ผู้สูงวัยไทยก็ใช้โซเชียลมีเดีย โดยมีการเปิดเผยจากผู้บริหาร LINE ประเทศไทย พบว่า ฟีเจอร์ LINE VOOM ที่เปิดตัวเมื่อสองปีก่อนคือแหล่งรวมผู้สูงวัย (อายุ 50 ปีขึ้นไป) เอาไว้ถึง 25% ของผู้ใช้งานทั้งหมด 35 ล้านคน
สำหรับฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนชื่อจาก Timeline ไปเป็น LINE VOOM เมื่อปี 2021 โดยทาง LINE ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานสองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มอายุ 30 – 39 ปี (30%) และ 50 ปีขึ้นไป (25%) จากผู้ใช้งานทั้งหมด 35 ล้านคน ซึ่งถือว่าใหญ่เป็นอันดับสองของ Ecosystem ของ LINE ประเทศไทย รองจากบริการแชท ที่มีผู้ใช้งาน 53 ล้านคน
ทั้งนี้ LINE VOOM ได้มีการปรับโพสิชันมาเน้นที่คลิปวิดีโอสั้นมากขึ้น เนื่องจากพบว่า ความสนใจของผู้ใช้งานในปี 2021 เริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางดังกล่าว โดยปัจจุบันสัดส่วนของคลิปวิดีโอบน LINE VOOM อยู่ที่ 65% และเป็นภาพนิ่งอีก 35%
นอกจากนั้น LINE VOOM ยังมีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้
- กว่า 57% เป็นกลุ่มผู้ใช้งานในต่างจังหวัด
- ยอดการรับชมคอนเทนท์อยู่ที่ 3.9 พันล้านวิวต่อเดือน
- ยอดการสร้างคอนเทนท์เฉลี่ยต่อวันมากกว่า 500,000 คอนเทนท์
- มากกว่า 50% ของผู้ใช้งาน LINE VOOM ใช้เวลาใน LINE VOOM เฉลี่ย 45 – 50 นาทีต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 200% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
- การรับชมคอนเทนท์ของกลุ่มผู้สูงอายุเติบโตขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2022
- เวลาที่เข้ามาเยี่ยมชมสูงสุด คือช่วงเช้า และหลังสี่ทุ่ม
เน้นคอนเทนต์ “ท้องถิ่นนิยม”
คุณฟิลลิป คิม หัวหน้าฝ่าย LINE VOOM กล่าวถึงความพิเศษของผู้ใช้งาน LINE VOOM ว่า ส่วนใหญ่นิยมคอนเทนท์ที่สะท้อนวิถีชีวิตไทย มีความท้องถิ่นนิยม เห็นได้จากแคมเปญที่ผ่านมาอย่าง ใครไม่เกิดบ้านเกิด ที่ผู้เข้าร่วมแคมเปญกว่า 62% มาจากผู้ใช้งานต่างจังหวัด และกว่า 60% เป็นคอนเทนท์การเดินทางท่องเที่ยวในท้องถิ่น
นอกจากนั้น ยังพบว่าผู้ใช้ LINE VOOM ชอบกดไลค์ และคอมเม้นท์ด้วย
5 หมวดคอนเทนต์โดนใจผู้ใช้ LINE VOOM
ทั้งนี้ LINE VOOM เปิดให้บริการแล้วใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งในส่วนของประเทศไทย พบว่า คอนเทนท์ที่ได้รับความนิยมมีถึง 5 หมวดใหญ่ โดย LINE เรียกคอนเทนท์กลุ่มนี้ว่า Utilitainment content ประกอบด้วย
- การรีวิวสินค้า เช่น สินค้า DIY, เครื่องใช้ในบ้าน, เครื่องสำอาง, แฟชั่น, อาหาร ฯลฯ
- คอนเทนต์จากอินฟลูเอนเซอร์สูงวัย หรือที่ LINE เรียกว่า GrandInfluencer โดยพบว่ามีคอนเทนต์จาก GrandInfluencer หลายรูปแบบ แม้แต่การรีวิวเครื่องสำอางโดยผู้สูงวัยด้วยกันเอง
- ไลฟ์สไตล์ เช่น ความรู้ทั่วไป, ความรู้ด้านการเงิน
- สาระบันเทิง เช่น รีวิวหนัง – ละคร, เพลงลูกทุ่ง
- ข่าวสารการเมืองแบบสั้น เช่น คลิป “รู้จัก ทิม พิธาใน 1 นาที”
ผู้บริหาร LINE VOOM ยังเผยด้วยว่า แม้เครื่องมือในการสร้างคลิปวิดีโอสั้นของ LINE VOOM อาจยังมีฟีเจอร์ไม่เท่ากับคู่แข่งในตลาด แต่กลับตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานหลักของ LINE VOOM ที่เป็นผู้สูงวัยและคนทำงานได้เช่นกัน เนื่องจากคนกลุ่มนี้ชอบความเรียล ไม่ปรุงแต่งมาก
อย่างไรก็ดี เครื่องมือของ LINE VOOM ก็สามารถแปะสติ๊กเกอร์ – ใส่เพลงในคลิปได้
สำหรับแนวทางในการเติบโตของ LINE VOOM ในปี 2023 ทางผู้บริหารเผยว่า จะเน้นไปที่ User Generated Content (UGC) หรือคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคเป็นคนสร้างเอง ส่วนรายได้ที่เกิดบน LINE VOOM มาจากการที่ Content Creator ร่วมมือกับแบรนด์เป็นหลัก แต่ในส่วนของ LINE เองจะมีนโยบายด้านรายได้ให้กับครีเอเตอร์อย่างไรบ้างนั้น ทางผู้บริหารระบุว่าไม่สามารถเปิดเผยได้
คุณฟิลลิป กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งที่ LINE VOOM จะโฟกัสให้มากขึ้นในปีนี้คือการนำ AI มาร่วมกับทีมงานมนุษย์เพื่อสะกัดกั้นคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาพโป๊เปลือย, คอนเทนต์ที่มีความรุนแรง ฯลฯ เพื่อให้แพลตฟอร์มมีความปลอดภัยด้านเนื้อหามากขึ้นนั่นเอง