ในขณะที่บรรดาคนดังในซิลิคอนวัลเลย์พยายามหาทางทำเงินกับแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียของตนเองในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งพล็อตที่ออกมามีตั้งแต่การได้แรงบันดาลใจจากแอปเดิม ๆ ในท้องตลาด ไปจนถึงการเก็บเงินผู้ใช้งานเพิ่มกันดื้อ ๆ นั้น แต่หากเราเปลี่ยนฟากไปยืนในมุมจีน จะพบว่ามีแอปพลิเคชันแนวคิดใหม่ ๆ ปรากฏตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นแอปที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินให้เสียด้วย
หนึ่งในเทรนด์ที่กำลังฮอตฮิตในจีนแผ่นดินใหญ่เวลานี้คือ แอปที่มาพร้อมเทคโนโลยีการปรับแต่งภาพถ่ายด้วย Generatvie AI ซึ่งมีมินิแอปบน WeChat อย่าง Miaoya และ 45ai ให้บริการอยู่ในขณะนี้ โดยทาง Miaoya เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีรายงานว่า ลูกค้าชาวจีนต่างเข้าคิวรอใช้งานเป็นจำนวนมาก
หนึ่งในข้อมูลยืนยันมาจากรายงานของ South China Morning Post ที่ระบุว่า ในช่วงที่เป็นกระแสนั้น แอปพลิเคชันดังกล่าวมีลูกค้าเข้าคิวรอใน Waiting List ประมาณ 6,000 ราย และลูกค้าบางรายยอมรับว่า พวกเขารอนานถึง 24 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ภาพจากแอปพลิเคชันดังกล่าวกันเลยทีเดียว
สำหรับการทำงานของ Miaoya คือการให้ลูกค้าอัปโหลดภาพถ่ายตัวเองส่งให้กับทางแอปอย่างน้อย 20 ภาพ และหนึ่งในนั้นต้องเป็นภาพหน้าตรง จากนั้น ระบบจะนำไปประมวลผล และส่งกลับมาเป็นภาพพอร์ทเทรตให้เราได้นำไปใช้งานกัน เช่น อาจใช้เป็นภาพโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย หรือการนำไปใช้ประกอบการสมัครงาน ฯลฯ โดยทางผู้พัฒนาจะคิดค่าใช้จ่ายกับลูกค้าในราคา 9.9 หยวน หรือประมาณ 47.70 บาท
ทั้งนี้ หลังจากเปิดตัว Miaoya ไม่นานก็มีอีกบริษัทหนึ่งที่ให้บริการในลักษณะเดียวกันเปิดตัวตามมาติด ๆ ในชื่อ 45ai แต่ความพิเศษของ 45ai ก็คือสามารถปรับแต่งภาพถ่ายให้มีสไตล์ของภาพยนตร์ที่กำลังเป็นกระแสในเวลานี้อย่างบาร์บี้ (Barbie) ได้ด้วย
จากความนิยมในการแต่งภาพด้วย AI นี้ ทาง South China Morning Post อ้างว่ามีผลทำให้ทราฟฟิกของ 45ai และ Miaoya เติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีในจีนเริ่มมองหาช่องทางอื่น ๆ ในการใช้ Generative AI มาสร้างรายได้เพิ่มเติม
ขณะที่นักวิเคราะห์อีกฟากหนึ่งก็มองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าโมเดลธุรกิจนี้จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากลูกค้าที่มาทดลองแต่งภาพด้วย AI เมื่อได้รับภาพกลับมาจากแอปแล้ว ภาพนั้นอาจเป็นภาพที่ใช้งานได้ดีจนไม่จำเป็นต้องกลับมาใช้บริการอีกในเร็ววันก็เป็นได้ ไม่นับรวมผู้บริโภคบางส่วนที่กังวลเรื่อง Privacy ในการส่งภาพถ่ายของตนเองไปให้กับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เก็บรักษา หรือการอนุญาตให้แอปพลิเคชันเข้าถึงฟีเจอร์กล้องถ่ายภาพ ไมโครโฟน หรือโฟลเดอร์เก็บภาพถ่ายด้วย
แต่ไม่ว่าอย่างไร แนวคิดดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่า โอกาสใหม่ ๆ นั้นมีอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีอาจต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากพอจึงจะมองเห็นมันได้นั่นเอง