติ Choose France Summit 2023 เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศของฝรั่งเศส ณ พระราชวังแวร์ซายส์
โดยมีนักลงทุนและนักธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 200 ราย อาทิ “อีลอน มัสก์” ซีอีโอ เทสลา “อัลเบิร์ต บัวร์ลา” ซีอีโอ ไฟเซอร์ “โรเบิร์ต อีเกอร์” ซีอีโอ ดิสนีย์ ในส่วนของประเทศไทย “คุณธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเกียรติจากประธานาธิบดี “เอมานูว์แอล มาครง” เชิญร่วมการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนร่วมกับฝรั่งเศส เพื่อหารือยุทธศาสตร์ร่วมกันใน ทั้งด้านอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน เพื่อนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเกษตรและอาหาร ช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับฝรั่งเศส รวมไปถึงความร่วมมืออื่น ๆ อาทิ พลังงานทดแทน และการขนส่ง
คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส พร้อมด้วย คุณศุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร คุณบุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ – สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอังกฤษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ซีอีโอ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ฯลฯ ได้ร่วมประชุมหารือกับผู้นำในครั้งนี้
ซึ่งจะเป็นการนำความเชี่ยวชาญของเครือซีพีที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี มีการลงทุนทางอาหารใน 23 ประเทศทั่วโลก มีการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยจะมาร่วมมือกันสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของเครือซีพี รวมถึงด้านพลังงานทดแทน และการขนส่ง ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาในประเทศไทย และสร้างโอกาสการจ้างงานในเศรษฐกิจท้องถิ่นทั้งของประเทศไทยและฝรั่งเศส
ขณะเดียวกันยังขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วนต่าง ๆ ผ่านนวัตกรรม รวมถึงความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ยกระดับการเชื่อมต่อระหว่างชนบทกับเมือง และขยายการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนกับบริษัทในประเทศฝรั่งเศส และสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับความร่วมมือทางธุรกิจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ขณะที่คุณฟรองซัวส์ กอร์แบง ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีฝรั่งเศสด้านยุโรปและการต่างประเทศด้านเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานโครงการต่าง ๆ ของประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า ฝรั่งเศสมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นหุ้นส่วนอันดับหนึ่งของเครือซีพีในยุโรป เนื่องจากมั่นใจนโยบายของเครือซีพีที่มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน ตลอดไปจนถึงการที่เป็นองค์กรที่มั่นคงมีอายุยืนนานกว่า 100 ปีเห็นได้ว่าเครือซีพีทำธุรกิจโดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และเป็นองค์กรที่ริเริ่มสิ่งใหม่มาโดยตลอด ที่สำคัญมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความมั่นคงอาหารใน 23 ประเทศทั่วโลก ทำให้มีการจ้างงาน สร้างการเติบโตให้กับประเทศนั้น ๆ
สรุป 4 ประเด็นสำคัญ หลังเครือซีพี จับมือพันธมิตรในฝรั่งเศส ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- ศึกษาโครงการพลังงานหมุนเวียน ลม แสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Altervim Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่กลุ่มบริษัทถือหุ้นทั้งหมด และ Total Energies Renewables กำลังดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านคาร์บอนต่ำและช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ด้วยศักยภาพในการผลิต 2 กิกะวัตต์ โครงการเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของเครือฯ ภายในปี 2573 และ 2593
- การสร้างขีดความสามารถในพัฒนารถไฟความเร็วสูงและการพัฒนานวัตกรรมสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในอนาคต: ผ่านบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับบริษัท Egis Rail Academy ในเดือนมีนาคม 2566 เครือฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท Egis Rail Academy และบริษัทชั้นนำของฝรั่งเศสอื่น ๆ จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้กับพนักงานและวิศวกร ในการออกแบบ สร้าง และพัฒนารถไฟความเร็วสูงขบวนแรกของไทยที่จะเชื่อมสนามบินหลัก 3 แห่งเข้าด้วยกัน ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)
- ยกระดับ การผลิตอาหารและคุณภาพอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะ “ครัวของโลก” จะร่วมมือกับผู้ผลิตอาหาร ประเภทนม เนื้อสัตว์ และอาหารเสริม ในประเทศฝรั่งเศส เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารฝรั่งเศสคุณภาพสูงที่คัดสรรมาอย่างดีให้กับผู้บริโภคชาวไทย ผ่านช่องทางค้าปลีกของเครือซีพี นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับบริษัทฝรั่งเศสเพื่อหาโอกาสในการพัฒนาความมั่นคงทางด้านอาหารสำหรับทั้ง 2 ประเทศ เพิ่มโอกาสในการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งโครงการนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา
- พัฒนาการขนส่ง การเดินทางทางอากาศ (Urban Air Mobility) และอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยให้ก้าวหน้าโดยเครือฯ มีการแสวงหาความร่วมมือกับการบินของฝรั่งเศสเพื่อเพิ่มความสามารถทางอากาศและอวกาศของประเทศไทยผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรม ตลอดจนโซลูชั่นต่าง ๆ