หลังจากเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ “เพิกถอน” รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นผู้พิจารณาอนุญาต ให้ก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม ศุภาลัย ลอฟท์ รัชดาฯ-วงศ์สว่าง
จากกรณีดังกล่าว บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า ได้ทำการพัฒนาโครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดาฯ-วงศ์สว่าง โดยก่อนที่จะทำการประชาสัมพันธ์ขายโครงการ ได้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามขั้นตอนของกฎหมาย และได้ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างตามระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานราชการครบถ้วนทุกประการ
โดยยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งแต่ปี 2559 และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ซึ่งเป็นผู้พิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้มีความเห็นให้บริษัทฯ ดำเนินการแก้ไขประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนข้างเคียงและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามมาโดยตลอด ตามความเห็นของคณะกรรมการ โดยแก้ไขรูปแบบอาคารและปรับระดับความสูงตามที่ชุมชนโดยรอบโครงการมีความคิดเห็น จนเป็นที่มาของการได้รับหนังสือเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในวันที่ 25 ตุลาคม 2564
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยศาลเห็นว่าการที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการมีมติเห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากพื้นที่ข้างเคียงในเรื่อง แสงแดดและลม ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ดังกล่าว
จึงเป็นการที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายงานผลกระทบด้านแสงแดด และ ลม เป็นครั้งแรกนับแต่มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ
ขณะนี้ศุภาลัยมีความจำเป็นต้องระงับการก่อสร้างไว้ชั่วคราวตามคำสั่งศาลปกครองกลาง และใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุด และเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้บริษัทฯ สามารถกลับมาก่อสร้างโครงการได้ จะเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ รัชดาฯ – วงศ์สว่าง โดยเร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน ศุภาลัยได้เริ่มจัดส่งหนังสือถึงลูกค้าโครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดาฯ-วงศ์สว่าง ทุกราย ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 เพื่อแจ้งแนวทางและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าโครงการดังกล่าว
ศาลสั่งเพิกถอน EIA จากผลกระทบตึกสูงบังแดด-ลม
สำหรับคดีนี้มี คุณศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับชาวชุมชนรัชดาภิเษก ซอย 64-66 ยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนรายงาน EIA โครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง ของ บมจ. ศุภาลัย ที่เข้ามาก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง และมีความยาวมากกว่า 303.5 เมตร ทำให้บังแดด-บังลมของชาวบ้านข้างเคียง และศาลได้เรียกเจ้าของโครงการดังกล่าวเข้ามาในคดีด้วย
คุณศรีสุวรรณ กล่าวว่าก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้แก่ชาวบ้านย่านรัชดาภิเษก ซอย 64-66 ชุมชนประชานุกูล เขตบางซื่อ ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการก่อสร้างโครงการจะทำให้บังแดด-บังลมของชาวบ้านข้างเคียง
คดีนี้ศาลชี้ว่า “คณะกรรมการผู้ชำนาญการ เร่งรีบให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ไป ทั้งที่ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของศาลปกครอง ที่ให้ความสำคัญต่อการก่อสร้างตึกสูงที่มักบังแดด-บังลม ที่จะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ”
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ศาลปกครองได้มีคำพิพากษา ให้เพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง เนื่องจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการ ใช้อำนาจขยายระยะเวลาของการให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ของบมจ.ศุภาลัย ออกไปเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ อีกทั้งเนื้อหาในการจัดทำรายงาน EIA ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการและข้อเท็จจริงโดยเฉพาะปัญหาการบังทิศทางลมและแสงแดดที่จะมีผลกระทบต่อบ้านเรือนข้างเคียงที่ไม่อาจแก้ไขได้
“คำพิพากษาในคดีนี้เป็นเรื่องใหม่และสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาอาคารบังลม-บังแดด และวิถีชีวิตเปลี่ยนไป”
กทม.เตรียมยื่นอุทธรณ์
คุณประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชนกรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) ที่ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นว่า
คชก.กทม.ได้พิจารณาตามหลักวิชาการและข้อกฎหมาย รวมถึงประเด็นข้อร้องเรียน โดยเห็นว่า รายงานดังกล่าวได้จัดทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งได้แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดตามประเด็นที่ คชก.กทม.กำหนด ประกอบกับได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการชดเชยเยียวยาได้อย่างครบถ้วนแล้ว จึงได้ให้ความเห็นชอบรายงานโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564
ส่วนกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติดังกล่าวนั้น เป็นประเด็นเรื่องการบดบังทิศทางสายลมและแสงแดด ที่ศาลเห็นว่า มีการสำรวจและศึกษาไม่ครอบคลุม โดย คชก.กทม.จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อชี้แจงในประเด็นที่ศาลเห็นว่า รายงานดังกล่าวไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ด้านคุณธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า ขณะนี้ คชก.กทม.อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางภายใน 30 วัน และจากการตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันโครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง ได้หยุดการก่อสร้างตามคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติพิพาทแล้ว
สำหรับหลักเกณฑ์และขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 จึงจะสามารถก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้
กรณีบดบังแดด-บังลมของโครงการฯ กระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตตามปกติของชาวบ้าน เป็นไปตามข้อพิจารณาและหลักเกณฑ์ของ คชก.กทม.ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ส่วนการติดตามการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบและกำชับทุกโครงการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมแก่บริเวณข้างเคียงอย่างเคร่งครัด ได้แก่ รั้วทึบสูง 6 เมตร พร้อมติดตั้งแผ่นกันเสียง Blox teg พ่นสเปรย์น้ำโดยรอบโครงการตามที่ EIA กำหนด เป็นต้น
คุณสรสิช เหลืองรุ่งเกียรติ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ กทม.กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยนายตรวจอาคาร ได้ตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างโครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง ซึ่งได้หยุดปฏิบัติงานตั้งแต่ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอน EIA จนถึงปัจจุบันไม่พบมีการฝ่าฝืนการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้หยุดการก่อสร้างไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นแต่ประการใด