จุดเริ่มต้นของ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อกว่า 30 ปีก่อน จากยุคผู้ก่อตั้งมีเส้นทางไม่ต่างจาก “สตาร์ทอัพ” สร้างธุรกิจจนมียอดขายปีละกว่า 50,000 ล้านบาท นอกจากการเติบโตในตลาดที่อยู่อาศัย ได้มองโอกาสในกลุ่มสตาร์ทอัพ สร้างบิสซิเนส โมเดลใหม่ และต่อยอดมูลค่าเพิ่มให้กลุ่มอสังหาฯ
ในงาน Creative Talk Conference 2023 คุณวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) เล่าถึงวิธีคิดในการบ่มเพาะไอเดีย Internal Startup การสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพในองค์กร ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนเติบใหญ่ From Zero to Hero
วันนี้ AP เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจอสังหาฯ แต่ก็มองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ช่วง 2 ปีก่อน จึงจัดตั้งหน่วยธุรกิจในรูปแบบ Internal Startup เพื่อมองหาคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์ อยากทำธุรกิจของตัวเอง และพัฒนาไอเดียไปสู่บิสซิเนส โมเดลใหม่ๆ โดยเปิดโอกาสให้ทั้งพนักงาน AP มานำเสนอไอเดีย
รวมทั้งคนนอกหรือสตาร์ทอัพ หากไอเดียผ่านการคัดเลือก ก็จะดึงเข้ามาอยู่ในองค์กร โดยได้รับเงินเดือน มีการส่งเทรนนิ่งเสริมทักษะ ศึกษาเพิ่มเติม เรียนต่อปริญญาโทต่างประเทศ และให้เงินลงทุนพัฒนาธุรกิจ เป็นการทำงานแบบลูกผสมระหว่างสตาร์ทอัพกับพนักงานองค์กร เมื่อพัฒนาออกมาเป็นธุรกิจแล้ว ก็จะร่วมเป็นผู้ถือหุ้นและแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน
“โมเดล Internal Startup เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพ เดินเข้ามาในเอพี พร้อมกับไอเดียและ Passion ที่อยากสร้างสรรค์ธุรกิจขึ้นมา หากไอเดียพัฒนาต่อได้ เอพีจะเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จออกมาเป็นโปรดักท์หรือบริการ พร้อมขยายต่อเพื่อประสบความสำเร็จไปด้วยกัน เรียกว่าจาก Zero to Hero เราเหมือนเป็นนักลงทุนที่มีความชำนาญเฉพาะทางและพร้อมจะบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพให้โตไปด้วยกัน”
3 หลักเกณฑ์คัดไอเดียพัฒนานวัตกรรม
– Creativity ไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีที่จะมาเป็นตัวช่วยทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นและสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจที่อยู่อาศัย
– Deep Insight นวัตกรรมจากอินไซต์ที่เข้าใจความต้องการผู้บริโภค ดูว่าอะไรเป็น pain point ของลูกค้า และช่วยให้แก้ปัญหานั้น
– Business Model ตอบโจทย์บิสซิเนส โมเดล ในการพัฒนาออกมาเป็นธุรกิจสร้างรายได้และขยายธุรกิจได้
4 ขั้นตอนเส้นทางปั้นสตาร์ทอัพ
หลังจากคัดเลือกไอเดียแล้ว จะมี 4 ขั้นตอนในการนำมาพัฒนานวัตกรรม สร้างบิสซิเนส โมเดลร่วมกับสตาร์ทอัพ โดย AP พร้อมสนับสนุนเงินทุนและช่องทางการทำตลาด
1. Set up กำหนดทิศทางธุรกิจ วางเป้าหมายให้ตรงกัน ทั้งสตาร์ทอัพและนักลงทุน สร้างทีมเวิร์กที่จะทำงานให้เหมาะสม โดยมีอีโคซิสเต็มของ AP ในกลุ่มที่อยู่อาศัยช่วยสนับสนุนและให้คำแนะนำ
2. Ideation วางไอเดียธุรกิจ การตอบโจทย์อินไซต์ลูกบ้านของ AP
3. Validation กำหนดงบประมาณ การทดลองทำตลาด และวางบิสซิเนส โมเดล
4. Scale การลงทุนที่เฟส ทำตลาดและแผนการขยายธุรกิจ
นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นจากสตาร์ทอัพที่ AP สนับสนุนนี้ หากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ Scale ยาก ก็จะนำเข้าไปรวมกับธุรกิจบริการของ AP ในส่วนของพร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนต์ ที่ให้บริการดูแลลูกบ้าน แต่หากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและ Scale ได้ จะจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหาร โดยทั้ง 2 รูปแบบ สามารถให้บริการได้ทั้งในธุรกิจของ AP และธุรกิจอื่นๆ
เปิดตัว 2 บริการ
ปัจจุบันได้เปิดตัว 2 บริการที่มาจากหน่วยงาน Internal Startup
1. Katsan บริการด้าน Security Control เป็นระบบดูแลความปลอดภัยในที่อยู่อาศัย ด้วยนวัตกรรมการอ่านป้ายทะเบียนรถที่เข้า-ออกโครงการ เพื่อติดตามและเพื่อดูแลความปลอดภัย บริหารจัดข้อมูลแบบ Real Time ใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ บนแอพพลิเคชั่น เป็นบริการที่ใช้ได้ทั้งที่อยู่อาศัยของ AP ,โครงการที่อยู่อาศัยอื่น, โรงงาน
2. Fit Friend บริการด้าน Trainer Delivery Service ที่เกิดขึ้นจากช่วงโควิด ฟิตเนสปิด เทรนเนอร์ไม่มีงาน จึงพัฒนาเป็นแอพพลิเคชัน ทำหน้าที่เป็น Match Maker ส่งเทรนเนอร์ไปสอนที่บ้าน ที่ทำงาน ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งรูปแบบ Online และ Offline ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองที่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ออกกำลังกาย
ทั้ง 2 บริการนี้เริ่มต้นไอเดียมาจากอินไซต์ของลูกบ้าน AP และพัฒนาต่อจนออกมาเป็นนวัตกรรมที่ให้บริการได้ทั้งในโครงการที่อยู่อาศัยของ AP และให้บริการทั่วไป มีโอกาสที่จะขยายต่อได้ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพ และการสร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจให้กับ AP