HomePR NewsYO! และนี่คือเสียงจากเด็กค่าย “เพาเวอร์กรีน” เสียงสะท้อนจากวัยรุ่นยุคใหม่ หัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม [PR]

YO! และนี่คือเสียงจากเด็กค่าย “เพาเวอร์กรีน” เสียงสะท้อนจากวัยรุ่นยุคใหม่ หัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม [PR]

แชร์ :

5 มิถุนายนของทุกปีคือวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม กระตุ้นเตือนถึงปัญหา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงมือปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวมาเป็นกำลังสำคัญในการร่วมอนุรักษ์และส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

และวันนี้เราจะมาฟังเสียงสะท้อนของหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญ ที่พร้อมประกอบเข้ากับฟันเฟืองชิ้นอื่น ๆ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมโลกไปในทิศทางที่ดีกว่า มาทำความรู้จักกับน้องพัด-ณภัทร ปรุงศรีปัญญา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในความภูมิใจจากค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (Power Green Camp) รุ่นที่ 17

จุดเริ่มต้นจากคนใน “ครอบครัว”  

“คุณพ่อเป็นต้นแบบที่ทำให้ผมสนใจและใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก เมื่อครอบครัวสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเราแล้ว เราก็อยากที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนรอบข้าง” พัด-ณภัทร ปรุงศรีปัญญา เล่าว่า ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาคุ้นชินกับการดำเนินชีวิตด้วยความรักและหวงแหนในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะชุมชนที่เขาอาศัยอยู่  คุณพ่อของพัดเป็นผู้นำชุมชนที่ผลักดันให้ชุมชนบ้านหัวถนน ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ กระตุ้นให้คนในชุมชนกว่าสามร้อยครัวเรือนเริ่มต้นแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และส่งขยะมาให้ทางศูนย์ฯ ช่วยจัดการอย่างถูกต้อง พัดจึงกลายเป็นเด็กที่เคยชินกับการแยกขยะ และให้ความสำคัญกับการนำสิ่งที่ยังมีประโยชน์ไปเข้าสู่กระบวนการลดขยะ 4-re ได้แก่ Reduce, Reuse, Recycle, Repair รวมถึงการ Upcycle อยู่เสมอ

นอกจากการซึบซับพฤติกรรมที่เริ่มต้นจากตนเองแล้ว คุณพ่อยังเป็นแรงผลักดันให้พัดรู้จักการส่งต่อองค์ความรู้ที่มีสู่ชุมชน บ่อยครั้งที่เวลาคุณพ่อได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องสิ่งแวดล้อม พัดก็จะคอยเป็นผู้ติดตาม สมัยที่พัดยังเรียนชั้นประถม คุณพ่อได้หมั่นฝึกฝนให้พัดกล้าพูดและกล้าแสดงออก จนวันนี้เขาคือลูกไม้ใต้ต้นที่เดินตามรอยพ่อ กลายเป็นเยาวชนคุณภาพที่มักไปปรากฎตัวในฐานะวิทยากรและนักกิจกรรมตามเวทีด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนประสบการณ์และพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะใหม่ ๆ ให้แก่ตนเอง รวมถึงร่วมผลักดันให้คนรอบข้างหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม

จุดประกายครั้งใหญ่ใน “ค่ายเพาเวอร์กรีน” 

“ค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นค่ายแรกที่ผมได้มาร่วมเปิดประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมกับเพื่อนต่างโรงเรียน ทำให้ผมกล้าที่จะก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน กล้าที่จะออกไปเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่กว้างและลึกขึ้น” พัดเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้จากการมาเข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” รุ่นที่ 17 ในช่วงปี 2565 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 50 เยาวชน คือ โอกาสอันล้ำค่าที่ทำให้เขาได้มาเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในโลกที่กว้างขึ้น ได้มาพบเจอกับเพื่อนต่างโรงเรียนที่มีความสนใจคล้าย ๆ กัน ได้มาเรียนรู้กับผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสิ่งแวดล้อม รวมถึงการได้พูดคุยกับคนในชุมชน ทำให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ นอกเหนือจากปัญหาขยะที่เขาคุ้นชิน การได้ลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมตามชุมชนต่าง ๆ  ทำให้เขารู้ว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย จากเด็กอีสานที่ไม่เคยรู้ว่าการกัดเซาะชายฝั่งคืออะไร ทั้งหมดนี้จุดประกายให้พัดอยากมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ค่ายเพาเวอร์กรีนยังช่วยสร้างคอนเนคชัน เชื่อมโยงให้เขาได้รู้จักกับพี่ ๆ น้อง ๆ ในเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นอื่น ๆ ที่พร้อมมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันอยู่เสมอ

ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” จึงเปรียบเสมือนโรงเรือนที่คอยเพาะต้นกล้าสิ่งแวดล้อมต้นใหม่ ที่พร้อมจะเติบโตไปเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สร้างความร่มรื่นให้กับโลกใบนี้

กระบอกเสียงเล็กๆ สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

หลังจากเมล็ดพันธุ์ได้กลายเป็นกล้าไม้ และเติบโตเป็นลำดับ น้องพัดได้นำองค์ความรู้เรื่อง SDGs (Sustainable Development Goals–SDGs) หรือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่เขาได้เรียนรู้จากค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ไปช่วยต่อยอด เพื่อช่วยคุณพ่อของเขาในการทำงานด้านการพัฒนาชุมชน และช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นอกจากความรู้ที่ได้จากค่ายนี้อย่างเข้มข้นแล้ว ค่ายเพาเวอร์กรีนยังเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเลือกทางเดินชีวิตของเขาอีกด้วย ปัจจุบัน พัดกำลังศึกษาอยู่ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยแพสชั่นในการนำองค์ความรู้ที่ได้สะสมตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ผลงานชิ้นแรกในรั้วมหาวิทยาลัยของเขาที่ยังอยู่ในระหว่างการสร้างสรรค์ก็คือ เครื่องย่อยสลายน้ำมันเพื่อลดการเกิดปัญหาน้ำเสีย

“แม้จะไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ผมเชื่อว่ากระบอกเสียงเล็ก ๆ ของเราจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนรอบข้างได้ โดยเริ่มจากคนรอบข้างกลุ่มเล็กๆ แล้ววันหนึ่งจะสามารถขยายเป็นวงกว้างได้” น้องพัด-ณภัทร ปรุงศรีปัญญา กล่าวเพิ่มเติม

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า “การได้เห็นเครือข่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพาเวอร์กรีนเติบใหญ่แผ่กิ่งก้านจนกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นับเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งขั้นที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับ ‘บ้านปู’ และผู้อยู่เบื้องหลังทุกภาคส่วน เพราะบ้านปูเชื่อว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคน ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบ้านปูตลอด 40 ปีที่ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับการออกแบบกิจกรรมของค่ายเพาเวอร์กรีนในทุกรุ่น เรามีเป้าหมายสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชน โดยนำวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือหาโซลูชันใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับโลกของเรา และที่สำคัญไปกว่านั้น หากเยาวชนที่ได้รับโอกาสเหล่านั้นนำองค์ความรู้ไปส่งต่อให้แก่ชุมชนของพวกเขา และสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้คนรอบข้างลุกขึ้นมาร่วมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ไปด้วยกัน นั่นย่อมเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจสำหรับค่ายเพาเวอร์กรีน”

สำหรับเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมค่ายฯ และอยากจะมาร้อง YO! รวมพลังของคนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครและหลักเกณฑ์การพิจารณาเพิ่มเติม พร้อมติดตามข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ ของค่าย “เพาเวอร์กรีน” รุ่นที่ 18 ได้ที่

เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/powergreencamp

เว็บไซต์: www.powergreencamp.com


แชร์ :

You may also like