เคทีซี จัดงานเสวนา KTC FIT Talks #9 จับเข่าคุยเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคครึ่งหลังปี 2566 โดยเชิญสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมวงเสวนาฉายภาพรวมและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ต่อด้วยภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ชี้เชื่อมั่นเศรษฐกิจและธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในช่วง ครึ่งปีหลังเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก ในขณะที่เคทีซีมั่นใจทิศทางและเป้าหมายการเติบโตธุรกิจส่งสัญญาณบวก พร้อมเผย กลยุทธ์บริหารการเงินในช่วงครึ่งปีหลัง
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ โครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่า “จากการประเมินหลายปัจจัย เราเชื่อมั่นว่าสภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายปัจจัย ทั้งปัญหาของการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป อีกทั้งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ และสงครามยูเครนที่ยังไม่สงบ โดยธนาคารโลก (The World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียง 2.1% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกในปีนี้จะอยู่ที่ 7% จาก 8.7% ในปี 2565 อีกทั้งการปรับลดการผลิตของกลุ่มโอเปค+ อาจทำให้ราคาพลังงานคงอยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว”
“ในสหรัฐอเมริกา วิกฤตการณ์ธนาคารปิดตัวยังส่งผลกระทบให้เงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์มีแนวโน้มชะลอตัวลดลง หลายหน่วยงานคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงปลายปี 2566 จากวิกฤตการณ์ภาคธนาคารและการชะลอของกำลังซื้อจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ FED ส่งสัญญาณว่าวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้ โดยธนาคารโลกคาดว่าในปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สหรัฐฯ จะอยู่ที่ 1.1% เทียบกับปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 2.1% ด้านสหภาพยุโรปคาดว่า ในปีนี้ GDP จะขยายตัว 0.4% ในขณะที่ปี 2565 อยู่ที่ 3.5% และในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยในอัตราที่สูง เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงขยายวงกว้าง สำหรับความเสี่ยงในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ยังคงต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกา”
“สำหรับสภาพเศรษฐกิจของประเทศจีนกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการยกเลิกนโยบายปลอดโควิดและการทยอยเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา อีกทั้งภาคการผลิตและบริการส่งสัญญาณฟื้นตัวในเชิงบวก และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด อัตราเงินเฟ้อที่น้อยกว่า 1% และค่าเงินที่มีเสถียรภาพ จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตมากกว่า 5% ในปีนี้ ในขณะที่จีนตั้งเป้าเติบโตเพียง 5% ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เน้นการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สู่การกำหนดเป้าหมายทางสังคมที่ดีขึ้นผ่านการจ้างงานที่มากขึ้นและกระจายตัว นอกจากนี้ จีนยังมุ่งขยายอิทธิพลไปยังตะวันออกกลางที่อาจนำไปสู่การช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตะวันออกกลาง และเกิดความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ระหว่างจีน รัสเซียและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง”
“ในส่วนของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ GDP อาจขยายตัวอยู่ที่ 3.5% จากรายรับในภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจเติบโต ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยว 29 ล้านคน และ 35.5 ล้านคนในปี 2567 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะลดลงจากปีที่แล้ว แม้การส่งออกไทยอาจได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจจีน แต่ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่ถดถอย สำหรับการบริโภคภาคครัวเรือนได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง และดัชนีความเชื่อมั่นของ
ผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2566 ขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุด นับตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิดในเดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้การว่างงานลดลง ก่อให้เกิดการสร้างรายได้จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมโรงแรมและภัตตาคาร การก่อสร้าง การค้าขายและการผลิต และคาดว่าการจ้างงานจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่สูง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนที่สูงนับตั้งแต่สถานการณ์โควิดถึงเกือบ 90% ของ GDP ในปัจจุบัน อาจเป็นปัจจัยจำกัดการบริโภค นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ อาจส่งผลให้งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐในปี 2566 จะไม่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากนัก”
“เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การส่งออกไปตลาดจีนและกำลังซื้อในประเทศ อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวน้อยกว่า 2% เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง แต่ยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากอีกหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนของผู้ผลิตที่ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคจากการฟื้นตัวด้านอุปสงค์ ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบที่ 2.25% – 2.5% ในสิ้นปี 2566”
นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานบริหารการเงิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า “การประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวของทีดีอาร์ไอ เป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ และเชื่อว่าจะส่งผลบวกให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลขยายตัวมากขึ้น โดยในช่วงไตรมาส 1/2566 เคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรม เท่ากับ 14.8% อัตราการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 22.5% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตที่ 17.7% ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทฯ เท่ากับ 12.2% และมีสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 3.8%”
“การขยายตัวของภาคเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้เคทีซีสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์จาก โควิด-19 ทำให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว และเมื่อมีการเปิดประเทศ ได้ส่งให้การเดินทางท่องเที่ยวขยายตัวและสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น อีกทั้งเคทีซีได้วางแผนกลยุทธ์การรุกตลาด เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ โดยได้ออกบัตรเครดิตเพื่อการท่องเที่ยว 2 ใบคือ บัตรเครดิต อโกด้า มาสเตอร์การ์ด และบัตรเครดิตเจซีบี อัลติเมท อีกทั้งได้คัดสรรสิทธิพิเศษหลายรูปแบบในทุกหมวดใช้จ่ายที่สำคัญ จำเป็นและคาดว่าจะได้รับความนิยม เช่น สิทธิพิเศษด้านการท่องเที่ยว สิทธิพิเศษในหมวดร้านอาหารเพื่อผู้ที่หลงใหลในรสชาติอาหารทุกกลุ่มความต้องการ สิทธิพิเศษด้านน้ำมันและประกัน สิทธิพิเศษด้านสุขภาพและความงาม เป็นต้น”
“ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2566 พอร์ตสินเชื่อรวมของเคทีซีมีอัตราเติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่ 14.5% โดยมีมูลค่าเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมเท่ากับ 103,312 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มบริษัทยังคงบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 2.6% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดีโดยมี NPL รวมอยู่ที่ 1.9% และมั่นใจว่าจะสามารถคงคุณภาพพอร์ตรวมได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมประมาณการกำไรของปี 2566 ที่สูงกว่าเดิม”
“เราเชื่อว่าด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจบริการอื่นๆ จะทำให้เกิดการบริโภคในครัวเรือนและการลงทุนทำธุรกิจที่มากขึ้น รวมทั้งการเดินทางของนักท่องเที่ยวในไทยและเดินทางไปต่างประเทศ จะเอื้อประโยชน์ให้ทุกพอร์ตสินเชื่อของเคทีซีขยายตัว และมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งธุรกิจร้านค้ารับชำระเติบโต ทั้งจากภาคอุปสงค์ในไทยที่ขยายตัว จากการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่\เดินทางเข้ามาในไทย แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการเงินของบริษัทฯ ยังคงสามารถรองรับการเติบโตตามเป้าหมายได้ โดยเคทีซีตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจในปี 2566 ดังนี้ กำไรสูงกว่า 7,079 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 15% เกินแสนล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร
เครดิตเติบโต 10% พอร์ตสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เติบโต 7% ยอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,000 ล้านบาท และ NPL น้อยกว่า 1.8% ซึ่งเป็นอัตรา NPL ในปี 2022”
“อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนี่งของการทำธุรกิจที่เคทีซีคำนึงถึงมาตลอดคือ การบูรณาการกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนให้ดีขึ้น ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ สร้างความไว้วางใจให้เกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสีย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแก่สังคมไทย บรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมถึงทุกกลุ่มบริษัทเคทีซียังดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยกระดับการกำกับดูแลการบริหารจัดการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญและส่งเสริมการช่วยเหลือ ติดตาม แก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหาหนี้สินอย่างตรงจุดและทันท่วงที รวมถึงการพัฒนากระบวนการในการให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการอย่างยั่งยืน โดยเคทีซีให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะเป็นจำนวน 1,995 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.0% ของพอร์ตลูกหนี้รวม (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566)”