“66 วัน เรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” สำหรับโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ได้ปิดค่ายรุ่นที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว เป็นค่ายเยาวชนน้องใหม่ที่จัดขึ้นในปี 2566 นี้ เป็นปีแรก ที่ตั้งใจบ่มเพาะเยาวชนระดับมัธยมปลายให้มีความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ ด้านธุรกิจพร้อมโอกาสในการสัมผัสประสบการณ์ลงมือทำธุรกิจจริงด้วยเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา
โดยน้องๆ ที่เข้าร่วมค่ายในครั้งนี้ทั้ง 40 คน แบ่งเป็น 8 ทีมมาจาก 8 โรงเรียนทั่วจังหวัดน่าน ประกอบด้วย โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร อ.เมืองน่าน โรงเรียนสา อ.เวียงสา โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อ.เวียงสา โรงเรียนปัว อ.ปัว โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม อ.ท่าวังผา โรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา อ.เชียงกลาง โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม อ.เชียงกลาง และ โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี อ.นาหมื่น
เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการคิดธุรกิจ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการตลาด การโปรโมทและขายสินค้า ตลอดจนการจัดทำบัญชี ล้วนเป็นสิ่งที่พวกเขาต่างก็ได้เรียนรู้และทำขึ้นมาด้วยตัวเอง ผ่านปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเผชิญและแก้ไขด้วยตัวเองตลอด 3 แคมป์ที่จัดขึ้น คือ กล้าเรียน กล้าลุย และกล้าก้าว รวมระยะเวลากว่า 2 เดือนเศษ นั่นจึงไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในเชิงทฤษฎีการทำธุรกิจเท่านั้น แต่พวกเขายังได้ลงมือปฏิบัติไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ด้านทักษะชีวิต เสริมเป็นภูมิต้านทานในการดำรงชีวิตในอนาคตให้พวกเขามีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
เรียนรู้ธุรกิจควบคู่ทักษะชีวิต
หากถามพวกเขาว่าได้รับอะไรบ้างจากการ “ให้” ของมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาในครั้งนี้ คำตอบที่ได้ คือ สิ่งที่ได้รับมากกว่าที่คิดเอาไว้มาก ทั้งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และกล้าที่จะออกไปเผชิญกับโลกความเป็นจริงในอนาคต
ปุณญาวีร์ โนแก้ว หรือ น้องปูนปูน จากทีมโรงเรียนปัว บอกว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ให้โอกาสได้เรียนรู้ ได้แสดงความสามารถ และเพาะสร้างความกล้าให้กับพวกเขา ทั้งกล้าเรียน กล้าลุย และกล้าที่จะก้าวออกไปเพื่อเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ โดยหลายสิ่งที่ได้รับต่างจากการเรียนในห้องเรียนปกติ และได้ลงมือทำธุรกิจกันจริง พัฒนาสินค้ากันจริง ๆ ด้วยการวางแผนธุรกิจกันเองและทำตามแผนที่กำหนด
“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เกิดกระบวนการทางการคิดที่รอบคอบ และมองทุกสิ่งกว้างขึ้น เห็นทุกสิ่งทุกอย่างว่าทำไมสิ่ง ๆ นั้นถึงมีคุณค่าเป็นเพราะว่าเราคิดมากขึ้น คิดมากกว่าเราจะมองเห็นเพียงด้านเดียวหรือมองไปที่จุด ๆ เดียว แต่เรามองเห็นว่ากว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้น ตลอดข้างทางยังมีคุณค่าอีกมากมาย ซึ่งนั่นคือหนึ่งในบทเรียนที่ได้รับจากค่ายแห่งนี้” ปูนปูน กล่าว
นับหนึ่ง หรือ เพชรชรินทร์ คำพุฒ ตัวแทนเยาวชนจากทีมโรงเรียนสา กล่าวว่า การเป็นผู้ประกอบการนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนอกจากจะต้องมีทุนและต้องใช้ความรู้แล้ว เรายังต้องใช้ปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ต้องผ่านการคิด การวางแผนอย่างเป็นระบบ การทำงานร่วมกันเป็นทีม มีความเชื่อใจกันในทีมอันจะส่งผลให้การทำงานออกมาได้ดี และสำหรับตนเองแล้ว หลังจากเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ทำให้ความสนใจที่จะเป็นนักธุรกิจของตัวเองเข้าใกล้มากขึ้นกว่าเดิม โดยจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดสำหรับตนเองในอนาคต
ด้านทีมโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร ปิยภรณ์ บัวทอง หรือ ออม กล่าวว่า สิ่งที่ทีมเราทำได้ดีที่สุดคือการแบ่งหน้าที่กันทำงานอย่างชัดเจนและแบ่งตามความถนัดของแต่ละคน พวกเราพูดคุยกันตลอด ทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้แม่นยำกว่า เวลาเกิดปัญหาจะมาสรุปกันก่อนว่าปัญหาคืออะไร เกิดจากอะไร และหาทางออกที่จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น ในช่วงแรกที่พบว่าสินค้าขายไม่ดีนัก คิดว่าเกิดจากการโปรโมทสินค้าน้อยเกินไป พวกเราจึงไปออกรายการวิทยุ และออกบูธขายสินค้าตามงานต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และขายสินค้าแยกกล่องจากการขายเป็นเซทรวมสินค้า ทำให้ขายดีมากขึ้น ซึ่งคิดว่าการทำธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่นมาก ๆ และพร้อมรับมือกับปัญหาที่เข้ามาตลอด สิ่งเหล่านี้คิดว่าเป็นบทเรียนที่สามารถจะนำไปพัฒนาตนเองต่อได้แน่นอน
สำหรับ พลูโต ยศวรรธน์ มังคละ จากทีมโรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม กล่าวว่า พวกเราได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่างที่แปลกใหม่ ได้ลงมือทำธุรกิจจริง และได้ประสบการณ์จริง เป็นทักษะชีวิตของจริง ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าคุ้มค่ากับเวลามาก ๆ ทำให้พวกเรากล้าแสดงออกมากขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น รวมทั้งเก่งขึ้นด้วย ทีมเราทำได้ดีในหลายๆ เรื่อง ล้วนเกิดจากการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงการมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ การแบ่งงานกันชัดเจนในทีมช่วยให้การทำงานเป็นระบบทำได้ไม่ยาก และสำเร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว
“ทุกอย่างที่พวกเราลงมือทำด้วยตัวเองนั้น ถือเป็นการเรียนรู้ทั้งหมด เหมือนกับการลงทุนกับตัวเราเองด้วย ทั้งหมดเชื่อว่าจะสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้จริง” พลูโต กล่าว
เติบโตและแข็งแกร่งขึ้น
สอดคล้องกับมุมมองของครูที่ปรึกษาจากแต่ละโรงเรียน ที่มาตอกย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของบรรดานักเรียน หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ
โดย นันท์ณิภัค วังแสง และ อดิศักดิ์ สิทธิยศ ครูจากโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม ให้ความเห็นว่า ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กชัดเจน โดยเฉพาะความกล้าแสดงออก และการนำเสนอผลงาน เพราะเด็กๆ จากโรงเรียนพระธาตุเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ปกติแล้วเด็ก ๆ จะไม่ค่อยแสดงออกมากนัก แต่ที่แคมป์นี้ให้พวกเขาได้ขึ้นเวที สามารถพูดจาได้ฉะฉาน
ที่สำคัญพวกเขารู้จักการแก้ปัญหา ถือเป็นทักษะสำคัญที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ในอนาคต ส่วนครูเอง ได้เรียนรู้ในเชิงธุรกิจไปพร้อม ๆ กับนักเรียน และเทคนิคการเรียนการสอนที่มุ่งให้เด็กเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ ที่เชื่อว่าจะสามารถสอดแทรกเข้าไปในการเรียนการสอนได้
ขณะที่ครูจากโรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา ดาราลักษณ์ อินปา และ เจนภพ วิถาน กล่าวว่า เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์มอบโอกาสให้เด็กได้เสนอความคิดของตัวเอง ทำให้กล้าแสดงออกและลงมือทำ ถือเป็นประโยชน์อย่างมากกับเด็ก พวกเขาค้นพบปัญหาและในบางครั้งที่พวกเขาล้ม แต่ก็หาวิธีได้ว่าจะลุกขึ้นมาสู้ต่ออย่างไรให้เร็วที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เขาอาจจะไปเจอกับชีวิตจริงในอนาคต
ขณะเดียวกัน ครูเองได้เห็นวิธีการสอนรูปแบบที่โค้ช และพี่เลี้ยงจะเน้นให้ข้อคิด แนวคิด ซึ่งเป็นการศึกษาแนวใหม่ในยุคปัจจุบันที่มุ่งเน้นให้ครูเป็นพี่เลี้ยงที่คอยชี้แนะแนวทางมากกว่าการไปยืนสอนอยู่หน้าห้อง เทคนิคเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์และนำไปปรับใช้ได้
ด้าน กิตติพันธ์ ท่าชัย และ วรรณศร แสงสง่า ครูจากโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี กล่าวว่า นักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล พวกเขายังขาดประสบการณ์การพบปะสังคม แต่แคมป์นี้ให้โอกาสพวกเขาได้ฝึกทักษะการเข้าสังคม ทำให้เขามั่นใจขึ้น ยังมีทักษะการทำธุรกิจจริง พวกเขารู้แล้วว่ากว่าคนเราจะประสบความสำเร็จได้จะต้องลงมือทำ และกว่าจะสำเร็จได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
และ ครูจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 โดย สุนิตา ไชยชนะ และ สงกรานต์ มหามิตร กล่าวว่า แคมป์นี้ เป็นการเรียนรู้แบบใหม่ที่พวกเขาได้คิดเอง ตัดสินใจเอง ลงมือทำเองทุกขั้นตอน ทำให้เด็ก ๆ มีความสุขกับสิ่งที่พวกเขาได้ทำ เมื่อได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างนี้ ก็ทำให้ครูเองก็มีความสุขไปด้วย สุขที่ได้เห็นพวกเขามุ่งมั่นตั้งใจ แม้ช่วงแรก ๆ เขาจะล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง แต่เมื่อผ่านมาจนถึงวันสุดท้าย พวกเขาแข็งแกร่งขึ้นและเติบโตขึ้นมาก
หวังเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
มาปิดท้ายกันที่มุมมองจากผู้จัดโครงการฯ ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา คือการ ให้ เป็นการให้องค์ความรู้ใหม่ และให้โอกาสในการสร้างประสบการณ์เพื่อให้เกิดทักษะใหม่ เป็นทักษะที่พวกเขาจะได้ติดตัวกลับไปและมีโอกาสนำไปใช้ในชีวิตในอนาคต
หลังจากผ่านการจัดมาทั้งหมด 3 แคมป์ สิ่งที่สังเกตได้คือ น้อง ๆ เหล่านี้โตขึ้น มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น นั่นเกิดจากการที่เขาเห็นปัญหา สามารถวิเคราะห์ถึงปัญหาและบอกได้ว่าต้นเหตุของปัญหาคืออะไร รู้ว่าปัญหานั้นแก้ได้ และควรไปแก้ที่ต้นเหตุ เป็นกระบวนการคิดวิเคราะห์ผลที่เกิดจากเหตุด้วยตรรกะ หาทางออกด้วยการแก้ไขจากทักษะที่มี หรือหากเขาทำไปแล้วล้ม แต่ก็ยังทำต่อได้ด้วยความตั้งใจ โดยกลับมามองปัญหาใหม่อีกครั้ง และแก้ไขอีกทั้ง พวกเขาจะลุกและเดินหน้ามาจนถึงจบค่ายได้ ที่สำคัญพวกเขาทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานได้ แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นตลอดทาง ด้วยเพราะอาจจะไม่คุ้นเคยกันมาก่อน อาจจะไม่เข้าใจกันทั้งหมด แต่พวกเขาสามารถจบลงได้ด้วยการพูดคุยกันได้
แต่จากนี้ไป การจะนำไปพัฒนาตนเองต่ออย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเขาเอง แต่เชื่อได้ 100% ว่า น้อง ๆ ที่ผ่านแคมป์เพาะพันธุ์ปัญญา พวกเขาจะคิดได้ว่ายังสามารถพัฒนาไปต่อได้อีกมาก และหากกลับบ้านไปแล้วคิดว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต องค์ความรู้ใหม่ ๆ ทักษะใหม่ ๆ และประสบการณ์ จะช่วยทำให้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำธุรกิจหรือชีวิตส่วนตัว จะได้รับการดูแล ตีโจทย์และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง และหากเขาทำได้ทั้งหมดแบบนี้ ต่อไปไม่ว่าจะทำอะไรเชื่อว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของความไม่สำเร็จลงได้
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อผู้ที่เข้าร่วมทั้งครูเองในฐานะผู้สังเกตการณ์ สามารถได้ทั้งความรู้ด้านธุรกิจและการเรียนการสอนที่สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อช่วยให้นักเรียนบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายได้ และยังเกิดประโยชน์ต่อผู้ปกครองของเด็กเองด้วย ที่จะเห็นว่าบุตรหลานเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น วิธีคิดของเด็กจะเปลี่ยน การมองปัญหาเปลี่ยน และวิธีการแก้ไขปัญหาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ในแง่ของสังคม การที่เด็กได้โอกาสการเรียนรู้นอกเหนือจากการเรียนปกติ ได้ความรู้ใหม่ และทักษะใหม่ เมื่อพวกเขาไปสู่สนามแข่งขันจริง จะสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ และรู้สึกว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่นเลย นั่นสะท้อนได้ว่าเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ หรือ มูลนิธิฯ เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษานั้นลง ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปัญญานั้นมาถูกทางแล้ว