รายงาน APAC On The Move พบอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเอเชียแปซิฟิกต้องการลงทุนเพิ่มใน “บล็อกเชน – โดรน – IoT – ปัญญาประดิษฐ์” หลัง Covid-19 เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน – นิยมใช้บริการเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น
รายงาน APAC On The Move เป็นผลการศึกษาของ HERE Technologies ที่ทำการศึกษาจากผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจจำนวน 1,300 ราย ในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศไทยอีก 100 ราย โดยพบว่า โดรน ปัญญาประดิษฐ์ แมชชีนเลิร์นนิ่ง และบล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีที่บริษัทโลจิสติกส์ไทยให้ความสนใจลงทุนในอนาคตอันใกล้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยสนใจลงทุนมาจาก Pain Point ของภาคอุตสาหกรรมหลัง Covid-19 ในเรื่องการติดตามสิ่งของ ที่ธุรกิจต้องการมองเห็นภาพรวมทั้งหมดของการจัดส่งสินค้า เพื่อจะได้จัดเส้นทางการจัดส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมองว่าการมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้บริษัทประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงมีความปลอดภัยในการชำระเงินด้วย
ด้านคุณอาบิจิต เซนกุปตา ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่
บันทึกข้อมูลแบบแมนนวล ความเสี่ยงธุรกิจโลจิสติกส์
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ ประมาณ 50% ของบริษัทโลจิสติกส์ไทยใช้ซอฟต์แวร์การติดตามสินทรัพย์ และตรวจสอบการจัดส่ง ร่วมกับการป้อนข้อมูลแบบแมนนวลสำหรับติดตามสินทรัพย์ การจัดส่ง และตู้สินค้า ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่มีโอกาสเกิดช่องโหว่สูง
นอกจากนั้น มากกว่า 1 ใน 5 ของบริษัทในประเทศไทย (22%) ยังมองว่า มีความท้าทายในการหาพันธมิตร – ซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม รวมถึงมีความกังวลเรื่องต้นทุนด้วย (17%)
ทั้งนี้ ความต้องการของธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยคือ
- ต้องการโซลูชันพร้อมใช้
- ติดตั้งง่ายค่าใช้จ่ายไม่สูง
- ใช้เวลาไม่นาน
- ไม่ต้องใช้ทีมงานจำนวนมากในการยกเครื่องระบบใหม่ทั้งหมด
ขณะที่ผลการศึกษาของ HERE พบว่า ความท้าทายที่ธุรกิจไทยต้องเจอคือ ความสามารถในการผสานรวมซอฟต์แวร์เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ (20%) ต้นทุนของ Internet of Things สูง (15%) และการขาดบุคลากรที่มีทักษะเพื่อใช้และจัดการโซลูชันการติดตาม (14%)
“เทคโนโลยีระบุตำแหน่ง” เพิ่มความปลอดภัยให้พนักงาน
คุณอาบิจิต ยังได้กล่าวถึงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่จัดอันดับให้ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และติดอันดับ 9 ของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยอาศัยการขนส่งทางถนนเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของตลาดโลจิสติกส์ทั้งหมด ซึ่งเทคโนโลยีแบบระบุตำแหน่งสามารถช่วยให้การใช้ถนนมีความปลอดภัยมากขึ้นได้
ผู้ตอบแบบสอบถาม APAC on the Move ระบุว่า
- การใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่งมีความจำเป็นต่อการเพิ่มความปลอดภัยของผู้ขับขี่ (37%)
- เพิ่มความสะดวกสบายในการติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์ (33%)
- เทคโนโลนี้มีความจำเป็นต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานขับรถและพนักงานซ่อมบำรุง (30%)
เปิดอินไซต์ โลจิสติกส์ไทยลงทุนอย่างไรใน IoT – โดรน
รายงาน APAC on the Move พบว่า บริษัทโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้เทคโนโลยี IoT อยู่แล้ว โดยใช้ในแอปพลิเคชัน IoT สำหรับการจัดการสินค้าคงคลัง (20%) การจัดการยานพาหนะ (18%) และการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (18%)
นอกจากนั้น ยังพบว่าเกือบ 1 ใน 4 ของบริษัทโลจิสติกส์ในประเทศไทยกำลังวางแผนที่จะลงทุนในโดรน (41%) ปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (32%) และบล็อกเชน (32%) เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ด้วย โดยภาคธุรกิจระบุว่า เทคโนโลยีที่กล่าวมามีประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน (36%) สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด (34%) และเพิ่มรายได้ (32%)
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีบทบาทอย่างมากในการเชื่อมธุรกิจและผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้จากดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index หรือ LPI) ของธนาคารโลก ที่ไทยเราอยู่ในอันดับ 34 จาก 139 ประเทศ (ตัวเลขปี 2023) ดังนั้น การมองหาเทคโนโลยี – การลงทุนใหม่ ๆ อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้บริษัทยังคงความสามารถในการแข่งขันนั่นเอง