บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 ของการบินไทยและบริษัทย่อย 5 บริษัท คือ 1.ไทย-อะมาดิอุสเซาท์อีสต์เอเชีย 2. บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส 3. บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ 4.บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง และ 5. บริษัททัวร์เอื้องหลวง
การบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 271% กำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 486% (เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุน 3,247 ล้านบาท) สรุปได้ดังนี้
1. รายได้การบินไทยและบริษัทย่อย
– รายได้จากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน จำนวน 34,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 681% เนื่องจากไตรมาสนี้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 เริ่มกลับมาเปิดเส้นทางบินสู่ประเทศจีน
– ปริมาณขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 469% คิดเป็นเงิน 20,800 ล้านบาท มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.5% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่เฉลี่ย 32.5%
– รายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ จำนวน 4,363 ล้านบาท ลดลง 16.4%
– รายได้กิจการอื่น ได้แก่ การบินภาคพื้น ครัวการบิน การบริการ คลังสินค้า และรายได้จากกิจกรรมสนับสนุน จำนวน 1,960 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.4% จากจำนวนลูกค้าสายการบินเพิ่มขึ้น
– ในไตรมาส 1 ปีนี้ มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ กำไรจากการขายสินทรัพย์ และกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นรายได้รวม 2,987 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 945 ล้านบาท
2. ค่าใช้จ่าย
– มีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 28,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 98.4% เนื่องจากการขยายการผลิตดังนี้ 1. ค่าน้ำมันเครื่องบิน จำนวน 12,052 ล้านบาท คิดเป็น 42.3% ของค่าใช้จ่ายรวม จากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 9.7% 2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 16,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.6%
3. กำไรสุทธิ
– กำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 486% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุน 3,247 ล้านบาท
– กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 2,640 ล้านบาท
– กำไรจากการยกเลิกสัญญา, กำไรจากการตัดรายการหนี้สินทางการเงินด้วยวิธีทุนตัดจำหน่ายและขาดทุนจากการปรับปรุงหนี้สินตามแผนฟื้นฟูกิจการ
– กำไรจากการขายสินทรัพย์ 363 ล้านบาท 1. ขายเครื่องบิน B747-400 1 ลำ จำนวน 9 ล้านบาท 2. ขายทรัพย์สิน จำนวน 354 ล้านบาท คือ ห้องชุดพักอาศัยและอาคารสำนักงานต่างประเทศ
– กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำนวน 115 ล้านบาท
4. งบการเงินเฉพาะสายการบินไทย
– รายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 38,951 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 281%
– กำไรสุทธิ 11,879 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 831% (ช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุน 1,624 ล้านบาท)
– ไตรมาสแรกผู้โดยสารสายการบินไทยจำนวน 2.19 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 852%
5. งบการเงินเฉพาะไทยสมายล์แอร์เวย์
– ไตรมาสแรกปี 2566 รายได้ 3,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 152%
– กำไรสุทธิ 82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106% (เทียบปีก่อนขาดทุน 1,402 ล้านบาท)
6. ไตรมาสแรกปี 2566 การบินไทยมีเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน 13,031 ล้านบาท เนื่องจากมีกำไร ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุน
7. ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบิน จำนวน 65 ลำ รวมเครื่องบิน A320-200 จำนวน 20 ลำ ซึ่งทำการบินโดย ไทยสมายล์แอร์เวย์ มีเครื่องบินจอดระยะยาว 21 ลำ และเครื่องบินปลดระวางและอยู่ระหว่างการขาย 16 ลำ
8. ปีนี้เช่าเครื่องบินแอร์บัส 350 เพิ่ม 4 ลำ เดือนพฤษภาคม เข้ามาแล้ว 1 ลำ เดือนมิถุนายนอีก 1 ลำ และเดือนสิงหาคม 2 ลำ โดยวางแผนเช่าเครื่องบินแอร์บัส 350 ทั้งหมด 11 ลำ ที่เหลือจะทยอยเข้ามา สำหรับเครื่องบินใหม่ที่เข้ามาจะเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทาง จีน (กวางเจา เซียงไฮ้ ปักกิ่ง) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเส้นทางยุโรป ปกติช่วงไฮซีซันธุรกิจการบิน คือไตรมาส 1 และไตรมาส 4 คาดว่าทั้งปีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 77-80%
9. การบินไทย ยังมีทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ที่รอการขาย คือ สำนักงานในประเทศที่ เชียงใหม่ พิษณุโลก สำนักงานต่างประเทศ ที่อังกฤษ (ออฟฟิศและบ้านพัก) ปีนัง ฮ่องกง คาดรายได้รวมหลัก 100 ล้านบาท เพราะโมเดลการทรานส์ฟอร์เมชั่นในการบริหารธุรกิจการบินไทยจะใช้ระบบออนไลน์ จึงลดการถือครองทรัพย์สินที่เป็นสำนักงาน เนื่องจากมีต้นทุนในการดูแล
10. จากผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 ทำได้ดีกว่าแผนฟื้นฟู เมื่อรวมทั้งปีผลประกอบการปี 2566 ทำได้ดีกว่าแผนฟื้นฟูเช่นกัน และคาดว่าการบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการไม่เกินปี 2567
อ่านเพิ่มเติม