เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวก (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา ที่ 1 , ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ที่ 2, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 3 ,ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ 4 , คณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ที่ 5 (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง แต่ถูกเรียกเข้ามาในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากคดีในฐานะผู้ร้องสอด
โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษา ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง พิพากษาให้ “เพิกถอน” คำสั่งอนุญาตก่อสร้างอาคารแอชตันอโศก
ประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองสูงสุด ได้วินิจฉัยว่าที่ดินของ รฟม.ไม่อาจนำมาให้บริษัทอนันดา หรือเอกชนใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
อนันดาฯ เห็นว่าศาลปกครองซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีพิพาท ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับเอกชน เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเพื่อวางแนว หรือสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องชอบธรรม อีกทั้งภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ รวมถึง ฉบับปัจจุบันพุทธศักราช 2560
ในส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่รัฐจะอนุมัติ หรืออนุญาตให้ผู้ใดทำการได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามกฎหมายโดยรัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องใช้อำนาจและทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับประชาชน หรือผู้ประกอบการ ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้นเป็นคดีนี้แล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและทำการเยียวยาในความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และโดยไม่ชักช้า
เรียกร้องหน่วยงานรัฐรับผิดชอบค่าเสียหาย
ดังนั้น ผลแห่งคำพิพากษาที่เกิดขึ้นดังกล่าว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุด และบริษัทฯ เพราะหากหน่วยงานราชการผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติแล้วโครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างที่เป็นอยู่
อนันดาฯ จะเร่งรีบดำเนินการ ในการเรียกร้องค่าเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัทฯ โดยเร็ว รวมทั้งจะดำเนินการประสานงานคณะกรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก และเจ้าของร่วม เพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเพื่อทวงถามความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายใน 14 วัน นับแต่วันนี้
โดยยืนยันว่าการทำโครงการแอชตัน อโศก ได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตต่าง ๆ รวมทั้งสภาพที่ดินของโครงการอย่างรอบคอบรัดกุม
อีกทั้งการพิจารณาอนุมัติในการทำโครงการต่าง ๆ ยังได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติ และภายใต้การกำกับ ควบคุม จากหน่วยงานของรัฐไม่ต่ำกว่า 8 หน่วยงาน จึงยืนยันได้ว่า อนันดาฯ ได้ดำเนินการไปด้วยความสุจริต และชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้งแล้วทุกประการเท่าที่จะทำได้ด้วยความเชื่อถือโดยสุจริตว่าการอนุมัติของหน่วยงานราชการทุกฝ่ายนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จึงขอความเป็นธรรมจากทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ไขป้องกันมิให้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังเช่นคดีนี้ได้เกิดขึ้นอีกและเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐได้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็วด้วย
อ่านเพิ่มเติม