HomePR NewsCMMU เปิด 3 เทรนด์ตลาดมาแรงครึ่งหลังปี 66 ‘มุสลิม – อาหารฮาลาล – ทริปเปิลเอส’ ที่แบรนด์ต้องเกาะติด

CMMU เปิด 3 เทรนด์ตลาดมาแรงครึ่งหลังปี 66 ‘มุสลิม – อาหารฮาลาล – ทริปเปิลเอส’ ที่แบรนด์ต้องเกาะติด

แชร์ :

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ชี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบันหมุนไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเกาะติดเทรนด์ใหม่ๆ แบบเรียลไทม์ พร้อมเผย 3 เทรนด์ตลาดที่ส่งผลกระทบเชิงบวกในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ ตลาดมุสลิม ตลาดอาหารฮาลาล และตลาดทริปเปิลเอส (Triple S) ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจยั่งยืน (Sustainable Economy) สังคมผู้สูงอายุ (Silver Population) และสังคมสาวโสด (Single Woman) ซึ่งกำลังมาแรงในช่วงครึ่งหลังปี 66 โดยยังชี้โอกาสผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรผันตัวสู่ ‘นักสร้างธุรกิจ’ (Business Creator) มืออาชีพ โดยเฉพาะการรุกเป็นผู้ส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดต่างประเทศ และมีหลักสูตรภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurship And Innovation Program: EI) ที่จะช่วยขยายศักยภาพผู้ประกอบไทยด้านการออกแบบ การคิดต่างด้วยนวัตกรรมใหม่ รวมถึงสร้างคอนเนคชั่นเพื่อก้าวสู่นักธุรกิจระดับ MVP

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ดร.ตรียุทธ พรหมศิริ หัวหน้าสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เกิดขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่ในประเทศไทยอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยในอดีตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลกมีระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงถึง 50 ปี แต่จากหลากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น อาทิ การปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือแม้แต่สงครามโลก ทำให้ระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกลดลงมาเหลือเพียง 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่รวดเร็วพอสมควร จากปรากฏการณ์ที่ผันแปรรวดเร็วนี้ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการยึดโยงตัวเองกับตลาดกลุ่มเก่าไม่ได้อีกต่อไป ต้องหันมาวิเคราะห์ความน่าจะเป็นในการเจาะตลาดใหม่ ๆ เพื่อให้ก้าวทันเทรนด์ธุรกิจใหม่ในโลกอนาคต รวมถึงเข้าใจการเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และลักษณะทางประชากรที่เปลี่ยนไปด้วย

“ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เผย 3 เทรนด์ตลาดที่น่าจับตามองครึ่งหลังปี 2566 มีดังนี้ 1.ตลาดมุสลิม มีแนวโน้มเป็นตลาดแห่งอนาคตขนาดใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันตลาดมุสลิมมีอัตราส่วนมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และที่สำคัญมีศักยภาพกำลังซื้อที่สูงมาก 2.ตลาดอาหารฮาลาล มีมูลค่าสูงถึง 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือใหญ่เป็น 15 เท่าของ GDP ประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหารกระป๋องกับฟรีซ-ดราย (Freeze Dry) ที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากไม่เสียง่ายจากสภาพอากาศ และ 3.ตลาดทริปเปิลเอส (Triple S) ประกอบด้วย 3S เริ่มที่ เศรษฐกิจยั่งยืน (Sustainable Economy) เติบโตมากถึง 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เห็นได้จากกระแสตลาด BCG ที่เติบโตถึง 21% ต่อปี เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์สินค้าที่ย่อยสลายได้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องใส่ใจสินค้าและบริการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนให้มากขึ้นเรื่อยๆ สังคมผู้สูงอายุ (Silver Population) ด้วยประชากรอายุ 50 ปีขึ้นไปจะมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เทรนด์อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ที่จะมีการนำนวัตกรรมมาช่วยเสริมสร้างคุณประโยชน์ในสารอาหารได้รับความนิยมสูงขึ้นในอนาคต และสังคมสาวโสด (Single Woman) เนื่องด้วยสังคมปัจจุบันผู้หญิงใช้ชีวิตโสดมากขึ้น และหาความสุขจากการซื้อของ โดยเฉพาะของสวยงาม ทำให้ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ Luxury Goods มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นต่อเนื่องตามกำลังซื้อของสาวโสดในยุคนี้”

ดร. ตรียุทธ กล่าวต่อว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดเทรนด์การทำธุรกิจใหม่ๆ ตลอดเวลาแล้ว ธุรกิจกลุ่ม SMEs ไทย ก็ต้องมีการวางโร้ดแมพของธุรกิจให้ชัดเจนเช่นกัน พร้อมกับเปลี่ยนวิธีการคิดให้กลายเป็นนักธุรกิจไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าระดับ MVP ที่ก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจในต่างประเทศที่ไม่ใช่เพียงจำกัดการส่งออกภายในประเทศเท่านั้น ถึงแม้ปัจจุบันมีอุปสรรคด้านประชากรไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ส่งผลให้ตลาดในประเทศมีศักยภาพไม่มากพอในการเดินหน้าธุรกิจ แต่หากรู้กลยุทธ์ที่ทำให้สินค้าและการบริการ ถูกส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มช่องทางสร้างรายรับเข้ามาในธุรกิจได้ ซึ่งหากพิจารณามุมของรายได้สุทธิ จะพบว่า รายได้จากการส่งออกตลาดต่างประเทศ เติบโตกว่าตลาดในประเทศถึง 4 เท่า ฉะนั้นการวางเป้าหมายของการเป็น “ผู้ส่งออก” จึงสำคัญไม่น้อย

การเติมเต็มผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจโลกการทำธุรกิจให้มากขึ้น กระตุ้นให้สร้างโร้ดแมพที่เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งหล่อหลอมให้กลายเป็น “นักสร้างธุรกิจ” หรือ “Business Creator” มืออาชีพระดับ MVP เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของ CMMU โดยดำเนินงานผ่านหลักสูตรภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทั้ง “ภาวะผู้ประกอบการ” และ “สามารถสร้างนวัตกรรมได้” ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจ รวมถึงธุรกิจกลุ่ม SMEs สามารถออกแบบธุรกิจ จุดประกายความคิดต่างที่สดใหม่ และสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ดี ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรผู้เรียนจะได้แผนการดำเนินธุรกิจ (Business Plan) ที่สมบูรณ์แบบ สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจของตนเองได้ โดยหลักสูตรเปิดให้เรียนวันเสาร์และอาทิตย์ รวมถึงยังมีพาร์ทเนอร์อย่าง EXIM BANK ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ยากมาเสริมกำลังด้วย” ดร. ตรียุทธ กล่าวสรุป


แชร์ :

You may also like