HomeBrand Move !!3 กลยุทธ์ SCB Protect ดันเบี้ยประกัน-รายได้โต 200% เดินหน้าเปิดศูนย์ฯ 4 ภาค จ้างงาน 2,000 คน

3 กลยุทธ์ SCB Protect ดันเบี้ยประกัน-รายได้โต 200% เดินหน้าเปิดศูนย์ฯ 4 ภาค จ้างงาน 2,000 คน

แชร์ :

SCB Protect ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของ SCBX ถือหุ้น 100% โดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เริ่มเปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นจังหวะที่เกิดสถานการณ์โควิด ต้องเจอกับการล็อกดาวน์ในปี 2564 ทำให้การขยายธุรกิจจริงจังอยู่ในปี 2565 ที่ถือเป็นช่วงเวลาของการ “สร้าง” ทั้งแพลตฟอร์มเข้าถึงลูกค้าและตัวแทนขายประกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

มาในปี 2566 เป็นปีแห่งการ “เชื่อม” ที่เป็นการนำช่องทาง Touch Point ต่างๆ เชื่อมเข้าหากันด้วยบริการไร้รอยต่อ ด้วยเป้าหมายการเติบโต 200%

หากดูแนวโน้มธุรกิจประกันหลังผ่านช่วงโควิดมาแล้ว เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว พฤติกรรมผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายด้านการรักษาเมื่อเจ็บป่วย รวมทั้งการทำประกันออมทรัพย์ อีกช่องทางการออม พบว่าคนรุ่นใหม่ วัยเริ่มต้นทำงาน มีความตื่นตัวในการทำประกันมากขึ้น เพื่อสร้างความคุ้มครองและความมั่นคง

ปัจจุบันอัตราการเข้าถึงประกัน (Insurance Penetration Rate) ของประชากรไทย อยู่ที่ 30% นั่นทำให้ธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

โชว์ผลงานปี 65 ธุรกิจทำกำไรแล้ว

คุณปรมาศิริ มโนลม้าย รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจประกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด กล่าวว่าหลังจบโควิด ปี 2565 ถือเป็นปีแรกที่ SCB Protect ทำงานได้เต็มรูปแบบ หลัง คปภ.เปิดสอบใบอนุญาตตัวแทนขายประกัน ทำให้สามารถเพิ่มตัวแทนขายประกันได้

สรุปผลการดำเนินงานในปี 2565 มีเบี้ยรับรวม 1,700 ล้านบาท เติบโต 145% ฐานลูกค้ากว่า 1.8 แสนราย เพิ่มขึ้น 77% และมีรายได้ 800 ล้านบาท เติบโต 139% โดยรวมปี 2565 สร้างการเติบโตได้ 200% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่สำคัญเป็นปีที่ “กำไร” แล้ว

3 กลยุทธ์ SCB Protect ดันธุรกิจโต 200%

เพื่อให้สอดรับกับกลยุทธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ประกาศเป็น “ดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง” ในปี 2566 SCB Protect วาง 3 กลยุทธ์หลัก ผลักดันธุรกิจประกันเติบโต 200%

1. Omni-Channel บริการไร้รอยต่อ

– Digital Platform : หลังผ่านสถานการณ์โควิด การทำงานยุค New Normal ทำให้ธุรกิจประกันปรับตัวสู่ Digital Insurance ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับการหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านออนไลน์ เพื่อเปรียบเทียบราคา และซื้อออนไลน์ ที่มีความสะดวก ปีที่ผ่านมาได้เปิดตัวโบรกเกอร์ประกันออนไลน์ บนเว็บไซต์ online.scbprotect.co.th และแอพ SCB EASY แต่ละเดือนมีลูกค้าเข้ามาดูโปรดักท์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ราว 3-5 แสนราย เพราะมีประกันหลากหลาย ทั้งประกันเดินทาง ประกันรถ ประกันที่อยู่อาศัย ประกันออมทรัพย์ ประกันโรคร้ายแรง

สำหรับลูกค้าที่ซื้อประกันผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนใหญ่ซื้อประกันภัยที่ราคาเบี้ยไม่สูง เน้นความสะดวก เช่น ประกันเดินทาง ประกันรถยนต์ โรคร้ายแรง พบว่าจำนวนรายที่ซื้อเติบโต 200-300% ทุกเดือน

– Telesale : แม้ลูกค้ามีพฤติกรรมค้นหาข้อมูลประกันจากช่องทางออนไลน์ แต่สิ่งที่ธุรกิจประกันแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ เมื่อลูกค้าเข้าไปดูข้อมูลโปรดักท์แล้ว สัดส่วนของลูกค้าที่จะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จนจบขั้นตอนมีสัดส่วนเพียง 2-3% เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่เข้ามาดูเพื่อเปรียบเทียบราคา

แต่พฤติกรรมการกดเข้ามาดูโปรดักท์ประกัน นั่นหมายถึงลูกค้ามีความสนใจและต้องการซื้อ แต่ดำเนินการไม่จบขั้นตอนในการซื้อ ส่วนใหญ่มักออกไปช่วงจ่ายเงิน ที่อาจไม่สะดวกกับลูกค้า เช่น จ่ายผ่านบัตรเครดิต ในจุดนี้ SCB Protect จึงใช้ช่องทางทีม Telesale เข้าไปติดตามเพื่อให้บริการลูกค้าต่อ รวมถึงนำเสนอโปรดักท์ประกันอื่นๆ และให้บริการสอบถามข้อมูลและดูแลลูกค้าผ่านช่องทางสายด่วน 1314

– Protection Consultant : การสร้างตัวแทนขายให้บริการแบบ Face to Face เพราะ Human Touch ในธุรกิจประกันยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นการเดินตามวิชั่นของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ว่าด้วย Digital Bank with Human Touch ปัจจุบันการขายประกันชีวิตที่มีเบี้ยสูงหลักแสนบาท และความคุ้มครองยาวเป็น 10 ปีขึ้นไป ผู้บริโภคยังต้องการซื้อผ่านตัวแทน เพราะต้องการให้มีการอธิบายรายละเอียดกรมธรรม์ และข้อมูลต่างๆ

กลยุทธ์ Omni-Channel ของ SCB Protect เป็นการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าผ่านแต่ละ Customer Journey ที่พวกเขาคุ้นเคยและสะดวก เพื่อเข้าถึงประกันที่เหมาะสมกับแต่ละคน ในทุกช่องทาง ไม่ว่าลูกค้าจะเข้ามาผ่านช่องทางไหน ก็สามารถนำเสนอบริการประกันต่างๆ ที่มีโปรดักท์เหมือนกันทุกช่องทาง

การขายประกันของ SCB Protect มาจากช่องทาง Telesale 80% (เนื่องจากปีก่อนเป็นช่องต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้การออกไปพบลูกค้ายังไม่มาก) ช่องทางตัวแทนขาย (face to face) 17-18% และช่องทางดิจิทัล 2-3% (แพลตฟอร์มดิจิทัลส่วนใหญ่ จะส่งต่อลูกค้าไปให้ช่องทาง Telesale ปิดการขาย)

2. พัฒนา AI ในการนำเสนอโปรดักท์

การพัฒนา AI เป็นการสานต่อวิชั่นของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะก้าวสู่ Fin Tech Group โดยใช้แพลตฟอร์ม ดาต้าและอินไซต์ลูกค้า มาวิเคราะห์พฤติกรมผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์ จากนั้นพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ ค่าเบี้ยและช่องทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย

3. เปิดศูนย์ฯ ขยายเครือข่ายต่างจังหวัด 4 ภูมิภาค

หลังจาก SCB Protect เปิดธุรกิจในปี 2563 เริ่มจากเจาะฐานลูกค้าในกรุงเทพฯ และสร้างแพลตฟอร์ม Omni-Channel นโยบายปี 2566 คือ มุ่งขยายสู่ต่างจังหวัด เพื่อสร้างฐานลูกค้าและสร้างงานในภูมิภาค ด้วยการเปิดศูนย์กลาง (Hub) การดำเนินงานประจำภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เริ่มแห่งแรกภาคเหนือ เปิดศูนย์ฯ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้พื้นที่สาขาเดิมของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาศรีนครพิงค์

การเลือกเปิดศูนย์ฯ ภูมิภาคแห่งแรกที่เชียงใหม่ เพราะเป็นเมืองหลักของธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 จังหวัดเชียงใหม่ ในไตรมาสแรกของปี 2566 เติบโต 30% นอกจากนี้หลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้นมีแรงงานกลับคืนถิ่นจำนวนมาก และต้องการมีอาชีพที่มั่นคง มีมหาวิทยาลัย ทำให้มีการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ปัจจุบันศูนย์ฯ เชียงใหม่ ภาคเหนือ มีพนักงานรวม 450 คน

ไตรมาส 3 ปีนี้จะขยายศูนย์ฯ ประจำภูมิภาคต่อในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น รับพนักงาน 300 คน จากนั้นจะเปิดในภาคใต้ รับพนักงาน 400-500 คน ส่วนภาคตะวันออกเปิดในปี 2567 จำนวนพนักงานใกล้เคียงกัน

การขยายศูนย์ฯ ประจำภูมิภาค ทั้ง 4 ภาคของ SCB Protect จะสร้างงานให้กับท้องถิ่นรวมกว่า 1,500 ตำแหน่ง รวมทั้งในกรุงเทพฯ ได้เปิดรับพนักงานเพิ่มโดยเฉพาะตำแหน่ง Telesale 200-300 คน โดยรวมปีนี้มีการจ้างงานเพิ่ม 2,000 คน

สำหรับตำแหน่งงานของ SCB Protect เปิดรับทั้งผู้ที่มีประสบการณ์งานขายประกันและนักศึกษาจบใหม่ ตำแหน่งที่รับจำนวนมากคือ Telesale ซึ่งจะดูแลฝึกอบรมเป็นตัวแทนขายประกัน ส่งสอบใบอนุญาตฟรี โดยเป็นสัญญาจ้างพนักงาน มีเงินเดือนประจำ เบี้ยขยัน ค่าคอมมิชชั่นตามผลงาน รางวัลพิเศษตามแคมเปญ สวัสดิการต่างๆ ตำแหน่งพนักงานเทเลเซลส์ นักศึกษาจบใหม่ ได้รับเงินเดือน 13,000 บาท เบี้ยขยัน 2,500 บาท (ไม่ขาดงาน) เท่ากับเงินเดือนพื้นฐาน 15,500 บาท ไม่รวมรายได้ค่าคอมฯ และอื่นๆ

หลังเปิดศูนย์ฯ ภูมิภาคครบทั้ง 4 ภาคแล้วในปี 2567คาดว่าสัดส่วนการขายเบี้ยรับและรายได้จากต่างจังหวัดอยู่ที่ 30% จากนั้นภายใน 3 ปี จะเพิ่มเป็น 60% และกรุงเทพฯ 40%

เปิดตัวประกันกลุ่ม-องค์กร ดันเบี้ยรับ-รายได้โต 200%

ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีฐานลูกค้า 17 ล้านราย ใช้แอพ SCB EASY 13-14 ล้านราย ทำให้ฐานลูกค้าประกันของ SCB Protect เป็นกลุ่มแมส โดยเฉลี่ยผู้ถือเบี้ยประกันชีวิตอยู่ที่ 14,000-15,000 บาท ส่วนประกันรถยนต์เฉลี่ย 7,000 บาท

ในปี 2566 SCB Protect ได้ขยายผลิตภัณฑ์ประกันกลุ่ม ประกันลูกค้าองค์กร โดยร่วมมือกับ “ซันเดย์ ประกันภัย” บริษัทอินชัวร์เทคชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ SCB 10X ถือหุ้นอยู่ เปิดตัวประกันกลุ่มอุบัติเหตุสุดคุ้ม (Group Personal Accident) ประกันพื้นฐานความคุ้มครองสำหรับความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นได้บ่อยสำหรับทุกวัย

โดยสามารถทำได้ทั้งพนักงานองค์กร สมาชิกในองค์กรและครอบครัวของคนในองค์กร ด้วยค่าเบี้ยเริ่มต้นปีละ 225 บาท รับความคุ้มครองชีวิตจากอุบัติเหตุสูงถึง 100,000 บาท และประกันกลุ่มอุบัติเหตุ PA แผน 6 ที่มีค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุครั้งละ 5,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และความคุ้มครองชีวิตจากอุบัติเหตุสูงถึง 500,000 บาท ด้วยค่าเบี้ย 1,180 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีประกันกลุ่มรถทัวร์ รถตู้ ประกันทรัพย์สินและโรงงาน

นอกจากนี้ ยังได้ลงนามความร่วมมือกับ 5 องค์กรภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงใหม่ สมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทยจังหวัดเชียงใหม่ ATED.CM และสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) เสนอผลิตภัณฑ์ประกันกลุ่มราคาพิเศษ สำหรับกลุ่มอาชีพอิสระเกี่ยวกับธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวภาคเหนือ เช่น มัคคุเทศก์ที่มีกว่า 7,000 คน ไรเดอร์ คนขับรถตู้ เพื่อเข้าถึงประกันได้ในราคาคุ้มค่า

ในปี 2566 ด้วยกลยุทธ์ การขยายศูนย์ฯ ภูมิภาค และการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ SCB Protect ตั้งเป้าหมายเบี้ยรับรวม 3,400-3,500 ล้านบาท เติบโต 200% มาจากประกันชีวิต 70% ประกันภัย 30% ส่วนรายได้ 1,600-1,700 ล้านบาท และลูกค้า 2 แสนราย


แชร์ :

You may also like