หลังไตรมาส4 ปี 2565 SINGER มีตัวเลข NPL จากสัญญาเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 11% ทำให้ต้องยึดสินค้าคืนจากลูกค้าผิดนัดผ่อนส่งค่างวด จากผลกระทบโควิด นอกจากนี้ยังมีสินค้า “ตู้น้ำมัน” ที่ยึดคืนเป็นสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้ต้องเร่งเคลียร์ตัวเลข NPL พร้อมนำเครื่องใช้ไฟฟ้าและตู้น้ำมันที่ยึดคืนมาบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้
การขับเคลื่อนธุรกิจ SINGER ในปีนี้ได้เปิดตัวแม่ทัพใหม่ คุณนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อนหน้านั้นนั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ธุรกิจในเครือเจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เพื่อพา SINGER ก้าวสู่ New Chapter
“ซิงเกอร์” เป็นแบรนด์ที่อยู่ในตลาดไทยมา 134 ปี มีเครือข่ายไดเร็คเซลส์ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ครอบคลุมทุกทั่วประเทศ
ปัจจุบันมีสินค้า 4 กลุ่มหลัก คือ 1. สินค้าคอมเมอร์เชียล กลุ่มสินค้าสร้างอาชีพ สำหรับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี 2. เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliances) สำหรับลูกค้าทั่วไป 3. จักรเย็บผ้า (Sewing Machine) เป็นสินค้าไอคอนิกของซิงเกอร์ และเป็นสินค้าสร้างอาชีพ 4. เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านชิ้นเล็ก (Small Appliances) สำหรับลูกค้าทั่วไป เป็นตลาดที่มีโอกาสอีกมากที่จะเข้าถึงผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เป็นสินค้าราคาไม่สูง
แม้วันนี้ซิงเกอร์ มีปัญหาเรื่องตัวเลข NPL จากการยึดคืนสินค้ากลุ่มหลัก เครื่องใช้ไฟฟ้าและตู้น้ำมันหยอดเหรียญซิงเกอร์ จากลูกค้าที่มีปัญหาผิดนัดผ่อนค่างวด แต่แม่ทัพใหม่ คุณนราธิป มองว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ ก็จะมีโอกาสอยู่เช่นกัน หลายวิกฤติทำให้เกิด Business Model ใหม่ และรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ภายใต้การนำทัพซิงเกอร์ จึงวางทิศทางธุรกิจในปี 2566 เพื่อนำองค์กรสู่ The New SINGER ไว้ 5 เรื่องหลักดังนี้
1. New Baseline สร้างธุรกิจใหม่
นอกจาก 4 กลุ่มสินค้าหลักที่มีอยู่แล้ว ซิงเกอร์จะสร้างยอดขายจากสินค้าใหม่ในปีนี้ เช่น โซลาร์รูฟ, เฟอร์นิเจอร์ และการผ่อนทองคำ คาดว่าครึ่งปีหลังกลุ่มนี้จะสร้างยอดขายได้ 400 ล้านบาท
รวมทั้งให้ทีมไดเร็คเซลส์ ทำยอดขายเพิ่มขึ้นในกลุ่มมือถือ, แกดเจ็ต, สินค้าไอที แม้มีมาร์จิ้นไม่สูง แต่มีโอกาสทางการขายสูง เพราะวันนี้มือถือกลายเป็นสินค้าต้องมี ต้องใช้ จึงขายง่าย และมีโอกาสสร้างฐานลูกค้าให้สินค้าซิงเกอร์ในอนาคต วางเป้าหมายสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 3 เท่าเทียบปีก่อน
2. เปิดโมเดลธุรกิจปั๊มตามใจ
หลังจากลูกค้ามีปัญหาผ่อนค่างวดสินค้ากลุ่มคอมเมอร์เชียลและเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ต้องยึดสินค้าคืนกลายเป็น “สินค้ามือสอง” จึงต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส สร้าง New Business Model เริ่มจาก “ตู้น้ำมันยอดเหรียญ” ที่นำมาทำเป็นสินทรัพย์ใหม่เพื่อสร้างรายได้ โดยได้จับมือกับกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ติดตั้งตู้น้ำมัน 60 จุด ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้คนทั่วไปเติมน้ำมัน กำลังพูดคุยกับพาร์ทเนอร์อีกหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ ระยอง
อีกโมเดล คือปั๊มน้ำมันขนาดเล็ก ในชื่อ “ปั๊มตามใจ” เป็นการต่อยอดนำตู้น้ำมัน รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ของซิงเกอร์ที่ยึดคืนจากลูกค้าเป็นสินค้ามือสอง ไม่ว่าจะเป็น ตู้เติมเงิน ตู้กดน้ำดื่ม ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ นอกจากนี้กำลังหาพาร์ทเนอร์ที่จะทำตู้อัตโนมัติอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อติดตั้งในปั๊ม
“ปั๊มตามใจ” จะเป็นจุดหมาย (Destination) ของคนในชุมชน ที่มาเติมน้ำมันและใช้บริการตู้อัตโนมัติอื่นๆ โมเดลนี้เปิดรับผู้สนใจลงทุนเป็นเจ้าของธุรกิจปั๊มตามใจ ปีนี้วางเป้าหมายติดตั้งตู้น้ำมัน 5,000 ตู้
ในไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้จะเคลียร์สินค้ายึดคืนให้ได้ 50% และไตรมาส 4 อีก 25% และเหลือบางส่วนไม่มากในปีหน้า สินค้ายึดคืนที่อยู่ในคลังจำนวนมาก (ในเชิงมูลค่า) คือ ตู้น้ำมัน ตามด้วย ตู้แช่ และแอร์ ปัญหาหนี้เสียของตู้น้ำมัน มาจากการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าที่ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
ปัจจุบันมีตู้น้ำมันซิงเกอร์ กระจายอยู่ทั่วประเทศแล้ว 19,000 ตู้ สำหรับผู้ที่ดำเนินการอยู่แล้วสามารถอัพเกรดเป็นโมเดล “ปั๊มตามใจ” ได้เช่นกัน
3. New Channel Mix พัฒนาช่องทางขายหน้าร้าน-ออนไลน์
ปัจจุบันช่องทางการขายสินค้าซิงเกอร์ จะมีหน้าร้าน, ไดเร็คเซลส์ และแอปพลิเคชั่น โดยจะทำให้เป็น Hybrid Sale เป็นการผสมผสานทุกช่องทางเพื่อสร้างโอกาสทางการขาย โดยนำหน้าร้านซิงเกอร์ที่มีศักยภาพจำหน่ายสินค้าได้ มาเป็นช่องทางขาย จากปัจจุบันใช้เป็นที่เก็บสต็อกสินค้าเป็นหลัก โดยจะปรับเมอร์เชนไดส์สินค้า การวางจำหน่ายสินค้าให้เหมาะสมกับลูกค้าในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก
ส่วนทีมไดเร็คเซลส์ ที่ออกไปพบลูกค้า จะมี อี-แคตตาล็อก ให้นำเสนอสินค้าเพิ่มเติม รวมทั้งนำเสนอสินค้ามือถือเงินผ่อนผ่าน Kashjoy บริการสินเชื่อในกลุ่มเจมาร์ท เพื่อสร้างความหลากหลายของระบบจ่ายที่ทำให้มีโอกาสได้กลุ่มลูกค้าใหม่ นอกจากกลุ่มเดิม
รวมทั้งขยายแฟรนไชส์ซิงเกอร์จาก 300 ราย ให้เป็น 2,000 รายในปีนี้ เพื่อสร้างช่องทางขายให้เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ขยายช่องทางขายกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก มือถือ แกดเจ็ต ผ่านอีคอมเมิร์ซ ทั้งออนไลน์ของซิงเกอร์และอีมาร์เก็ตเพลส Lazada Shopee รวมทั้ง Live Commerce ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
4. ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการให้สินเชื่อ
เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำสินเชื่อคุณภาพ ผ่านระบบ eKYC ยืนยันตัวตนลูกค้าที่จะทำให้ได้ลูกค้าคุณภาพดี ช่วยลด NPL และลดสินค้ายึดคืน, การใช้แอพ SG Direct เป็นระบบการทำสินเชื่อที่ไม่มีเอกสาร และการตรวจสอบคุณภาพบัญชี
5. การสร้างแบรนด์ซิงเกอร์
“ซิงเกอร์” เป็นแบรนด์ที่อยู่ในประเทศไทยมา 134 ปี เพื่อทำให้องค์กรมีตัวตนและลูกค้าที่จัดเจน ต้องสร้าง Branding ให้แข็งแกร่ง เริ่มจากผลิตภัณฑ์ซิงเกอร์ กลุ่มสร้างอาชีพ คือ “จักรเย็บผ้า” ที่ถือเป็นสินค้าไอคอนิกของแบรนด์ซิงเกอร์ ด้วยการเปิด SINGER SEWING MACHINE ACADEMY ที่โครงการ แจส กรีน วิลเลจ คู้บอน ซึ่งเป็นอคาเดมี่ เทรนนิ่ง เปิดเวทีให้ดีไซเนอร์ นักศึกษา มาประกวดผลงานเสื้อผ้าที่ออกแบบโดยจักรเย็บผ้าซิงเกอร์ เป็นการต่อยอดแบรนด์ซิงเกอร์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้า และการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ
นอกจากนี้จะ Synergy กับกลุ่มบริษัทในเครือ JMART เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับ “เจมาร์ท โมบาย” ในการจำหน่ายสินค้าซิงเกอร์ผ่านทางช่องทางต่างๆ ของเจมาร์ท และการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าซิงเกอร์เข้าไปสู่โปรเจกต์ต่างๆ ของ เจเอเอส แอสเซ็ท และ โครงการบ้านมือสอง ของ เจ แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์
ปีนี้วางเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อรวมแตะระดับ 20,000 ล้านบาท หรือโตประมาณ 35% จากปีก่อน แบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (C4C) ภายใต้แบรนด์รถทำเงินของ บมจ.เอสจี แคปปิตอล (SGC) ประมาณ 7,700 ล้านบาท และวางเป้าหมายควบคุมอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สำหรับสินเชื่อใหม่ ในปีนี้ไม่เกิน 5%
อ่านเพิ่มเติม