ปัจจุบันตลาดโจ๊กและข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป มีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท มีแบรนด์ “คนอร์” ของยูนิลีเวอร์ เป็นเจ้าตลาด ครองมาร์เก็ตแชร์ราว 90% ส่วน บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TFMAMA) เจ้าของแบรนด์ “มาม่า โจ๊กคัพ” ถือเป็นผู้ตามในตลาดนี้
การเป็นผู้ตาม (Follower) ในตลาดโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป และต้องแข่งกับเจ้าตลาดที่แข็งแกร่ง ดังนั้นเพื่อให้ได้มาร์เก็ตแชร์เพิ่มก็ต้อง “ฉีก” ด้วยรสชาติที่แตกต่าง
ก่อนหน้านี้ “มาม่า โจ๊กคัพ” เคยออกรสชาติฉีกแนวตลาดมาแล้ว อย่าง โจ๊กไม่ใส่ผงชูรส, โจ๊กรสต้มยำกุ้ง ถือเป็นโจ๊กรสชาติเผ็ดรายแรก, โจ๊กไข่เค็ม (ต่อยอดความสำเร็จจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า) จากนั้นออกสินค้า “ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป” ที่ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นมา
“มาม่า โจ๊กคัพ” รสชาติที่ใครๆ ก็เลียนแบบไม่ได้
คุณพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ “มาม่า” กล่าวว่า Identity ที่ชัดเจนของ “มาม่า” ก็คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสชาติต้มยำกุ้งและหมูสับ จึงนำจุดแข็งที่คนจำได้นี้ มาพัฒนาเป็น มาม่า โจ๊กคัพ “รสมาม่าต้มยำกุ้งและรสมาม่าหมูสับ” ซึ่งมีกลิ่นและรสชาติที่ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ของมาม่า
ที่สำคัญไม่มีใครเลียนแบบได้ เพราะหากเป็นโจ๊กหมู โจ๊กไก่ โจ๊กต้มยำ ใครๆ ก็ทำรสชาตินี้ออกมาขายได้
การสร้างความแตกต่างของโจ๊ก หากเป็นเนื้อโจ๊กที่ทำจากข้าว จะสื่อสารความแตกต่างได้ยาก แต่หากเป็นรสชาติที่แตกต่าง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จากผงปรุงรสมาม่ารสชาติต้มยำกุ้งและหมูสับ ซึ่งเป็นรสชาติยอดนิยมของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะสื่อสารและดึงลูกค้าให้มาทดลองได้ง่ายกว่า เพราะคุ้นเคยกับสินค้าอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้าหยิบซื้อง่ายขึ้น
สินค้าโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป หากไม่ฉีกด้วยรสชาติ ลูกค้ามักจะหยิบแบรนด์เจ้าตลาดจากความเคยชินและมีโปรโมชั่นจูงใจ “มาม่า โจ๊กคัพ” จึงใช้ความเป็นเจ้าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่คนคุ้นเคยเช่นกัน มาทำเป็นรสชาติโจ๊กคัพเพื่อดึงลูกค้าให้มาทดลองกิน
หลังจากเปิดตัว มาม่า โจ๊กคัพ “รสมาม่าต้มยำกุ้งและรสมาม่าหมูสับ” หากได้รับความนิยม ก็จะได้เห็นโจ๊กคัพรสชาติใหม่ๆ ที่มาจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มเข้ามาอีก เช่น รสเป็ดพะโล้
หากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะทำต่อเนื่อง เพราะการเป็น Follower ในตลาดโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป สามารถลองผิด ลองถูกได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อหาทางชิงส่วนแบ่งการตลาดจากผู้นำ
สินค้า มาม่า โจ๊กคัพ “รสมาม่าต้มยำกุ้งและรสมาม่าหมูสับ” แบบซอง ขนาด 35 กรัม ราคา 10 บาท และแบบคัพ 45 กรัม ราคา 15 บาท เริ่มวางขายในช่องทางร้านค้าทั่วไป (traditional trade) ตั้งแต่ปลายปีก่อน และวางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เดือนมีนาคม 2566 นอกจากนี้ยังมีมาม่า โจ๊กคัพ รสหมู ไก่ กุ้ง ไข่เค็ม (ยกเลิกรสต้มยำกุ้ง แทนที่ด้วยรสมาม่าต้มยำกุ้ง)
แบบซองก็เรียกโจ๊กคัพ
– “มาม่า โจ๊กคัพ” ทำตลาดครั้งแรกเมื่อ 30 ปีก่อน เริ่มด้วยบรรจุภัณฑ์ซอง เป็นโจ๊กที่ใช้วิธีต้มจึงเรียก “โจ๊กต้ม” ต่อมาปี 2544 เปลี่ยนมาเป็น “โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป” ในบรรจุภัณฑ์ถ้วย (คัพ) เติมน้ำร้อน 3 นาทีพร้อมรับประทาน จึงเรียก “มาม่า โจ๊กคัพ”
– เมื่อนำ มาม่า โจ๊กคัพ แบบกึ่งสำเร็จรูปมาทำเป็นรูปแบบซอง เพื่อไม่ให้ลูกค้าสับสนกับโจ๊กต้มแบบซอง (ปัจจุบันไม่มีขายแล้ว) จึงใช้ชื่อว่า “มาม่า โจ๊กคัพ” แบบซอง
– ดังนั้นคำว่า “โจ๊กคัพ” ของมาม่า จึงเป็นการสื่อถึงโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่ใส่น้ำร้อนแล้วกินได้ทันทีไม่ต้องต้ม มีทั้งแบบซองและถ้วย (เช่นเดียวกับแบรนด์เจ้าตลาด “คนอร์” ก็ใช้ว่า “คัพโจ๊ก” แบบซองและถ้วย)
อ่านเพิ่มเติม