ผู้ว่ากรุงเทพฯ ผุดโมเดล “ห้องเรียนดิจิทัลยั่งยืน” (Digital Sustainable Classroom) จับมือ Google และหอการค้าอเมริกันฯ ดึงคอมพ์เก่ามาแปลงร่างใหม่ให้ทำงานต่อได้ด้วยระบบปฏิบัติการ ChromeOS Flex เพื่อส่งต่อให้เด็ก ๆ ในโรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ใช้ในการเรียน พร้อมตั้งเป้ารับบริจาคคอมพ์เก่า 130,000 เครื่องภายใน 4 ปีเพื่อนำมาปรับใช้ในโครงการดังกล่าว
สำหรับที่มาของ “ห้องเรียนดิจิทัลยั่งยืน” มาจากการปรับตัวเพื่อรับยุคดิจิทัลของภาคการศึกษาไทยที่เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงที่ Covid-19 ระบาด โดยนอกจากบริษัทต่าง ๆ จะออกมาช่วยอบรมครูให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว อุปกรณ์อย่างเช่น “คอมพิวเตอร์” ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายด้วยเช่นกัน เพราะมีรายงานว่า เด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงอุปกรณ์เหล่านี้ และทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย
เพื่อแก้ PainPoint ดังกล่าว จึงมีการเปิดรับบริจาคคอมพิวเตอร์เก่า เช่น คอมพิวเตอร์ที่มีอายุใช้งาน 3 – 5 ปี (ที่อาจทำงานช้าลงมากแล้ว เมื่อรันระบบปฏิบัติการตัวเดิม) มาติดตั้งระบบปฏิบัติการ ChromeOS Flex ของทาง Google แทน ซึ่งข้อดีของระบบปฏิบัติการ ChromeOS Flex ก็คือทำงานได้โดยใช้ทรัพยากรของตัวเครื่องไม่สูงมาก โดยมีข้อมูลการศึกษาจาก MM Research Institute จากประเทศญี่ปุ่นในปี 2022 พบว่า เมื่อเปลี่ยนระบบปฏิบัติการจาก Windows 10 มาเป็น ChromeOS Flex พบว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นใช้พลังงานลดลง 45% ซึ่งจะทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นยังสามารถทำงานต่อไปอีกสักระยะ (อาจจะ 5 – 6 ปี) และทำให้คอมพิวเตอร์เก่าเหล่านี้แทนที่จะถูกกำจัดในฐานะขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปีที่ 5 ของอายุการใช้งาน ก็กลายเป็นอุปกรณ์ในการเรียนของเด็ก ๆ ได้ต่ออีกสักระยะนั่นเอง
ห้องเรียนดิจิทัลยั่งยืน
แนวทางดังกล่าวได้ถูกนำไปทดลองกับโรงเรียนสังกัด กทม. อย่าง โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนวิชาต่าง ๆ แบบ 1 คนต่อ 1 เครื่อง ใน 7 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ และดนตรี และได้มีการทำวิจัยโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เด็กนักเรียนมีความสนใจในการเรียนมากขึ้น และมีการพัฒนาทักษะด้าน ICT เพิ่มขึ้นด้วย
คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า การรับบริจาคคอมพิวเตอร์จากประชาชน และภาคเอกชนถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ และเป็นการดึงทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันในด้านการศึกษา พร้อมระบุว่า การซื้อของใหม่นั้นง่ายก็จริง แต่การทำให้คนร่วมมือกันได้นั้น ท้าทายกว่า โดยในช่วงเริ่มแรกนี้ ทาง กทม. ได้รับบริจาคคอมพิวเตอร์มาแล้วประมาณ 400 เครื่อง ทั้งจากประชาชนและภาคเอกชน (ล่าสุดเป็นเอไอเอสบริจาคคอมพิวเตอร์ให้กับโครงการดังกล่าว 100 เครื่องและเงินติดล้อ 200 เครื่อง)
สำหรับเป้าหมายของการนำคอมพิวเตอร์เก่าไปแปลงร่างด้วย ChromeOS Flex และส่งมอบให้โรงเรียนในสังกัด กทม.นั้น คุณชัชชาติเผยว่า ในปี 2024 จะเริ่มขยายผล โดยจะนำไปให้เด็กนักเรียนชั้น ป.4 – ม.1 ของโรงเรียนในสังกัดทั้ง 437 แห่งได้ใช้งาน และหากสามารถทำตามเป้าได้สำเร็จ หรือก็คือมีผู้บริจาคครบ 130,000 เครื่องภายในปี 2026 ทาง กทม. ก็จะขยายการใช้งานให้กับเด็ก ๆ จนถึงชั้น ม.3 ได้เลย
นอกจากนั้น หากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ หรือการล็อกดาวน์ใด ๆ ขึ้นอีกในอนาคต เด็ก ๆ สามารถนำคอมพิวเตอร์เหล่านี้กลับไปใช้เรียนที่บ้านได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวมีการใช้งานในภาคการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาที่ในช่วง Pandemic เด็ก ๆ หลายคนก็อาจเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์เช่นกันเนื่องจากไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน โดยคุณ Tim Paolini ผู้บริหารฝ่าย ChromeOS Flex Global จาก Google เผยว่า ในตอนนั้นมีองค์กรต่าง ๆ บริจาคคอมพิวเตอร์เก่าแล้วนำมา Refurbish ใหม่และส่งมอบให้โรงเรียนต่าง ๆ ได้ใช้งานเช่นกัน รวมถึงยังมีการใช้งานในระดับองค์กรด้วย เช่น Flipkart, Citibank, Shopify
ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยก็คือเรื่องความปลอดภัย โดยที่ผ่านมา ระบบปฏิบัติการ ChromeOS Flex ยังไม่เคยเกิดเคสถูก Ransomware (มัลแวร์เรียกค่าไถ่) โจมตีได้สำเร็จด้วยนั่นเอง
คุณ Tim ยังได้กล่าวด้วยว่า สำหรับคอมพิวเตอร์เก่าที่นำมาติดตั้ง ChromeOS Flex นั้นรองรับได้ทั้งคอมพิวเตอร์ในระบบ Windows และ Mac โดยในประเทศไทยจะมีพาร์ทเนอร์ที่รับดูแลติดตั้งซอฟต์แวร์ให้กับทางโรงเรียน ก่อนการส่งมอบด้วย
สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวได้ที่ https://digitalclassroom.bangkok.go.th/