คำว่า “โลกร้อน” หลายคนคงรู้สึกชิน เพราะได้ยินคำนี้มานาน แต่ปัญหานี้ยังคงอยู่กับเรา และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตหนักขึ้นทุกปี จนกลายเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจัง ในช่วงหลายปีมานี้ เราจึงเห็นหลายองค์กรหันมาให้ความรู้ถึงวิธีการลดโลกร้อนแบบง่ายๆ กันมากขึ้น เพื่อต้องการกระตุ้นให้ทุกคนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และเพื่อลดปัญหาโลกร้อน จากที่ผ่านมาจะเน้นไปที่การสร้างความรู้ถึงพิษภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
เช่นเดียวกับ “กระทรวงมหาดไทย” หนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่เอาจริงกับการดูแลสิ่งแวดล้อมพร้อมลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยดูแลรักษาโลกให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงได้ผุดโครงการ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” จนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในครัวเรือนให้หันมาแยกขยะเปียกออกจากขยะทั่วไปอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังสามารถจัดเก็บคาร์บอนเครดิตได้กว่า 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และล่าสุดยังต่อยอดสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกกับธนาคารกสิกรไทย สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนอีกด้วย Brand Buffet จึงพามาทำความรู้จักโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนกันให้มากขึ้น พร้อมแนวคิดของธนาคารกสิกรไทยในการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากชุมชน และก้าวต่อไปบนเส้นทางความยั่งยืน
“ขยะอาหาร” ตัวการทำโลกร้อน สู่จุดเริ่มต้น “ถังขยะเปียก”
เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่คุ้นกับ “ถังขยะอินทรีย์” หรือ “ถังขยะเปียก” มากนัก และคงสงสัยว่าถังขยะเปียกนี้จะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร เพราะหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า “ขยะจากเศษอาหาร” หรือ “Food Waste” ที่เราเหลือทิ้งกันทุกวัน เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ไม่แพ้เจ้าพลาสติก เพราะหากมีปริมาณมาก อีกทั้งไม่มีการคัดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธี เศษอาหารเหล่านี้จะเน่าเสีย และก่อให้เกิดก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่าทีเดียว
ถังขยะเปียก จึงเป็นถังที่ออกแบบเพื่อจัดการกับเศษอาหารที่เหลือทิ้งจากครัวเรือน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งรวมของเชื้อโรค โดยจะหมักขยะเหล่านี้ใส่ไว้ในถังจนย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งสามารถเอาไปบำรุงดินและปลูกต้นไม้ต่างๆ ได้ด้วย ดังนั้น ถังขยะเปียกจึงเป็นวิธีการจัดการคัดแยกขยะเปียกตั้งแต่ต้นทางไม่ให้ส่งกลิ่นรบกวน ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
โดยจุดเริ่มต้นของโครงการ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อ “คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในเวลานั้น และ “ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ” ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนในจังหวัดลำพูน และเห็นคนในท้องถิ่นมีการจัดการคัดแยกขยะทุกกิจกรรม เพื่อให้ลูกหลานไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจากไข้ซิก้าซึ่งเกิดจากการเพาะพันธุ์ของยุงจากขยะเน่าเหม็น จึงเกิดความประทับใจ แต่ตอนนั้นการจัดการขยะยังใช้ “เสวียน” ซึ่งเป็นถังขยะเปียกระบบเปิด จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาถังขยะใหม่จนออกมาเป็น “ถังขยะอินทรีย์” หรือ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน”
“ตอนนั้นเราไม่ได้คิดเรื่องคาร์บอนเครดิต แค่ต้องการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี เพื่อให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยในโลกใบนี้อย่างยั่งยืน”
จากนั้นได้ขับเคลื่อนโครงการมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อคุณสุทธิพงษ์ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และประเทศไทยวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ส่งผลให้กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ โดยจัดทำโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้ทุกจังหวัดเปลี่ยนวิธีจัดการขยะแบบเดิมจากการฝังกลบสู่การทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนให้ครบทุกครัวเรือน รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในปี 2562 ยังขึ้นทะเบียนโครงการภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ได้สำเร็จ พร้อมทั้งร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ทำวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ จนได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจาก อบก.
นำร่อง 4 จังหวัด แปลง “ขยะ” จากอาหารเป็น “ทรัพย์” สร้างรายได้กว่า 8 แสนบาท
จริงอยู่ที่กระบวนการจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนไม่ใช่เรื่องยาก และทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ แต่การสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในครัวเรือนให้มีการคัดแยกขยะเศษอาหารทุกครั้ง เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา โดยกว่า 3 ปีที่ผ่านมามีครัวเรือนที่จัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อนแล้วกว่า 16 ครัวเรือน ทำให้มีปริมาณขยะเปียกที่คัดแยกใส่ถังขยะเปียกลดโลกร้อน 33 ล้านตันต่อปี คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้กว่า 550,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยมีจังหวัดที่ทำถังขยะเปียกครบ 100% และได้รับการรับรองจาก อบก.แล้วว่าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริงจำนวน 4 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม ลำพูน อำนาจเจริญ และเลย โดยเกิดเป็นคาร์บอนเครดิตได้กว่า 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
คุณสุทธิพงษ์บอกว่า นอกจากจะช่วยกำจัดขยะได้ง่ายขึ้น ลดปริมาณขยะ และค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะแล้ว ยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน เพราะชุมชนสามารถนำเอาคาร์บอนเครดิตจากขยะเหล่านี้ไปขายได้ ซึ่งในเฟสแรก ทางธนาคารกสิกรไทยได้เข้ามารับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 260 บาทต่อตัน รวมเป็นเงิน 816,400 บาท โดยเงินทั้งหมดจะกลับคืนสู่กองทุนสวัสดิการหมู่บ้าน เพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือสมาชิกและพัฒนาสาธารณประโยชน์ในชุมชนต่อไป เช่น เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุและค่าฌาปนกิจศพ
“เราดำเนินการทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ใน 7,255 ตำบล 878 อำเภอพร้อมกัน แต่ 4 จังหวัดแรกสามารถบริหารจัดการขยะอาหารได้ครบ 100% ก่อน จึงถือเป็นจังหวัดนำร่องในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการขยะระดับครัวเรือนที่เป็นรูปธรรมครั้งแรก”
สำหรับหัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม คุณสุทธิพงศ์ มองว่า ปัจจัยมาจาก 2 ส่วน คือ ผู้นำ ต้องแสดงให้เห็นจุดยืนชัดเจนว่านโยบายที่ให้ทำนั้นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร และต้องทำต่อเนื่องตลอดเวลา และความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ถึงแม้ผู้นำจะให้นโยบายชัดเจน แต่ถ้าทุกคนไม่ช่วยกัน ก็ไม่สามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยหลังจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยในเฟส 2 จะมีอีก 22 จังหวัด หรือประมาณ 10 ล้านครัวเรือนสามารถจัดการขยะเปียกได้สำเร็จ ซึ่งจะสามารถจัดเก็บคาร์บอนเครดิตได้กว่า 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2567 จากนั้นจะดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดต่อไป
หนุนคนไทยซื้อขายคาร์บอนเครดิต เปลี่ยนพฤติกรมแยกขยะ สร้างสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
ที่ผ่านมาหลายคนอาจรู้จัก “ธนาคารกสิกรไทย” ในฐานะสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของไทย แต่ในอีกมิติหนึ่ง ธนาคารกสิกรไทยยังให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพราะตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) และการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย โดยธนาคารได้เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง อาทิ การใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ การวางแผนปรับเปลี่ยนวัสดุในการทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้การปล่อยคาร์บอนลดลงให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการส่งเสริมบุคลากรและทุกภาคส่วนให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมบนหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและยั่งยืน โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาธนาคารสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 16.75% (เทียบปีฐาน 2563 ) และธนาคารยังเดินหน้าต่อเนื่อง พร้อมด้วยภารกิจเปลี่ยนอาคารหลัก 4 แห่งของธนาคาร ให้มีการจัดการขยะในอาคารไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ ภายในปี 2566 นี้
คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ยอมรับว่า โจทย์ท้าทายของการดูแลสิ่งแวดล้อมคือ เป็นงานที่ไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงลำพัง แต่ต้องเป็นการขับเคลื่อนโดยทุกภาคส่วนเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้ เพราะมองว่าเป็นโครงการที่ทรงพลังมาก ไม่เพียงจะทำให้ขยะเปียกเป็นทรัพยากรที่มีค่า แต่ยังก่อให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้จริง และสามารถนำเงินไปหล่อเลี้ยงคนในชุมชนต่อไป ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนและผลักดันไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างแน่นอน
“การเข้าไปรับซื้อคาร์บอนเครดิตในเฟสแรกเป็นโครงการนำร่อง เราจึงซื้อที่ราคา 260 บาท ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของคาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภท Waste Management เพราะต้องให้เกิดการซื้อขาย และสิ่งที่มีความหมายมากกว่าคือ การลงมือทำของประชาชนในครัวเรือนจนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการคัดแยกขยะ ซึ่งหากทุกครัวเรือนทำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้เร็วและทำให้โลกยั่งยืน”
ปัจจุบันแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิตจากขยะอาหารในครัวเรือนยังเป็นเรื่องใหม่ในไทย จึงทำให้ในปีแรกดีมานด์ยังไม่มาก แต่คุณกฤษณ์เชื่อว่า จากความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม จะผลักดันให้ตลาดคาร์บอนเครดิตมีความคึกคักและมีความต้องการสูงขึ้น
โครงการ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” จึงเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของการลงมือทำอย่างจริงจัง หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ย่อมช่วยโลกให้กลับมาน่าอยู่ได้อย่างแน่นอน