ไม่เฉพาะญี่ปุ่นที่เผชิญปัญหาอัตราการเกิดต่ำจนทำลายสถิติหลายปีติดต่อกัน แต่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างสิงคโปร์เองก็เจอกับสถานการณ์เช่นนั้นด้วย โดยในปี 2022 เป็นปีที่อัตราการเกิดของสิงคโปร์ต่ำที่สุด และยังเป็นปีที่สิงคโปร์มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด (นับตั้งแต่ปี 1960) เลยทีเดียว
ข้อมูลจาก the Immigration and Checkpoints Authority (ICA) ของสิงคโปร์ระบุว่า ในปี 2022 อัตราการเกิดของสิงคโปร์ลดลง 7.9% โดยมีเด็กเกิดใหม่ 35,605 คนจาก 38,672 คนในปี 2021 ขณะที่ตัวเลขการเสียชีวิตพบว่า เพิ่มขึ้น 10.7% จาก 24,292 รายในปี 2021 เป็น 26,891 รายในปี 2022 และเป็นตัวเลขการเสียชีวิตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1960
นอกจากอัตราการเกิดและตายที่ทำลายสถิติของประเทศแล้ว อีกหนึ่งสถานการณ์ที่กำลังเกิดในสิงคโปร์ก็คือ อายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกนั้นสูงขึ้นเป็น 31.9 ปี จากเดิม 30.6 ปี (ตัวเลขในปี 2018) และเป็นกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสูงถึง 63.6%
แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์ในการให้ความสำคัญกับครอบครัวและการมีบุตร ผ่านนโยบายหลาย ๆ อย่าง เช่น การสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย การให้สวัสดิการพิเศษ แต่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ Tan Ern Ser ก็ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามเหล่านั้นยังไม่เพียงพอ เนื่องจากพ่อแม่ชาวสิงคโปร์ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก ๆ ที่สูงขึ้นมาก อีกทั้งยังหยิบยก VUCA World หรือโลกแห่งการทำงานของพ่อแม่ที่มีความไม่แน่นอนมากมาย ว่าเป็นปัจจัยให้พ่อแม่ไม่มั่นใจในการมีลูกด้วย
ทั้งนี้ VUCA World ย่อมาจาก volatility, uncertainty, complexity และ ambiguity โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก