“ร้านกาแฟพันธุ์ไทย” หนึ่งในร้านกาแฟธรุกิจนอนออยล์ (Non-Oil) ภายใต้การบริหารจัดการของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี (จำกัด) มหาชน เดินหน้ารุกตลาดร้านกาแฟเต็มสูบ ที่ไม่เพียงแต่การขยายสาขาภายในปั๊มน้ำมันพีทีเท่านั้น แต่ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “กาแฟพันธุ์ไทย” ยังก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดร้านกาแฟเมืองไทย ด้วยการขยายเข้าไปในทำเลที่หลากหลาย ตั้งแต่ อาคารสำนักงานไปจนถึงย่านชุมชน มากขึ้น
หลังสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา “กาแฟพันธุ์ไทย” ประกาศท้าชิงกับบิ๊กเนมอย่าง “ร้านคาเฟ่อเมซอน” และ “อินทนิล” ที่รั้งเบอร์ 1 และ 2 ของตลาดในขณะนี้ ด้วยการประกาศเป้าหมายปักธงผู้เล่น “เบอร์ 2” ในตลาดร้านกาแฟสัญชาติไทยให้ได้ในสิ้นปี 2566
ล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2566 “กาแฟพันธุ์ไทย” เปิดให้บริการกว่า 600 สาขา สามารถทำยอดขายได้กว่า 350 ล้านบาท เติบโตกว่าปีที่แล้ว 70% โดยวางเป้าหมายหลักในสิ้นปีนี้คือการก้าวเป็น ผู้เล่นเบอร์ 2 มีจำนวนสาขา 1,500 แห่ง หรือเติบโตขึ้นเป็น 3 เท่าในสิ้นปี 2566 ขณะที่เป้าหมายถัดไปคือการขยายสาขาเพิ่มเป็น 5,000 แห่งทั่วไทยในปี 2570
คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ (PTG) กล่าวว่า ที่ผ่านมากาแฟพันธุ์ไทยมีอัตราการเติบโตที่ดีอย่าต่อเนื่อง เมื่อบวกกับการเติบโตจาก (Same Store Growth) ที่มีมากกว่า 35% ต่อเนื่อง 2-3 ปี และเชื่อว่าจะโตแบบนี้อย่างน้อย 2-3 ปี บวกกับการขยายสาขาใหม่ที่จะมีอย่างต่อเนื่อง เชื่อแบรนด์จะสามารถขยายสาขาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน
“ผมไม่อยากจะบอกว่าเราจะขึ้นเป็นเบอร์ไหนในปี 2570 ชีวิตของเราเป็นอะไรที่วิ่งตามหลังคนอื่น ผมชอบวิ่งตามหลังคนอื่น เพราะอยู่ข้างหน้า ผมก็เหมื่อยคอ ต้องคอยหันไปมองข้างหลังว่าอยู่ตรงไหนแล้ว แต่พออยู่ข้างหลังวิ่งแล้วมันสนุกกว่า เพราะจะรู้ว่าใครอยู่ตรงไหน ทำอะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนที่ผ่านมาเราประสบผลสำเร็จในธุรกิจน้ำมัน และจากนี้ไปร้านกาแฟพันธุ์ไทยก็จะเป็นแบบนั้นบ้าง
ในอนาคตการเติบโตของพันธุ์ไทยแม้จะยังตอบไม่ได้ว่าจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ได้หรือไม่ แต่สิ่งสำคัญที่ทางแบรนด์โฟกัสคือ การสร้างการเติบโตในระยะยาว โดยส่วนหนึ่งของการเติบโตของพันธุ์ไทยมาจากการชิงแชร์ผู้นำ
ปัจจุบันตลาดตลาดกาแฟเมืองไทยมีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดร้านกาแฟในบ้าน 33,000 ล้านบาท เติบโต 55% และ ตลาดร้านกาแฟนอกบ้าน 27,000 ล้านบาท มีการเติบโตที่ 45% โดยภาพรวมเติบโต 9.5% นับว่าเป็นตัวเลขการเติบโตที่ดีในการขยายตลาด
ขณะที่ ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ‘ดีพร้อม’ พบว่ามีการบริโภคกาแฟในประเทศสูงถึง 70,000 ตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยผลิตได้เองเพียง 10,000 ตันต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้จากการศึกษาข้อมูลตลาดกาแฟโลก คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดกาแฟในช่วงปี 2564-2566 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 9% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.91 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ชี้ให้เห็นปัจจัยบวกของกาแฟในประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยโอกาสเติบโตอีกมาก
4 กลยุทธ์ลุยปั้นร้าน “พันธุ์ไทย” เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2568
อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญไม่ใช่แค่การก้าวขึ้นสู่เบอร์ 2 ในตลาดหากคือการก้าวสู่จุดที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือการปูพรม ไปพร้อมๆแผนงานกรุยทาง “ร้านกาแฟพันธุ์ไทย” เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2568 และขยายไปยังตลาดต่างประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี นั้นทำให้ร้านกาแฟพันธุ์ไทย เดินหน้าวางโรดแมปสำคัญต่างๆ ใน 4 กลยุทธ์หลัก เพื่อให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้
1.การขยายสาขา เน้นรูปแบบแฟรนไชส์ : หากนับจำนวนสาขา “ร้านกาแฟพันธุ์ไทย” ในปัจจุบันที่มีอยู่ 600 สาขา ถือเป็นลำดับที่ 3 ในตลาด คาดการณ์ว่าในสิ้นปีนี้ จะสามารถก้าวสู่ผู้เล่นอันดับ 2 ด้วยจำนวนสาขากว่า 1,500 แห่ง พร้อมกับยอดขายที่เติบโตแบบเท่าตัว หรือมีอัตราการเติบโต 80% และส่งผลให้กำไรเติบโตขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2566 นี้
แม้จะบอกว่าเป้าหมายการขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของ “พันธุ์ไทย” จะเป็นการขึ้นนำในเซกเมนต์ร้านกาแฟแบรนด์ไทย แต่เมื่อนับจำนวนสาขาของคู่แข่งที่เป็นผู้เล่นหลัก พบว่า ผู้นำคือ ร้านคาเฟ่อเมซอน ด้วยจำนวนกว่า 4,000 สาขา และ อินทนิล ที่มีอยู่กว่า 1,000 สาขา(ธันวาคม 2565) และทั้งคู่ก็คือแบรนด์ร้านกาแฟที่เกิดจากปั๊มน้ำมัน และมีสาขาอยู่ในปั๊มน้ำมัน ทำให้เป็นคู่แข่งทางตรงในทุกมิติอย่างเลี่ยงไม่ได้
ด้วยจำนวนสาขาที่น้อยกว่า การทำตลาดที่กินเวลาน้อยกว่า “พันธุ์ไทย” เลือกใช้กลยุทธ์การขยายสาขาที่เน้นไปในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยเฟสแรกจะเป็นการขยายไปในเขตเมือง ทำเล CBD ที่มีประชากรหนาแน่น ในกรุงเทพและ ปริมณฑล หัวเมืองท่องเที่ยวเมืองหลัก
ขณะที่สเต็ปถัดไปคือการขยายสาขาออกไปให้ครอบคลุมทั้ง 900 อำเภอทั่วประเทศ (ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนใต้) โดยในช่วง 4 ปีนับจากนี้ (ในปี 2570 ) พันธุ์ไทย จะต้องมีจำนวนสาขา 5,000 แห่ง หรือใน 1 อำเภอจะต้องมีร้านกาแฟพันธุ์ไทย 1 สาขาต่ออำเภอเป็นอย่างน้อย
ปัจจุบันรูปแบบของ “ร้านกาแฟพันธุ์ไทย” ประกอบไปด้วย 5 โมเดลหลัก ได้แก่ คือ คีออส (Kiosk) , ช้อปเฮาท์ (Shop House), ฟู้ดทรัค (Food Truck) ไดร์ฟทรู (Drive Thru) และ สแตนด์อะโลน (Stand Alone) มีราคาตั้งแต่ 1.25-2.5 ล้านบาทต่อสาขา สัญญา 2-3 ปี สามารถคืนทุน 2-3 ปีกว่าแล้วแต่โมเดล
ต่อยอดกลยุทธ์ “Local Suport” สร้างการเติบโตกลุ่ม Non-Beverage
ต่อมาคือกลยุทธ์ข้อที่ 2.การนำเสนอสินค้าใหม่จากวัตถุดิบท้องถิ่น : ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และหาทานได้ยากของไทย มาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นเครื่องดื่มเมนูต่าง เพื่อต่อยอดสินค้ามาวางจำหน่ายภายใต้ยอดกลยุทธ์ “Local Support ด้วยการพัฒนาเมนูเครื่องดื่ม 4-5 ชนิดในแต่ละปีวางจำหน่าย 2-3 เดือน หากได้รับการตอบรับที่ดีจะเพิ่มเป็นเมนูประจำของร้าน ซึ่งโมเดลนี้ถูกใช้มาตลอด 3 ปีและได้รับการตอบรับที่ดี
ล่าสุดได้จับมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) ที่ได้วิจัยคิดค้นพันธุ์ข้าวโพดหวาน ที่มีรสชาติ และคุณลักษณะทางการเกษตรที่ดี จนกระทั่งได้พันธุ์ข้าวโพดหวานอินทรี 2 ที่มีความหวานจากธรรมชาติ มาแปรรูปเป็นน้ำนมข้าวโพด และพัฒนาเป็น 3 เมนูใหม่ ได้แก่ โพดกาแฟ โพดชาไทย และโพดชาเขียว ในราคาแก้วละ 69 บาท ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 – 20 กรกฎาคม
หลังที่ผ่านมาได้มีการจับมือกับเกษตรกรในท้องถิ่นเปิดตัวเมนูพิเศษ ทั้ง ชาไทย-กาแฟ จากน้ําตาลโตนด จ.สงขลา และ จี๊ดกาแฟ จี๊ดชาไทย จากส้มมะปี๊ด จ.เพชรบุรี ในช่วงที่ผ่านมา
3.การเพิ่มไลน์สินค้ากลุ่ม Non-Beverage : ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ที่มาจากสินค้า Non-Beverage ของพันธุ์ไทยมีสัดส่วนอยู่ราว 30% นั้นทำให้แบรนด์พยายามปั้นสินค้าในกลุ่มนี้ขึ้นมาวางจำหน่ายในร้าน ไม่ว่าจะเป็น ขนม อาหาร สินค้าที่ระลึก สินค้าจากชุมชน เข้ามาช่วยเพิ่มความหลากหลายของ SKU ด้วยกลุ่ม Non-Beverage ทั้งขนมและของต่างๆจากชุมชน ของที่ระลึก ของพรีเมี่ยม เมล็ดกาแฟ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะสามารถสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยในอนาคตสินค้าในกลุ่มนี้จะเพิ่มสัดส่วนเฉลี่ย 30-35%
4. การขยายและรักษาฐานลูกค้าสมาชิก Max Card : ปัจจุบันบัตร Max Card มีสมาชิกกว่า 19 ล้านราย ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถเพิ่มสมาชิกในระบบได้มากกว่า 21 ล้านรายทั่วประเทศ ขณะที่บัตร Max Card Plus หรือบัตรแดง คาดการณ์ว่าในสิ้นปีนี้จะมีจำนวนสมาชิกที่ 500,000 ราย ให้เพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคนในปีถัดไป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าประจำที่มี Brand Royalty และมีกำลังซื้อสูงกว่ากลุ่มทั่วไปมากกว่า 2 เท่า
“บัตร Max Plus จะเป็นเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันที่ใช้เก็บข้อมูล รู้จัก รู้ใจ ใกล้ชิดในการทำแบบสอบถาม เพิ่มยอดขายให้แก่แบรนด์” คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ กล่าวทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติม
ส่องกลยุทธ์ “กาแฟพันธุ์ไทย” ทำอย่างไรเพื่อ ไล่บี้ “อินทนิล” เบียดเบอร์ 2 เชนร้านกาแฟ 2.7 หมื่นล้าน
10 ข้อคิด Underdog Spirit ‘พิทักษ์ รัชกิจประการ’ แห่ง PTG กับความกล้า ความบ้า และลงมือทำจริง