HomeDigitalครบรอบ 12 ปี “LINE” เดินหน้า Hyper-Localise ยกเครื่องครั้งใหญ่สู่ “แอปเพื่อการทำงาน”

ครบรอบ 12 ปี “LINE” เดินหน้า Hyper-Localise ยกเครื่องครั้งใหญ่สู่ “แอปเพื่อการทำงาน”

แชร์ :

ไลน์ LINE นรสิทธิ์ Norasit

คุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย

เปิดตัวในไทยมาครบ 12 ปีเต็ม และเป็น 12 ปีที่ LINE ประเทศไทย สร้างปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวแอปที่กลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่คนไทยใช้งานตลอดวัน ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน หรือแม้แต่เรื่องธุรกิจ นั่นจึงทำให้การก้าวสู่ปีที่ 13 ของ LINE ประเทศไทย เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ โดยทีมบริหารเผยว่าจะมีการปรับฟีเจอร์บน LINE ให้เป็นแอปพลิเคชันสำหรับการทำงานมากขึ้น และมีแผนจะดึง AI เข้ามาช่วยบริหารจัดการด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การประกาศดังกล่าวมาจากคุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย ที่บอกว่า ที่ผ่านมา LINE ประเทศไทยมีการรับฟังเสียงของผู้ใช้งานทุกเสียง โดยเฉพาะเสียงที่เกี่ยวกับการใช้ LINE ในการทำงาน และทราบดีว่าผู้ใช้แอปพลิเคชันอาจต้องการฟีเจอร์เพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ด้านเพื่อให้การทำงานด้วย LINE  มีความสะดวกมากขึ้น เพียงแต่ก่อนหน้านี้ อาจติดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของ Covid-19 รวมถึงทิศทางของโลกการทำงานที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด

ทั้งนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 คือการทำวิจัย – ศึกษาความต้องการของผู้ใช้งานว่าต้องการฟีเจอร์อะไรบ้างสำหรับการใช้ LINE เพื่อการทำงาน โดยหากเป็นฟีเจอร์ที่สามารถพัฒนาได้เลย ก็อาจได้เห็นโปรดักท์ใหม่เพิ่มเติมเข้ามาใน Ecosystem ของ LINE ภายในสิ้นปีนี้ – ต้นปีหน้า

line

พบคนไทยใช้ LINE ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน

เหตุที่ LINE พัฒนาตัวเองไปในทิศทางดังกล่าว มาจากข้อมูลเชิงลึกของ LINE ที่พบว่า ผู้ใช้งานในประเทศไทยมีการใช้ LINE ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน แตกต่างจากผู้ใช้ LINE ในประเทศญี่ปุ่น – ไต้หวัน ที่มักใช้ LINE เฉพาะเรื่องส่วนตัว แต่จะไม่ใช้ LINE ในการทำงาน และ LINE ประเทศไทยมองว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีจำนวนมากที่สามารถเพิ่มเข้ามาใน Ecosystem ได้ เช่น AI ที่ช่วยให้การทำงานบน LINE เป็นเรื่องง่ายขึ้น

OpenChat เตรียมเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ Live Talk

อีกหนึ่งบริการที่คุณนรสิทธิ์เผยว่า ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากคือ OpenChat โดยประเทศไทยพบว่ามีการใช้งาน OpenChat สูงสุดที่ 10 ชั่วโมงต่อวัน และมีผู้ใช้งานเข้ามาใช้งานเป็นประจำ 17 ล้านคนต่อเดือน

หมายเหตุ – OpenChat คือแชทคอมมูนิตี้ออนไลน์ขนาดใหญ่บนแอป LINE ที่สามารถรองรับผู้ใช้งานได้สูงสุดถึง 200,000 คนต่อกรุ๊ป ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งาน OpenChat ในหลายรูปแบบ เช่น ใช้เป็นที่แจ้งข่าวสารของห้องเรียน – โรงเรียน, ใช้เป็นห้องพูดคุยสำหรับผู้คนในแวดวงต่าง ๆ ฯลฯ โดยผู้ที่เข้าใช้ OpenChat สามารถตั้งชื่อที่ต้องการได้ และชื่อกับรูปโปรไฟล์ใน OpenChat จะไม่กระทบกับบัญชี LINE ส่วนตัว 

line openchat

จากความนิยมของ OpenChat ที่สูงมากนี้ ทำให้ทาง LINE ประเทศไทยมีแผนจะพัฒนาฟีเจอร์ Live Talk หรือการพูดคุยแบบเรียลไทม์เข้ามาใน OpenChat ด้วย (คล้าย ๆ กับบริการของ Clubhouse) โดยที่ผู้พูดยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวเอาไว้ได้

ยกเครื่อง LINE OA เน้นตอบโจทย์ธุรกิจมากขึ้น

ในส่วนการใช้ LINE เพื่อการค้าออนไลน์ก็พบว่ามีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เช่นกัน ดังนี้

  • ฟีเจอร์ MyCRM – เครื่องมือสำหรับช่วยร้านค้าที่ต้องการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า
  • ฟีเจอร์ MyRestaurant – สำหรับฟีเจอร์นี้เคยเปิดตัวไปแล้วเมื่อปี 2021 และ LINE มีแผนจะนำกลับมาบุกตลาดอีกครั้ง โดย MyRestaurant คือเครื่องมือสำหรับช่วยร้านอาหารบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ เช่น การสแกน QR Code เพื่อดูเมนู – กดสั่งอาหารแบบนั่งทานที่ร้านเองได้โดยไม่ต้องบอกเบอร์โต๊ะ หรือจะดูเมนูแล้วสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรี่ก็ได้เช่นกัน โดยตัวระบบจะมีรายงานกลุ่มลูกค้า และรายงานยอดขายให้ทางร้านทราบด้วย
  • LINE OA Store – เป็น Marketplace ที่รวบรวมเครื่องมือที่นักพัฒนาสร้างขึ้น และเปิดให้ผู้ใช้ LINE OA ได้เข้ามาเลือกหาเครื่องมือที่ตัวเองต้องการใช้งาน โดยก่อนหน้านี้ LINE OA Store เป็นเวอร์ชันเบต้า และตอนนี้เปิดให้ใช้งานจริงแล้ว
  • Blue Badge Guide Awards – เป็นการมอบรางวัลให้กับร้านค้า ธุรกิจที่ใส่ใจในแบรนด์ – ประสบการณ์ในการใช้งานแบบองค์รวม (ต่างจากแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่อาจเน้นแจกรางวัลให้กับร้านที่อาหารอร่อย ฯลฯ)

ทั้งนี้ ผู้บริหาร LINE ยังมองว่า จะพัฒนา Myshop ให้เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการเปิดร้านสำหรับผู้ประกอบการไทยในทุกธุรกิจ (เช่นเดียวกับการสร้างเว็บไซต์ของแบรนด์) และทำงานร่วมกับการซื้อขายบน MarketPlace โดยมองว่าผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์เนื่องจาก MyShop เปิดง่าย และไม่มีค่าใช้จ่าย

“ต้องบอกว่า ในปีนี้ ที่ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ เพราะ LINE มีการรวมกับ Yahoo Japan และก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายสำหรับประเทศที่เป็น Non-Japan ด้วย นั่นคือเขาจะอนุญาตให้เราพัฒนาในสิ่งที่เราต้องการมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Hyper-Localise เห็นได้จากสิ่งที่ LINE จะทำในปีนี้ คือสิ่งที่คนไทยอยากได้ และเพิ่มเป็นฟีเจอร์เข้ามาโดยที่คนไทยไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้งาน” คุณนรสิทธิ์กล่าวปิดท้าย


แชร์ :

You may also like