ธุรกิจครอบครัว ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยพบว่า 80% ของจีดีพี ประเทศไทย มาจากรายได้ของธุรกิจครอบครัวและบริษัทจำนวน 3 ใน 4 ของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือกลุ่มธุรกิจครอบครัว ถือเป็นสัดส่วนธุรกิจที่ใหญ่มาก อาจเรียกได้ว่าเป็นอีกเสาหลักของเศรษฐกิจประเทศไทย
แต่การบริหารธุรกิจกงสี ในแต่ละเจนเนอเรชั่น ต่างก็มีปัญหาแตกต่างกัน หนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ “ความขัดแย้ง” ระหว่างสมาชิกครอบครัว หากธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ หรือกิจการล้มลง ไม่ได้กระทบกับธุรกิจครอบครัวเท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศและการจ้างงานได้
จากข้อมูลอินไซต์ของ KBank Private Banking ที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว พบว่า 15% ของลูกค้าที่ใช้บริการ ต้องเผชิญกับความขัดแย้งการจัดการธุรกิจครอบครัวและทรัพย์สินกงสี จึงเห็นโอกาสเปิดบริการใหม่ “Reconciliation Service” หรือบริการแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว เพื่อช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและยุติปมความขัดแย้งในครอบครัว
3 ปัจจัยท้าทายบริหารธุรกิจกงสี
คุณพีระพัฒน์ เหรียญประยูร กรรมการผู้จัดการ Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าจากการให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวของ
KBank Private Banking พบว่ามีหลายปัจจัยที่ธุรกิจครอบครัวต้องเจอกับความท้าทายในการบริหารจัดการสินทรัพย์
1. ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ทุกครอบครัวต้องวางแผน เพราะรายได้ที่เคยมีอยู่เปลี่ยนแปลงไป จากสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากเป็นที่ดินรกร้างไม่ทำประโยชน์อัตราการจัดเก็บเท่ากับภาษีพาณิชยกรรมและค่าปรับอีก 0.3% อีกทั้งมีการปรับราคาประเมินใหม่ ที่ดินบางแปลงเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า ทำให้ต้นทุนในการถือทรัพย์ที่ดินเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการทั้งการเสียภาษีและสร้างรายได้
2. หลังโควิดธุรกิจพบว่ามีการวางแผนส่งต่อกิจการครอบครัวมากขึ้น เพราะเกิดการสูญเสียญาติ ผู้นำครอบครัว ผู้บริหารธุรกิจ ในช่วงโควิด ที่ยังไม่ได้วางแผนส่งต่อธุรกิจให้กับครอบครัว
3. หลายครอบครัวพบว่ารุ่นทายาท ไม่ต้องการรับไม้ต่อธุรกิจครอบครัว เพราะต้องการทำธุรกิจที่ตัวเองสนใจ ทำให้ธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะในต่างจังหวัดต้องขายกิจการให้คนอื่นเพราะทายาทไม่ต้องการทำต่อ
จากความท้าทายเหล่านี้ ทำให้ธุรกิจครอบครัว เข้ามาใช้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สิน เพื่อตอบโจทย์ดังนี้
1. การวางกติกาของครอบครัว หรือ ธรรมนูญครอบครัว เพื่อลดความขัดแย้ง ที่สำคัญครอบครัวมีโอกาสวางแผนร่วมกันส่งต่อธุรกิจให้กับรุ่นต่อไปได้อย่างราบรื่น
2. การปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัวสู่มืออาชีพ วางระบบการทำงาน การตรวจสอบ ก้าวผ่านการเป็นธุรกิจครอบครัว เพื่อให้ทายาท ลูกหลาน เข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาบริหารงาน
3. วางแผนนำธุรกิจครอบครัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กระจายความเสี่ยงธุรกิจเดิมที่เป็นธุรกิจหลัก เพื่อโอกาสขยายธุรกิจใหม่ รวมทั้งการวางแผน Exit เปลี่ยนฐานะไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทน เพราะไม่มีทายาทรับไม้ต่อ และให้มืออาชีพบริหาร
ธุรกิจกงสีมีปัญหาขัดแย้ง 15%
จากการให้บริการ KBank Private Banking ตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่าไม่มีครอบครัวไหนที่จะเห็นพ้องต้องกันไปทุกเรื่อง ก่อนหน้านี้ที่มีบริการช่วยลูกค้าในการหาทางออกร่วมกันหรือแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งในอนาคตผ่านการกำหนดกติกาครอบครัวหรือการทำธรรมนูญครอบครัวผ่านบริการ Family Continuity Planning อยู่แล้ว
แต่พบว่าลูกค้าที่ดูแลอยู่ราว 4,000 รายหรือประมาณ 790 ครอบครัว มีสัดส่วน 15% ที่มีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงจากการบริหารทรัพย์สินกงสีเกินกว่าจะหาข้อตกลงร่วมกันเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การกำหนดกติกาของครอบครัว การวางแผนภาษี การปรับโครงสร้างธุรกิจ การส่งต่อธุรกิจ
“สิ่งที่คนรวยมักทะเลาะกันเป็นเรื่องแรก ๆ คือ ความรู้สึกไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียม เช่น เจ้าสัวครอบครัวคนจีน จะให้ความสำคัญกับนามสกุล ทำให้ลูกชายมีบทบาทมากกว่าลูกสาว และกำหนดให้ลูกแต่ละคน มาดูแลธุรกิจแต่ละด้านต่างกัน ซึ่งอาจสร้างความพอใจและไม่พอใจให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้ ปัญหาจึงเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ส่งต่อไปรุ่นลูกหลาน ขณะที่คนรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเองและเริ่มเห็นความขัดแย้งมากขึ้น”
กรณีขัดแย้งธุรกิจกงสี ที่เห็นได้บ่อย คือ การจัดการทรัพย์สินที่ดิน ที่พบว่าจะมีคนที่อยากขายและไม่อยากขาย จึงต้องมีกติกาที่กำหนดว่าจะไปทางไหนและทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยคนที่อยากขายทรัพย์สิน ก็ต้องมีกติกาที่ตกลงกันได้ ด้วยการประเมินราคาที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อให้คนที่ไม่ต้องการขาย จ่ายเงินซื้อให้คนต้องการขาย และรักษาทรัพย์สินกงสีให้อยู่ต่อไป
เปิดบริการแก้ปมขัดแย้งธุรกิจครอบครัว
ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว กลุ่มที่พูดคุยกันไม่ได้จะเกิดการฟ้องร้องตามมา เป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะ ทำให้ธุรกิจกงสีหลายครอบครัวกระทบจากความขัดแย้งนี้และแตกแยกกัน จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่น ทำให้เกิดการล่มสลายของกงสีและธุรกิจครอบครัวได้
KBank จึงได้เปิดตัวบริการใหม่ภายใต้ชื่อ Reconciliation Service หรือบริการแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว จากจุดเด่น “ธนาคารมีความเป็นกลาง” เมื่อครอบครัวหาทางออกจากเรื่องความขัดแย้งไม่ได้ จึงต้องการให้”คนกลาง” ที่มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยไม่ต้องไปถึงขั้นตอนฟ้องคดี
โดยบริการแก้ปัญหาขัดแย้งนี้ จะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยใช้หลักจิตวิทยา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาช่วยลูกค้าให้สามารถยุติข้อพิพาทและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้การจัดการกงสีและธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินงานต่อไปได้ โดยมี 3 จุดเด่นของบริการ “Reconciliation Service”
1. รักษาสายสัมพันธ์ครอบครัว: ความขัดแย้งที่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ มักจะถูกยกระดับขึ้นเป็นการฟ้องร้อง การให้นักกฎหมายหรือทนาย มาแก้ปัญหาทำให้ความรู้สึกของคนในครอบครัวเปลี่ยนไป สถานการณ์ตึงเครียด จากเดิมปัญหาไม่ต้องไปถึงขั้นฟ้องร้อง ก็จะไปจบที่ศาล ดังนั้นเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปถึงจุดนั้น จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการยุติความขัดแย้งที่มีประสบการณ์สูง ดึงหลักจิตวิทยาเข้ามาช่วยในการเจรจา เพื่อทำให้หลายครอบครัวสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีเอาไว้ได้
2. ยุติความขัดแย้งในระยะเวลาอันสั้น: ช่วยลดระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเต็มรูปแบบในชั้นศาล โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ให้ความเห็นของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นกลางและครบถ้วน
3. จัดการกงสีและธุรกิจให้ไปต่อได้: เมื่อครอบครัวได้ทางออกในข้อพิพาทแล้ว ผู้เชี่ยวชาญของ KBank Private Banking สามารถช่วยจัดการวางแผนส่งต่อธุรกิจครอบครัวหรือจัดทำธรรมนูญครอบครัวใหม่ได้ ทำให้ธุรกิจครอบครัวไปต่อได้
สิ่งสำคัญของบริการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ จะมีทางออก 3 รูปแบบ คือ 1. คู่กรณีเปิดใจรับฟังและเห็นทางออกร่วมกัน โดยมีนักกฎหมายช่วยร่างข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้จัดการธุรกิจครอบครัวให้ได้ไปต่อ ช่วยรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวและรักษาธุรกิจกงสีไว้ได้ 2. กรณีธุรกิจครอบครัวตกลงกันไม่ได้ แต่มีโอกาสจากกันด้วยดี โดยบางคนยอมออกจากกงสี และยังรักษาความสัมพันธ์ของครอบครัวไว้ได้ และ 3. กรณีตกลงกันไม่ได้ ธนาคารจะให้ข้อมูล ข้อกฎหมายกับคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง เพื่อไปตกลงกันในเวทีอื่น ๆ หรือไปดำเนินฟ้องร้อง
ปัจจุบันบริการ KBank Private Banking ดูแลลูกค้า 4,000 ราย หรือ 790 ครอบครัว และมีมูลค่าทรัพย์สินครอบครัวภายใต้การบริหารงานกว่า 1.8 แสนล้านบาท ทั้งด้านจัดการเงินทุน พอร์ตการลงทุน เงินฝาก ที่ดิน การลงทุนและดูแลทรัพย์สินในต่างประเทศ โดยปักหมุดเป็นธนาคารแรก ที่ให้บริการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งธุรกิจครอบครัว หากลูกค้าสามารถดูแลธุรกิจกงสีไว้ได้ ก็เป็นโอกาสให้ธนาคารสามารถดูแลบริหารการลงทุนธุรกิจครอบครัวได้มากขึ้น และเมื่อธุรกิงกงสีไปต่อได้ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและธนาคารที่ดูแลลูกค้ากลุ่มนี้