ฟูจิฟิล์มเปิดภาพรวมตลาดการพิมพ์ไทย คาดปีนี้ มีมูลค่าแตะ 300,000 ล้านบาท โดยมีตลาดบรรจุภัณฑ์ – ฉลากสินค้าครองส่วนแบ่งขนาดใหญ่ (60 – 70%) ขณะที่เทรนด์ในประเทศแม่อย่างญี่ปุ่นหันไปให้ความสนใจกับแนวคิดรักษ์โลก – การลด Carbon Footprint รวมถึงการพัฒนาเครื่องพิมพ์ที่สามารถออกแบบหนังสือเรียน “เฉพาะบุคคล” ได้ โดยคาดว่าจะตอบโจทย์การเรียนในโลกที่ความรู้หมุนไว – ช่วยให้เด็กเข้าถึงเนื้อหาที่ทันสมัยได้มากขึ้น
แนวคิดเรื่องการพิมพ์ของบริษัทเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นยังคงเป็นเรื่องน่าสนใจ โดยในมุมของฟูจิฟิล์มในประเทศไทย ทางผู้บริหารได้มองเห็นเทรนด์การเติบโตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ – ฉลากสินค้ามาแรงเป็นอันดับหนึ่ง และมีกลุ่มที่ขับเคลื่อนคือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เช่น Gen Y, Gen Z ที่หันมาเป็นเจ้าของธุรกิจเองมากขึ้นในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา
คุณกิตติ พรพิพัฒน์วงศ์ Country Head ฝ่าย Graphic Communication ธุรกิจการพิมพ์เชิงพาณิชย์ บริษัท ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงการเติบโตนี้ว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ที่เป็น Total business เป็นที่ต้องการมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ตลาดรวมพบว่า อาจมีมูลค่าตลาดแตะ 300,000 ล้านบาทในปีนี้ โดยคาดว่ามาจากตลาดบรรจุภัณฑ์ถึง 60 – 70%
สองกลุ่มลูกค้าหลัก “เบบี้บูม vs Gen Y”
ในมุมของลูกค้าธุรกิจ ก็มีการเผยถึงอินไซต์ที่น่าสนใจในธุรกิจ Commercial Printing ของฟูจิฟิล์มว่า มีลูกค้าหลัก 2 กลุ่มใหญ่ คือ ลูกค้ากลุ่ม Baby Boomers ซึ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อจากรีเลชันชิป และกลุ่ม Gen Y, Gen Z ที่ไม่ได้ซื้อจากรีเลชันชิป และไม่มีแบรนด์ลอยัลตี้ แต่จะมองหาแวลูในสินค้า – แบรนด์ที่ให้ในสิ่งที่เขาต้องการได้
“การทำตลาดกับลูกค้าทั้งสองกลุ่มนี้แตกต่างกัน โดยตอนนี้สัดส่วนของกลุ่ม Baby Boomers ของทางบริษัทอยู่ที่ 60% แต่ในอนาคต Gen Y – Gen Z จะก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งมากกว่าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะ Gen Y ที่กำลังออกมาสร้างธุรกิจของตนเอง เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ซึ่งการทำตลาดกับกลุ่ม Gen Y – Gen Z เราต้องสร้าง brand engagement ให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้า รับฟังความคิดเห็นของเขา และนำไปพัฒนาฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ Pain Point ของลูกค้า เพื่อให้ Gen Y เป็นอินฟลูเอนเซอร์และพูดต่อให้เรา”
คุณกิตติยังได้เผยถึง แนวคิดด้านการลงทุนในเครื่องพิมพ์ของทั้งสองกลุ่มที่แตกต่างกัน โดยลูกค้าในกลุ่ม Baby Boomers นั้นจะเริ่มนิ่ง และปล่อยให้ Second Generation เข้ามารับช่วงต่อ แต่แนวคิดด้านการลงทุนเครื่องพิมพ์ของคนรุ่น Second Generation จะยังคงอิงกับแนวทางเดิมของรุ่นพ่อแม่ ซึ่งเป็น Baby Boomers อยู่ดี
ส่วนกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจนั้น พบว่าจะเริ่มลงทุนในเครื่องพิมพ์ราคาเกือบ ๆ ล้าน – ล้านกว่าบาทเป็นอันดับแรก และมีการใช้สินเชื่อร่วมด้วย เพื่อให้เข้าถึงเครื่องพิมพ์ระดับดังกล่าวได้
จุดกระแสแบบเรียน “ปรับแต่งได้” แบบรายบุคคล
นอกจากการเติบโตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แล้ว อีกตลาดหนึ่งที่ฟูจิฟิล์มมองเห็นก็คือ กระแส Personalization ที่เริ่มจับต้องได้มากขึ้น โดยสิ่งนี้พบได้ทั้งในไทยและประเทศแม่อย่างญี่ปุ่น แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ รูปแบบการใช้งาน โดยในญี่ปุ่นนั้น คุณกิตติเผยว่า ผู้คนไม่นิยมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว จึงทำให้ทางฟูจิฟิล์มหันไปทำ Personalization ในธุรกิจการพิมพ์แบบเรียน โดยการพัฒนาเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทแบบม้วน เพื่อตอบโจทย์ภาคการศึกษาของญี่ปุ่น
“ตอนนี้ เราอยู่ในยุคที่คนต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งในญี่ปุ่น พบว่า แนวคิดเรื่องการ Personalization สามารถเข้าไปช่วยด้านการพิมพ์แบบเรียนของญี่ปุ่นได้ โดยในอดีต เราอาจต้องพิมพ์หนังสือเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้มีสินค้าคงคลังเยอะ และสิ้นเปลืองพื้นที่เก็บ อีกทั้งเนื้อหาการเรียนก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรที่สามารถปรับแต่งได้ และเมื่อปรับแต่งเสร็จแล้วก็สั่งพิมพ์ได้เลย หรือจะออกแบบหนังสือเพื่อเด็กแต่ละคนก็ได้เช่นกัน โดยฟูจิฟิล์มมีการพัฒนาเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทแบบม้วนเพื่อตอบโจทย์ตลาดนี้ในญี่ปุ่นอยู่ และมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก”
ส่วนในประเทศไทย กระแส Personalization เกิดขึ้นได้จากความคิดสร้างสรรค์ด้านการใช้ Data โดยสามารถอยู่ในรูปของการสร้างประสบการณ์โดยรวม เช่น การจัดอีเวนท์ ที่อาจออกแบบการ์ดเชิญแบบเฉพาะบุคคล ฯลฯ นั่นเอง
จับมือสองบริษัท รุกตลาด Commercial Printing
ทั้งนี้ ข้อมูลจากผู้บริหารฟูจิฟิล์มเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทย และทั่วโลกเป็นธุรกิจที่อยู่ในช่วงของการเจริญเติบโต โดยธุรกิจการพิมพ์ดิจิทัลยังเป็นธุรกิจที่ครองตลาด และมีการเติบโตกว่า 15 – 20% ต่อปี และไทยเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ทางฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น กับฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) มีการจับมือกันเพื่อเจาะตลาด Commercial Printing ให้หนักขึ้น โดยเป็นการดึงจุดแข็งของฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น อย่างเรื่องการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ และฉลาก กับจุดแข็งของฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) ในด้านธุรกิจการพิมพ์เชิงพาณิชย์ และมีตลาด – ฐานลูกค้าที่กว้างมาก เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยมองว่า การจับมือครั้งนี้จะทำให้เกิดการให้บริการแบบครบวงจร ทั้งเครื่องพิมพ์ระบบอะนาล็อก เครื่องพิมพ์ระบบดิจิทัล และโซลูชันด้านการพิมพ์ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดนั่นเอง
“เป้าหมายของฟูจิฟิล์มคือการรุกกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และฉลากสินค้าให้มากขึ้น โดยเราตั้งเป้าเป็นพาร์ทเนอร์ลูกค้าในด้านนวัตกรรมธุรกิจ เป็นศูนย์รวมโซลูชันด้านสิ่งพิมพ์แบบครบวงจร” คุณกิตติกล่าวปิดท้าย