ในยุคที่ร้านชานมไข่มุกกลับมาบูมอีกครั้ง และ Top Brand ในใจลูกค้าส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่สำหรับคอชานม ชาไข่มุก คงคุ้นเคยกับชื่อแบรนด์ บราวน์ (Brown) ร้านชานมไข่มุกที่ให้บริการทั้งเครื่องดื่มและขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่นหลากหลายเมนู การเป็นแบรนด์สัญชาติไทยที่ประสบความสำเร็จท่ามกลางสมรภูมิชานมไข่มุกจากต่างประเทศ
BrandBuffet คุยกับ “แพร – แพรวา ไชยซาววงศ์” ผู้ที่ก่อตั้ง Brown ขึ้นมาด้วยจุดเริ่มต้นจาก Passion ที่มีใจรักต่อชานมไข่มุกและขนมหวานอย่างแรงกล้า ตั้งแต่วันแรกของการเริ่มต้นธุรกิจจากการลองผิดลองถูก ด้วยสูตรจาก Youtube ที่แม้กระทั่งไข่มุกยังต้มทิ้งซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่ประสบผลสำเร็จจนถึงปัจจุบัน
“คุณแพร” เล่าที่มาของ Brown ว่า นอกจากความต้องการในการเปิดร้านชานมไข่มุก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ช่วงแรกเริ่มของการเปิดร้านยังมีการเรียนรู้ เข้าคอร์สการทำชานมไข่มุก และทดลองต้มไข่มุกเองตั้งแต่ต้น (ที่ไต้หวัน) เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือนจนกลายมาเป็นสูตรที่ลงตัวในปัจจุบัน ผ่านพ้นไป 4-6 เดือน แบรนด์ Brown เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง กลายเป็นร้านบราวน์ (Brown) สาขาแรกที่ นิมมาน ซ.9 จ.เชียงใหม่
จากนั้นจึงย้ายมาสาขาที่กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรก โดยปรับโมเดลให้เข้ากับพื้นที่ที่มีจำกัด ด้วยการขายเครื่องดื่มมากกว่าขนมหวาน ก่อนที่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG จะเข้ามาร่วมทุน (Joint Venture: JV) กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บราวน์ กรุ๊ป ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท บราวน์ดีเซิร์ท จำกัด โดย CRG เข้าร่วมทุนในสัดส่วน 51% ด้วยเงินลงทุนราว 70 ล้านบาท และเริ่มมีการปรับแผนงาน หลังบ้านอย่างจริงจังในปี 2563
เส้นทางตลอดระยะเวลา 3 ปีหลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ CRG ว่า มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระบบหลังบ้านที่แข็งแกร่งขึ้น มีมืออาชีพเข้ามาดูแลระบบ การวางแผน บริหารจัดการจากมืออาชีพให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ในมุมของธุรกิจการเติบโตดังกล่าว แม้จะประสบผลสำเร็จ แต่ในฐานะที่แบรนด์เข้ามาอยู่ในร่มยักษ์ใหญ่อย่าง CRG การเติบโตระยะยาว ไปพร้อมๆกับการขยายสาขาเพื่อครอบคลุมตามสเกลธุรกิจคือสิ่งจำเป็น
แต่ด้วยทำเลที่มีจำกัด บวกกับในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ Brown ต้องโฟกัสการบริการที่ง่ายและคล่องตัวอย่าง ร้านรูปแบบ Mini House และบริการดิลิเวอรี่ก่อน ทำให้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา “โควิด” คือจุดพีคสุดของปัญหาที่แบรนด์ต้องเผชิญ ซึ่งตอนนั้นเจ้าตัวต้องบริหารจัดการและดูแลน้องๆเพื่อฝ่าวิกฤติไปให้ได้มากที่สุด แต่โชคดี Brown เป็นแบรนด์เครื่องดื่มที่สามารถปรับตัวเข้าสู่บริการแบบดิลิเวอรีได้ง่ายทำให้สามารถฝ่าช่วงวิกฤติมาได้โดยไม่ต้องเฉือนเนื้อตัวเอง
ขณะที่หลังโควิดพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป หันมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ทำให้แบรนด์ Brown ต้องกลับมาโฟกัสการทำตลาดที่เน้นการมอบประสบการณ์ภายในร้านให้ลูกค้าเพิ่ม ด้วยการรุกตลาดในโมเดลคาเฟ่ Brown Cafe ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่เกิดขึ้นในสาขาแรก จ.เชียงใหม่ ให้มากขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์ Dine-in จากร้านสู่ลูกค้าโดยตรง เพื่อสร้างแบรนด์ให้เติบโตแบบมีเสถียรภาพมากที่สุด
3 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงในร่มใหญ่ CRG กับการเปิด Brown Cafe ที่มากกว่าชานมไข่มุก
ล่าสุดกับการเปิดร้าน Brown Cafe โมเดลธุรกิจใหม่เพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้นในยุคที่พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงหลังโควิด และรองรับการแข่งขันในธุรกิจขนมหวานที่แทบจะเป็น Red Ocean ในไทย โดยมีการเพิ่มเติมเมนูขนมหวานเข้ามาภายในร้านมากขึ้น จากเดิมที่ร้าน Brown สาขากรุงเทพฯ เน้นเมนูชานมไข่มุกเป็นหลัก นอกจากนี้ยังตกแต่งรูปแบบภายในร้านด้วยบรรยากาศโทนสีน้ำตาล หรือบ้านไม้ ให้ความรู้สึกเมื่อก้าวเท้าเข้ามาในร้าน ในสไตล์ Warm Welcome Japanese Dessert ที่ชัดเจน แต่เพิ่มเติมเรื่องความหลากหลาย วาไรตี้ ในส่วนของเมนูต่าง ๆ ให้ลูกค้ากลับออกไปด้วยความประทับใจ
โดยปัจจุบัน Brown Cafe หรือที่เรียกว่า Full House (Dessert Cafe จำหน่ายของหวาน และ เครื่องดื่ม) จำนวน 4 สาขา ได้แก่ สาขา เชียงใหม่, เซ็นทรัล พระราม 9, เซ็นทรัล เวสต์เกตต์, แฟชั่นไอส์แลนด์ จากจำนวนทั้งหมดที่มีอยู่ 14 สาขาในปัจจุบัน
การโฟกัสโมเดลคาเฟ่ของ Brown แม้จะเป็นการทำตลาดในยุคที่ธุรกิจคาเฟ่เติบโต มีร้านจากผู้ประกอบการมากมายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ “คุณแพร” บอกว่า จุดต่างของ Brown Cafe ในการเปิดร้านคาเฟ่ภายในศูนย์การค้าคือการให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย สะดวกสบาย ในทุกครั้งที่ลูกค้าต้องการในชีวิตประจำวัน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าการทำธุรกิจยุคใหม่ จำเป็นต้องใส่ความมั่นใจและไอเดียเข้าไป เพื่อสร้างการเติบโต
แนวคิดสำคัญที่ทำให้ Brown สร้างแบรนด์จนประสบความสำเร็จท่ามกลางธุรกิจชานมไข่มุกที่มีการเติบโตสูงในช่วงที่ Brown เข้ามาในตลาด สิ่งแรกที่ต้องมีคือ มาตรฐานที่ต้องมีอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความต่าง โดย “คุณแพร” คือคนที่คิดสูตรไปจนถึงพัฒนาเมนูต่างๆที่มีร่วม 200 รายการภายในร้านเองทั้งหมด นั่นคือการรับมือกับความท้าทายคือการปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะในธุรกิจขนมหวานที่มีคู่แข่งจำนวนมากในยุคปัจจุบัน
“แม้ตลาดชานมจะมีช่วงพีค แต่ตอนนี้ตลาดกลับมาเติบโตแบบสม่ำเสมอแล้ว เราจำเป็นต้องหาอะไรมาเติมให้ลูกค้าเพื่อสร้างความแปลกใหม่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีหลายโซนที่เรายังขยายสาขาไปไม่ถึง แผนงานต่อจากนี้คือการขยายสาขาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ในศูนย์การค้าที่มีทราฟฟิก มีกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบชานมไข่มุกอยู่จำนวนมาก”
พัฒนาเมนูของหวาน ขยายฐานลูกค้าใหม่ “ครอบครัว” ก่อนขยายสาขาทั่วไทย
อีกหนึ่งความสำเร็จของ Brown Cafe คือการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มครอบครัวได้มากขึ้น เนื่องจากมีการเติมเมนูขนมหวานเข้าไปในร้าน จึงทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น จากช่วงแรกกลุ่มลูกค้าของ Brown เป็นคนรุ่นใหม่ นักศึกษา วัยทำงาน แต่พอมาโฟกัสขนมหวาน ได้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มครอบครัวมากยิ่งขึ้น
นั่นทำให้การเพิ่มเติ่ม ปรับเปลี่ยนเมนูขนมหวานภายในร้าน กลายเป็นอีกหนึ่งคีย์หลักที่ทางแบรนด์ให้ความสำคัญ โดยจะต้องมีเมนูใหม่ออกมาทุกๆ 3 เดือน ตามเทรนด์และกระแสในขณะนั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะในธุรกิจขนมหวานส่วนสำคัญคือ Emotional ที่ทำอย่างไรให้ลูกค้ามีอารมณ์ร่วม และนึกอยากรับประทานขึ้นมา เพราะต้องยอมรับว่าขนมหวานนั้นไม่ใช่อาหารมื้อหลักที่ลูกค้ารับประทานประจำ นอกเหนือจากคุณภาพ รสชาติ จำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้า แพ็คเกจจิ้ง สร้างความโดดเด่นให้ไม่เหมือนใคร และต้องตามกระแสให้ทันตลอดเวลา
จากนี้ไป Brown ถูกวางโพซิชั่นเป็น Dessert Cafe ในตลาดพรีเมี่ยมแมส กับคอนเซ็ปต์ Friendly Dessert for Your Health มีระดับราคาตั้งแต่ 60-300 บาท โดยมีชานมไข่มุกเป็นฮีโร่โปรดักต์ แน่นอนแผนธุรกิจนับจากนี้คือการขยายสาขาให้ครอบคลุมมากที่สุดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมทั้งพัฒนาเมนูให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และยังต้องเพิ่มบริการที่เข้าถึงลูกค้าในทุกรายละเอียดให้มากขึ้น
“ตอนนี้ลูกค้าอาจจะจำว่าเราคือแบรนด์ชานมไข่มุก แต่จากนี้ไปเราจะเน้นการสื่อสารแบรนด์ที่บอกว่าเราเป็นมากกว่าชานมไข่มุก มีเมนูของหวานให้เลือกกว่า 200 รายการในแต่ละหมวดหมู่ที่หลากหลาย”
ขณะที่การเปิดสาขาของ Brown ในปี 2566 นี้จะเน้นขยายให้ครอบคลุมในกรุงเทพฯ ก่อนจะขยายออกไปต่างจังหวัดเพื่อสร้างการเข้าถึงให้มากขึ้น โดยปัจจุบันสามารถขยายสาขาแล้ว 14 สาขา ใน 2 โมเดลหลัก ได้แก่ Full House (Dessert cafe จำหน่ายของหวาน และ เครื่องดื่ม) จำนวน 4 สาขา , Mini House (จำหน่ายเครื่องดื่ม และของหวานเฉพาะรูปแบบ Takeaway) จำนวน 10 สาขา และมีสาขาในอีก 3 ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ กัมพูชา มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์
นอกจากนี้อนาคตยังมีแผนขยายแบรนด์เข้าหาลูกค้าให้มากที่สุด ในช่องทางโมเดิร์นเทรด โดยจะมีการต่อยอดชานม และขนมหวานต่างๆ ของแบรนด์ไว้ในบรรจุภัณฑ์เพื่อเข้าจำหน่ายในช่องทางรีเทลในอนาคต
ซินเนอร์ยี่แบรนด์ในเครือ CRG ต่อยอดธุรกิจในอนาคต
แม้จะกลายเป็นแบรนด์ที่สามารถสร้างการเติบโตท่ามกลางตลาดขนมหวาน คาเฟ่ ระอุมาได้ แต่ “คุณแพร” บอกว่าสิ่งที่ยังต้องทำสม่ำเสมอคือการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ด้วยการหมั่นเข้าคอร์ส ฝึกอบรม และประชุม โดยมีทีมงานของ CRG เป็นผู้ผลักดันสำคัญอยู่เบื้องหลังเสมอ
โดยจากนี้ไปจะมีการ Collaboration กับแบรนด์ในกลุ่ม CRG เพื่อผนึกกำลังสร้างโอกาส เพิ่มการรับรู้ให้แก่ลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ และยังเป็นการเพิ่มวาไรตี้ให้กับเมนู เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มอายุ และทุกไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงการนำ innovation ต่าง ๆ มาพัฒนาต่อยอด และนำเสนอเมนูใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า สามารถสร้างความน่าสนใจ แปลกใหม่ และแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการจับมือทำสินค้าร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการนำเมนูจาก Brown ไปวางจำหน่ายเป็นเมนูขนมหวานภายในร้าน เช่น การนำเมนูไอศกรีมไปวางจำหน่ายในร้านโอโตยะ หรือการแชร์พื้นที่สาขาร่วมกันกับแบรนด์ โคลสโตน ร้านไอศกรีมในเครือ CRG ที่ Brown Cafe ในสาขาเซ็นทรัล พระราม 9
สุดท้าย คุณแพร เผยว่า อนาคตถ้าระบบการบริหารจัดการนิ่งแล้ว Brown ยังมีแผนขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ต่อไป แต่ตอนนี้ขอวางระบบและพัฒนาคุณภาพ บริการให้ตอบโจทย์มากที่สุดเสียก่อน โดยวางเป้าหมายแรกในช่วง 5 ปีนับจากนี้ (2565-2569) ไว้ที่ 500 ล้านบาท พร้อมทั้งกลายเป็น Top Of Mind Brand ที่เมื่อใครนึกถึงชานมไข่มุกและขนมอยากให้นึกถึงแบรนด์ Brown จนกลายเป็น Brand Love ของคนไทย