HomeBrand Move !!เปิดเส้นทาง “OPPO” 15 ปี ขึ้นแท่นเบอร์สองสมาร์ทโฟนไทย

เปิดเส้นทาง “OPPO” 15 ปี ขึ้นแท่นเบอร์สองสมาร์ทโฟนไทย

ชี้ความท้าทายตลาดสมาร์ทโฟนครึ่งปีหลัง "ค่ายมือถือลดการลงทุน"

แชร์ :

คุณชานนท์ จิรายุกุล ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหาร ออปโป้แห่งประเทศไทย

คุณชานนท์ จิรายุกุล ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหาร ออปโป้แห่งประเทศไทย

เปิดกลยุทธ์ OPPO ประเทศไทย หลังฉลองใหญ่ครบรอบ 15 ปี – ยอดขายไตรมาส 1/2023 ขึ้นแท่นเบอร์สองของตลาด พร้อมบุกตลาดโทรศัพท์มือถือทุกมิติ โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางและพรีเมียมที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผู้บริหารเผยเส้นทางข้างหน้ามีความท้าทายรออยู่ เหตุผู้ให้บริการโทรคมนาคมลดการให้สิทธิพิเศษ (Subsidize) อุปกรณ์สมาร์ทโฟน ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องปรับกลยุทธ์ เลือกทำตลาดตัวเครื่องที่ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เป็น 15 ปีที่รวดเร็วทีเดียวสำหรับการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยของ OPPO โดยคุณชานนท์ จิรายุกุล ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหาร ออปโป้แห่งประเทศไทย เผยถึงเส้นทางที่ผ่านมาว่า ค่อนข้างยากลำบากในช่วงปีแรก ๆ (2008) เนื่องจากในเวลานั้นแบรนด์ OPPO ยังไม่เป็นที่รู้จัก 

อย่างไรก็ดี คุณชานนท์มองว่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัทแม่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพ ทำให้เกิดการยอมรับแบรนด์ OPPO ขึ้นอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา (2016 – 2017) เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการเซลฟี่นั่นเอง

ความนิยมดังกล่าว ยังทำให้ชื่อของสินค้าในตระกูล Reno เติบโตอย่างรวดเร็วด้วย โดยข้อมูลปัจจุบันพบว่า สินค้าตระกูลดังกล่าวสามารถจำหน่ายได้มากกว่า 98 ล้านเครื่องในกว่า 60 ประเทศและภูมิภาค และมีผู้ใช้งานมากถึง 67 ล้านคน รวมถึงได้จดสิทธิบัตรด้านการถ่ายภาพกว่า 11,261 รายการ และปัจจุบัน OPPO มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 4 ของตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ด้วย

2018 โลกมือถือคือโลกแห่ง Experience

คำกล่าวด้านบนคือมุมมองหนึ่งของคุณชานนท์เกี่ยวกับตลาดสมาร์ทโฟนที่เปลี่ยนแปลงไป กับการหันมาขายประสบการณ์การใช้งานมากขึ้น เช่น ความบางของตัวเครื่อง เทคโนโลยีแกนพับ เทคโนโลยีการชาร์จเร็ว รวมถึงประสบการณ์การใช้งานอุปกรณ์ต่อพ่วง (IoT) เช่น หูฟัง นาฬิกาอัจฉริยะ แท็บเล็ต ฯลฯ ที่สามารถเข้ามาเสริมได้เช่นกัน

จุดที่สร้างความแตกต่างอีกข้อของ OPPO ในมุมของคุณชานนท์คือศูนย์บริการ ที่เลือกตั้งในห้างสรรพสินค้าเกือบ 100% โดยมองว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค ให้สามารถเข้าถึงง่าย และมีการวางเป้าหมายให้กับศูนย์บริการว่า ต้องซ่อมเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง (ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้เกือบ 100% เช่นกัน)

นอกจากนั้น ในส่วนของความยั่งยืน ก็พบว่ามีการพัฒนาตัวกล่องผลิตภัณฑ์ให้เบาขึ้น ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงไม่มีนโยบายลดอุปกรณ์เสริมอย่างหัวชาร์จโทรศัพท์มือถือด้วย

ความท้าทาย “มือถือ” ครึ่งปีหลัง

สำหรับตลาดโทรศัพท์มือถือในครึ่งปีหลัง คุณชานนท์ให้ทัศนะว่า มีความท้าทายเกิดขึ้นในทุกประเทศ ทุกภูมิภาคไม่ต่างกัน และประเทศไทยก็ไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนคาดการณ์ เพียงแต่ตลาดสมาร์ทโฟนอาจจะไม่ได้เติบโตในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของแบรนด์ในการเลือกรุ่นที่จะทำตลาดให้โดนใจผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

“ตลาดอาจมีสิทธิหดตัวลง เพราะในปีนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 แบรนด์ลดการลงทุน ทำให้การ Subsidize ตัวเครื่องไม่เหมือนเดิม จากเดิมจะมีผู้ให้บริการเครือข่ายทำให้คนซื้อง่าย ราคาหลักร้อยหลักพันก็มีมาแล้ว”

“ปีนี้เป็นปีแรกที่โอเปอเรเตอร์ทั้งสามเจ้าลดการลงทุน พอลดการลงทุน ก็มีผลเป็นโดมิโน คือตอนนี้ตลาดบนตลาดล่างไม่เกี่ยวแล้ว แต่เราจะเห็นว่าโปรโมชันหลาย ๆ อันหายไป สิ่งเหล่านี้ทำให้คนชะลอการซื้อ พอชะลอปุ๊บ ตลาดอื่นก็กระทบไปด้วย ปกติเราเห็นคนอื่นเปลี่ยนมือถือ เราก็อยากเปลี่ยนบ้าง แต่พอคนข้าง ๆ ไม่เปลี่ยน เราก็ไม่เปลี่ยน มันเลยกลายเป็นโดมิโน ที่อาจทำให้ตลาดหดตัวลงได้” คุณชานนท์กล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like