“ธุรกิจเพลง” คือธุรกิจดั้งเดิมของ RS ตั้งแต่เริ่มบริษัทในปี 2525 กว่า 40 ปีมีคลังเพลงกว่า 20,000 เพลงในมือ หลังจาก RS ถอยจากธุรกิจเพลงมา 15 ปี ตั้งแต่ยุค Physical แผ่น CD หายไป จากการเข้ามาของยุคสตรีมมิง นั่นคือสัญญาณที่ทำให้ RS ต้องลดน้ำหนักและลดบทบาทธุรกิจเพลง เพื่อรอเวลาที่เหมาะสม แต่วันนี้สัญญาณ New Wave ธุรกิจเพลงกลับมาแล้วและถึงเวลาที่ใช่ของ “เฮียฮ้อ” ในการคัมแบ็คธุรกิจเพลงอาร์เอส
“เฮียฮ้อ” คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ย้ำว่านี่คือ “ช่วงเวลาที่ใช่” ของการกลับมาทำธุรกิจเพลงอีกครั้ง จากแลนด์สเคปที่เปลี่ยนไป ข้อมูลของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI) พบว่าในปี 2565 รายได้จากมิวสิค สตรีมมิงทั่วโลกมีมากถึง 67% เติบโตเฉลี่ยต่อปีกว่า 5%
พฤติกรรมผู้บริโภคฟังเพลงสตรีมมิงเพิ่มขึ้น หากดูตัวเลขของประเทศไทยปี 2565 ฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิง 22% ของการใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือใช้เวลาฟังเพลงสตรีมมิง 1.8 ชั่วโมงต่อวัน
ในอดีตผู้คนเลือกฟังเพลงไพเราะ แต่มาในยุคนี้เพลงถูกฟังหลากหลายรูปแบบทั้งเรื่องความสนุกและความคิดสร้างสรรค์ มากกว่าการฟังเพลงไพเราะอย่างเดียว วันนี้เพลงสอดแทรกอยู่ในทุกโมเมนต์ของไลฟ์สไตล์ผู้คน ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างเอนเกจกับผู้บริโภค และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เห็นได้ชัด อย่างการทำ Challenge บน TikTok
ร่วมทุน ‘ยูนิเวอร์แซล’ พาเพลงไทยเจาะตลาดโลก
หนึ่งในกลยุทธ์ทำตลาดเพลงของ RS Music คือการมีพาร์ทเนอร์แบบไร้กรอบ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ล่าสุดได้ร่วมทุนกับค่ายเพลงชั้นนำอันดับหนึ่งของโลก “ยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป” (Universal Music Group หรือ UMG) จัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture ยังอยู่ระหว่างตั้งชื่อบริษัท) โดย ยูนิเวอร์แซล ถือหุ้น 70% อาร์เอส 30%
จากความร่วมมือนี้ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค จ่ายเงิน 1,600 ล้านบาท ให้กับ RS Music เพื่อร่วมบริหารลิขสิทธิ์เพลงของอาร์เอส ที่มีกว่า 13,000 เพลง ผ่านศักยภาพและพาร์ทเนอร์สตรีมมิงของยูนิเวอร์แซล มิวสิค ทั่วโลก ดังนี้
1. เพิ่มประสิทธิภาพการสร้างรายได้ออนไลน์ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 30-40% และมี Impressions เพิ่มขึ้น 15-20% จากแพลตฟอร์ม OTT ต่างๆ ผ่านการบริหารของ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค
2. ขยายช่องทางการเผยแพร่งานเพลงผ่านตลาดต่างประเทศและมีเครือข่ายที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ศิลปินในสังกัดและคอนเทนต์ของ RS Music ในตลาดต่างประเทศ
3.ใช้ทรัพยากรของ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค ในการพัฒนาศิลปินและคอนเทนต์ของ RS Music ผ่านการใช้เทคโนโลยี Data Analytics ที่ทันสมัยในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงความร่วมมือในอนาคตเพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ร่วมกับศิลปินของ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค
ภายใต้ความร่วมมือกับ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค จะทำให้ผู้คนจากทั่วโลกเข้าถึงคอนเทนต์เพลงอาร์เอส ได้อย่างหลากหลายผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook, Instagram, TikTok หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิง ได้แก่ Spotify, Apple Music, JOOX และอื่นๆ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ออนไลน์จากธุรกิจเพลง
เพียงแค่เพลงทั้งหมดของอาร์เอสได้ไปอยู่บนแอคเคาน์ของ UMG ก็สร้างมูลค่าเพิ่มและความน่าสนใจจากตลาดทั่วโลก ธุรกิจเพลงวันนี้เป็นเรื่องของ Digital Power ไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนและทำตลาดได้ทั่วโลก
ปัจจุบันประเทศไทย เป็นหนึ่งในเป้าหมายของบริษัทระดับโลก พันธมิตรยูนิเวอร์แซล มิวสิค ให้ความสำคัญกับไทยที่จะใช้เป็นฐานเจาะตลาดเอเชีย เพราะมองว่าอุตสาหกรรมเพลงในเอเชียอยู่ในเทรนด์ “ขาขึ้น” เห็นได้ว่ามีศิลปินไทยไปมิวสิค เฟสติวัล ในต่างประเทศ และได้รับความสนใจจากผู้ชม มีแฟนคลับอยู่ในหลายประเทศ มีการจัดแฟนมีต โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างจีน เพราะเพลงในยุคนี้ไม่มีภาษา แต่ฟังด้วยความชอบและสนุก
RS Music ปรับโครงสร้าง 5 บิสซิเนสยูนิต
นอกจากนี้ RS Music ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เน้นสร้างรายได้ในหลากหลายช่องทาง พร้อมแต่งตั้ง คุณพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์เอส มิวสิค เพื่อผลักดันธุรกิจเพลงก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติ โดยแยกเป็น 5 บิสซิเนส ยูนิต
1. Digital Monetization ผลิตผลงานเพลงทั้งจากศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินระดับตำนานของอาร์เอส รวมถึงสร้างผลงานเพลงร่วมกับศิลปินชื่อดังจากภายนอก
2. Copyright Revenue การจัดเก็บและต่อยอดทรัพย์สินทางภูมิปัญญา (IP) ลิขสิทธิ์เพลงของ RS Music โดยบริษัท TCC (บริษัทในเครือ RS) ดูแลตลาดออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ
3. Marketing Projects & Campaigns การทำมิวสิค มาร์เก็ตติ้ง หรือแคมเปญการตลาดต่างๆ กับคู่ค้า
4. Showbiz & Concerts การจัดกิจกรรม อีเวนต์ เฟสติวัล และคอนเสิร์ต
5. Talent Management การบริหารและดูแลศิลปิน
สำหรับการผลิตผลงานเพลงในปีนี้ ได้เปิดตัว 2 โปรเจกต์ คือ RS Homecoming กลุ่มศิษย์เก่าอาร์เอสรุ่นต่างๆ ที่ยังมีแฟนคลับติดตามผลงานอยู่ และ RS Newcomers การสร้างศิลปินหน้าใหม่ให้วงการเพลง โดยไตรมาส 4 จะเริ่มเดบิวต์ศิลปินใหม่ ทั้ง Boy Band และ Girl Group อยู่ระหว่างพัฒนา 7 กลุ่ม ซึ่งมีความสามารถด้านภาษา ทั้งอังกฤษ จีน เกาหลี เพื่อก้าวสู่ตลาดภูมิภาคและระดับโลก โดยมีพาร์ทเนอร์ยูนิเวอร์แซล มิวสิค เป็นผู้สนับสนุนในตลาดต่างประเทศ
แนวทางการพัฒนาศิลปิน จะเป็น T-POP ที่มีความสามารถหลากหลายด้านภาษา โดยจะทำงานเพลงร่วมกับศิลปินค่ายต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งค่ายเพลงเกาหลี โปรดิวเซอร์เกาหลี ที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้นำตลาดเพลง K-POP ไปสู่ระดับโลก
ขณะเดียวกัน RS Music ยังมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจเพลงร่วมกับพันธมิตร ที่ผ่านมาได้ตั้งกิจการร่วมค้า “อะครอสเดอะยูนิเวิร์ส” ร่วมกับ Grammy เพื่อทำธุรกิจคอนเสิร์ต
ในอดีตที่ RS มีรายได้หลักจากธุรกิจเพลง เคยทำรายได้สูงสุด 1,000 ล้านบาท มีศิลปินรวมกันทุกยุคกว่า 300-400 คน มีคลังเพลงกว่า 20,000 เพลง หลังจากลดบทบาทลง ทำให้สัดส่วนรายได้เพลงเหลืออยู่ 7% ของรายได้อาร์เอสในปีที่ผ่านมา
การกลับมาทำธุรกิจเพลงอีกครั้ง ปีนี้ RS Music วางเป้าหมายรายได้ 720 ล้านบาท จากนี้จะเติบโตเฉลี่ยต่อปี 30% สร้างรายได้ 1,200 ล้านบาท ภายใน 3 ปี หรือในปี 2568 พร้อม IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
“การกลับมาทำธุรกิจเพลงของ RS Music ไม่ได้มีเป้าหมายต้องเป็นเบอร์ 1 เพราะธุรกิจเพลงบนโลกออนไลน์ไร้พรมแดนแข่งกันแบบข้ามประเทศ วิธีการทำงานจึงมองหา ‘เพื่อน’ เพื่อจับมือเป็นพาร์ทเนอร์ทำธุรกิจร่วมกัน พาเพลงไทยไปสู่ตลาดโลก วันนี้เป้าหมายเราชัดเจนเรื่องการสร้างรายได้และ IPO เข้าตลาดฯ ใน 3 ปี”
อ่านเพิ่มเติม