Meta เปิดพฤติกรรมการช้อป Gen Z พบสนใจ Hybrid Shopping และมีอุปกรณ์ดิจิทัลอย่าง “สมาร์ทโฟน” เป็นเครื่องมือสำคัญ แม้อยู่ที่หน้าร้านก็ยังค้นหาข้อมูลออนไลน์ โดย Gen Z มีโอกาสกดซื้อสินค้าจากสมาร์ทโฟนแม้จะอยู่หน้าร้านสูงกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ถึง 1.2 เท่า
Meta เจ้าของแพลตฟอร์ม Facebook, Instagram และ Facebook Messenger เปิดผลสำรวจ The Future of Shopping Study by Ipsos ในช่วงเดือนมีนาคม 2022 ที่ทำการสำรวจพฤติกรรมนักช้อปอายุระหว่าง 18- 24 ปีหรือชาว Gen Z ในประเทศไทยจำนวน 359 คน พบว่าช่องทางการซื้อของ Gen Z แบ่งออกได้เป็นสามรูปแบบใหญ่ ๆ นั่นคือ
- ไปซื้อที่หน้าร้าน 46%
- สั่งออนไลน์และให้มาส่ง 37%
- สั่งออนไลน์และไปรับที่หน้าร้าน 17%
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ Meta พบเพิ่มเติมก็คือ แม้ช่องทางการซื้อของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามจะยังคงเกิดขึ้นที่หน้าร้านเป็นหลัก แต่ 88% ของ Gen Z มีการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเสิร์ชหาข้อมูลสินค้าก่อนเข้าไปที่หน้าร้าน และ 80% ยอมรับว่า ต่อให้อยู่ในร้านแล้วก็ยังคงเสิร์ชหาข้อมูลสินค้าต่อไป
Gen Z ไป “หน้าร้าน” เพื่อโซเชียล
อีกสิ่งหนึ่งที่ Meta พบก็คือ Gen Z คาดหวังประสบการณ์อื่น ๆ เพิ่มจากการไปที่ร้านค้า เช่น เทคโนโลยี AR ที่ช่วยให้พวกเขาลองเสื้อผ้าได้แบบเสมือนจริง (Virtually Try-on) หรือกรณีสตาร์บักส์ที่นำ AR มาใช้ตกแต่งแก้วกาแฟในเทศกาลต่าง ๆ ที่ชาว Gen Z มองว่าสามารถนำไปแชร์บนโลกโซเชียลได้ นอกจากนั้น Meta ยังพบข้อมูลความสนใจเกี่ยวกับ AR ในกลุ่ม Gen Z ด้วยดังนี้
- 65% ของ Gen Z สนใจร้านค้าที่นำ AR มาใช้งานในร้าน เช่น มาใช้ลองสินค้าแบบเวอร์ชวล
- 68% ของ Gen Z สนใจร้านค้าที่นำ AR มาให้ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติม
- 67% ของ Gen Z สนใจร้านค้าที่นำ AR มาใช้นำทางไปหาสินค้า
- 68% ของ Gen Z สนใจ Visual Search เช่น การให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาขาที่มีสินค้านั้น ๆ
“สมาร์ทโฟน” อุปกรณ์สำคัญในการช้อปปิ้ง
ข้อมูลจาก The Future of Shopping by Ipsos พบด้วยว่า 88% ของ Gen Z ยอมรับว่าสมาร์ทโฟนคืออุปกรณ์สำคัญในการช้อป และชาว Gen Z มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าจากสมาร์ทโฟนแม้จะเดินชมสินค้าอยู่ในร้านค้านั้น ๆ แล้วก็ตาม (มากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ 1.2 เท่า)
ทั้งนี้ Facebook แนะนำว่า ธุรกิจสามารถเพิ่มโอกาสในการค้นหาสินค้าในหมู่ Gen Z ได้ด้วยการต่อยอดผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AR หรือคลิปวิดีโอสั้น Reels (พร้อมเปิดเผยสถิติด้วยว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีการผลิตคอนเทนต์ Reels มากที่สุด)
Gen Z อยากให้แบรนด์เป็น “เพื่อนสนิท”
อีกหนึ่งผลสำรวจที่มีการเปิดเผยก็คือเรื่อง 2023 Culture Rising จาก Meta Foresight ที่ทำการวิเคราะห์ความชื่นชอบและความคาดหวังของกลุ่มนักช้อปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยพบว่า กลุ่มเป้าหมายคาดหวังให้แบรนด์ให้บริการเหมือนเป็นเพื่อนสนิท (Best Friends) ในขณะช้อปปิ้ง
สำหรับนิยามของเพื่อนสนิทคือ คาดหวังว่าแบรนด์จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมของตัวเอง, สื่อสารในแบบที่เขาชอบ, นำเสนอบริการอื่น ๆ เพิ่มเติม
นอกจากนี้ 69% ยังกล่าวว่าพวกเขาต้องการให้แบรนด์มีความพร้อมและสามารถติดต่อสื่อสารกับพวกเขาได้ทุกเวลาในโลกเสมือนจริง โดยหัวข้อการสนทนากับแบรนด์ที่มีความหลากหลายมากขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่คาดหวังให้แบรนด์ใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อการติดต่อสื่อสาร เช่น ระบบการส่งข้อความแบบทันทีบน Instagram (เพิ่มขึ้น 165%) และแชทบอทบน Facebook (เพิ่มขึ้น 189%) ด้วย
ข้อมูลเชิงลึกยังเน้นย้ำว่าธุรกิจไทยควรเลือกใช้ช่องทางที่กลุ่มลูกค้าอยู่ (Facebook, Instagram และ Messenger) เพื่อเชื่อมต่อและสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับคนในกลุ่ม Gen Z และต้องทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคกลุ่มนี้เพื่อสร้างความภักดีต่อแบรนด์อีกด้วย
นอกจากนี้ คนในกลุ่ม Gen Z ยังคาดหวังว่าประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดียของพวกเขา จะมีความเฉพาะตัวและสะดวกสบายอีกด้วย โดย 70% ต้องการการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของตน ซึ่งรวมไปถึงการโฆษณาแบบ Targeted Advertising
ในขณะที่ 67% ของคนกลุ่มนี้ พร้อมที่จะเปิดรับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หากแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีค่านิยมสอดคล้องกับความเชื่อของพวกเขา ซึ่งธุรกิจต่าง ๆ สามารถสร้างผลลัพธ์สูงสุดในการปรับโฆษณาแบบเฉพาะตัวและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้ ผ่านการกำหนดเป้าหมายโฆษณาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ หัวข้อที่กำลังมาแรง สภาพอากาศ หรือความสนใจต่าง ๆ ได้อย่างเฉพาะเจาะจง
การสื่อสารและประสบการณ์ส่วนตัวยังเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อพฤติกรรมการช้อปปิ้ง โดย 87% ของคนไทยในกลุ่ม Gen Z เลือกที่จะติดต่อกับธุรกิจผ่านแอปส่งข้อความ และ 86% ต้องการโต้ตอบกับธุรกิจผ่านทางโซเชียลมีเดีย พฤติกรรมดังกล่าวยังขยายไปถึงการเชื่อมต่อทางสังคมในภาพกว้าง รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจครีเอเตอร์ หรือ Creator Economy ซึ่งกว่า 84% ของคน Gen Z เลือกแบ่งปันประสบการณ์การช้อปของตัวเองบนโซเชียลมีเดีย ในขณะที่ 64% ต้องการที่จะเลือกซื้อสินค้าผ่านครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์โดยตรง
เปิด 5 ภารกิจ Meta 2023
ข้อมูลจาก Meta ยังเผยด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลก 3.8 พันล้านคนที่ใช้งานแอปในเครือของ Meta เป็นประจำทุกเดือน ส่วนในไทย พบว่า
- 91% ของ Gen Z ใช้งาน Facebook
- 85% ของ Gen Z ใช้งาน Messenger
- 83% ของ Gen Z ใช้งาน Instagram
แต่นอกเหนือจากการเปิดพฤติกรรมการช้อปของ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนโลกแห่งการช้อปปิ้งใน พ.ศ.นี้แล้ว คุณแพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director ของ Facebook ประเทศไทย ยังกล่าวถึงภารกิจหลักของ Meta ในปี 2023 ที่ประกอบด้วย 5 ประเด็นด้วย นั่นคือ
- การใช้ AI ในการแนะนำคอนเทนต์ – ฟีดวิดีโอใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้งานตามความสนใจ
- การสนับสนุน Reels ซึ่งพบว่าสามารถเพิ่มเวลาในการใช้งานบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของ Meta ได้
- Business Messaging หรือการซื้อขายผ่านแชท
- Metaverse ในฐานะแผนงานระยะยาว (Long-term Focus Area)
- การเพิ่มประสิทธิภาพของ Ads Infrastructure
ทั้งนี้ ผู้บริหาร Facebook ประเทศไทยเผยด้วยว่า ราคาค่าโฆษณาของแพลตฟอร์มจาก Earning Report ที่เพิ่งประกาศมาเมื่อเดือนเมษายนนั้น พบว่ามีการปรับตัวลดลง 17% (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา) เนื่องจากมีผู้ใช้งานมากขึ้น ขณะที่ Ad Impression เพิ่มขึ้น 26%
ส่วนการที่ซีอีโออย่าง Mark Zuckerberg บอกว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งประสิทธิภาพนั้น ทางผู้บริหาร Facebook ประเทศไทยเผยว่าในไทยได้มีการปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้นเช่นกัน โดยจะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจหาโซลูชันต่าง ๆ เพื่อให้เม็ดเงินที่ลงโฆษณาไปได้รับผลตอบแทนกลับมาสูงที่สุด เนื่องจากรายได้ค่าโฆษณายังคงเป็นรายได้หลักของธุรกิจ Meta โดยมีเพียง 3 – 5% ของรายได้เท่านั้นที่มาจาก Metaverse