จับตา BRC หลังพา Big C หวนคืนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศทุ่ม 10,000 ล้าน ตลอดช่วง 2 ปีนับจากนี้ รุกตลาดค้าปลีกสมัยใหม่เต็มรูปแบบ เปิดตัวโมเดลใหม่ “Big C Place” รีโนเวตจาก “บิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต” ประเดิม 2 สาขาแรก “ลำลูกกา คลอง 5” ในเดือน ก.ค. 66 ก่อนลุยต่อ สาขา “รัชดา” แฟล็กชิปที่ใหญ่ที่สุดในปี 2567
หลังบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ประกาศแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยแยกธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเดิมของ Big C ทั้งหมด ให้รวมอยู่ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BRC” พร้อมลุยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เป็นผลสำเร็จ
ภายใต้งบประมาณการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปีนับจากนี้ (2566-2567) ที่ BRC ใช้เร่งเครื่องธุรกิจในทุกมิติ โดยงบประมาณส่วนหนึ่งจะถูกใช้ในการพัฒนาศักยภาพของ “Big C” แบรนด์ค้าปลีกในเครือเป็นเรือธงหลักในการสร้างการเติบโตในหลายโมเดล หนึ่งในความน่าสนใจคือการเปิดตัวโมเดลใหม่ล่าสุด “Big C Place” Store Format ขนาดใหญ่ที่เข้ามาตอบโจทย์การช้อปปิ้ง และการพักผ่อนที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ และขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น นอกจากนี้ยังถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการเติมพอร์ตโฟลิโอของ “Big C” ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
โดยเตรียมเปิดให้บริการ Big C Place สาขาแรกที่ “ลำลูกกา คลอง 5” ราวต้นเดือนกรกฏาคม 2566 นี้ ซึ่งเป็นการปรับจาก “บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ ลำลูกกา” ไปยังโมเดล “Big C Place” เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในย่าน ก่อนจะเปิดสาขาลำดับถัดไปที่ “รัชดาภิเษก” ในปี 2567 ซึ่งเป็นการรีโนเวตจาก “บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ รัชดา” เก่า ภายใต้งบประมาณราว 500 ล้านบาทในรูปแบบใหม่เช่นกัน โดยสาขานี้จะเป็นแฟล็กชิปของโมเดลดังกล่าวที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย
การขยายสาขาของ Big C Place จะมีทั้งรูปแบบของการรีโนเวตสาขาเดิม และขยายสาขาใหม่ โดยวางเป้าหมายขยายให้ได้ขั้นต่ำ 10-15 สาขาต่อปีนับจากนี้ ในช่วงแรกของการเปิดตัว Big C จะเป็นการปรับโฉม “บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็น Store Format ขนาดใหญ่ ให้เป็น “Big C Place” ภายในจะมีทั้งบิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต มีพื้นที่อาหารสดเพิ่มขึ้น และออกแบบพื้นที่เช่า และการตกแต่งรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ยังออกแบบบรรยากาศโดยรวมให้น่าเดินมากขึ้น
ภายในจะเป็นการปรับเพิ่มพื้นที่เช่า ลดพื้นที่ขายของบริษัทลง โดยจะมีทั้งบิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต มีพื้นที่อาหารสดเพิ่มขึ้น และออกแบบพื้นที่เช่าใหม่ มีจอ LED ในการจัดงานแฟร์ งานเปิดตัว มุมสำหรับให้คนมาไลฟ์ขายของภายอีกด้วย ซึ่งรูปแบบศูนย์ฯ จะแตกต่างกันออกไปตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เช่น หากสาขาของ Big C Place อยู่ในย่านกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น วัยเริ่มทำงาน ก็จะมีการเติมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ต่างๆ เข้าไป เช่นโรงภาพยนต์ ร้านอาหารชื่อดังตามเทรนด์ เพิ่มพื้นที่ Co-working Space และ Relax Zone เป็นต้น แต่หากอยู่ในทำเลที่เป็นย่านครอบครัว ที่มีลูก และชุมชน ก็จะมีการเติมสนามเด็กเล่น พื้นที่สันทนาการต่างๆ เข้าไป เพื่อทำให้เป็นจุดหมายของคนรุ่นใหม่
คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BRC กล่าวว่า การปรับโมเดล Big C Place จะมีการไล่ปรับโฉมจาก บิ๊กซี ในสาขาใหญ่มารีโนเวตให้มากขึ้น เพื่อยกระดับประสบการณ์การซื้อแก่ลูกค้าให้ดีขึ้น หลังจากนั้นพอโมเดลนี้นิ่ง ก็จะขยายทั้งรูปแบบของสาขาใหม่และการรีโนเวตสาขาเก่า ซึ่งการรีโนเวตที่ดีจะต้องช่วยยกระดับการขายเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15%
“เมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา การทำธุรกิจรีเทลถ้าเราอยากดึงคนเข้ามา การมีพื้นที่ขาย 10,000 ตร.ม. นับว่าเพียงพอในการดึงคนเข้ามา แต่ปัจจุบันด้วยไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป พอคนมาบอกว่ามาบิ๊กซี คนก็จะบอกว่าไม่อยากมา เพราะไม่อยากซื้อของ เราจึงมีการพัฒนาโมเดล Big C Place ขึ้นมา เพื่อให้คนมาแฮงค์เอาท์ พร้อมทั้งนึกถึงบริการต่างๆ มากขึ้น เราต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด นอกเหนือจากการที่คนเข้ามาซื้อของ ต้องให้มาใช้ชีวิต ใช้เวลา ผ่านเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เรื่องเกม และร้านอาหารที่ตอบสนองพฤติกรรมสมัยใหม่ และอยากให้ลูกค้านึกถึงเราในการใช้ชีวิตมากกว่าการช้อปปิ้ง เลยอยากมี Big C Place เพิ่มขึ้น” คุณอัศวินกล่าว