HomeReal Estate & Condoกทม. ส่งหนังสือแจ้ง ‘อนันดา’ ยกเลิกใบอนุญาตก่อสร้าง ‘แอชตัน อโศก’ เปิดทางยื่นแก้ไขทางเข้าออกใหม่ใน 30 วัน ลูกบ้านจ่อฟ้อง 5,000 ล้าน

กทม. ส่งหนังสือแจ้ง ‘อนันดา’ ยกเลิกใบอนุญาตก่อสร้าง ‘แอชตัน อโศก’ เปิดทางยื่นแก้ไขทางเข้าออกใหม่ใน 30 วัน ลูกบ้านจ่อฟ้อง 5,000 ล้าน

แชร์ :

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ “เพิกถอน” ใบอนุญาตก่อสร้าง “แอชตัน อโศก” (Ashton Asoke) ซึ่งเป็นโครงการของ “อนันดา” ร่วมทุนกับ “มิตซุย ฟูโดซัง” ญี่ปุ่น เป็นคอนโดสูง 51 ชั้น มีห้องพัก 783 ยูนิต ตั้งอยู่ริมถนนอโศก มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แอชตัน อโศก มีจำนวนยูนิตที่โอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 668 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 5,653 ล้านบาท หรือ 87% ปัจจุบันมีจำนวนยูนิตคงเหลือ 115 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 828 ล้านบาท หรือ 13%

ประเด็นคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแอชตันอโศก

– ประเด็นสำคัญที่ศาลวินิจฉัย คือ ที่ดินทางเข้า-ออกอาคารแอชตัน อโศก เป็นที่ดินของ รฟม. มาจากการเวนคืน จึงไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการประกอบการได้

– เมื่อไม่สามารถนำที่ดินทางเข้า-ออกมาใช้ได้ ดังนั้นการที่หน่วยงานของรัฐ (กทม.) ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จึงขัดกับ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่อาคารสูงต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร

– ส่งผลให้ใบอนุญาตก่อสร้าง “แอชตัน อโศก” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุด จึงยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้ “เพิกถอน” คำสั่งอนุญาตก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกใบอนุญาต

กทม.เปิดทางแอชตันอโศกยื่นขออนุญาตก่อสร้างใหม่ใน 30 วัน

คุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย คุณวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้ากรณี แอชตัน อโศก ดังนี้

– ภายในวันศุกร์ ที่ 4 สิงหาคม 2566 กทม. โดยสำนักงานเขตวัฒนา จะส่งหนังสือตามคำสั่งศาล ยกเลิกหนังสือแจ้งก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก

– อนันดา เจ้าของโครงการ มีเวลา 30 วัน เพื่อยื่นหนังสือแจ้งขออนุญาตก่อสร้างใหม่ ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

– ตามหนังสือยื่นขออนุญาตก่อสร้างใหม่นี้ อนันดา ต้องมีรายละเอียดการแก้ไขปรับปรุงทางเข้า-ออกอาคาร ให้ถูกต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร คือ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร พร้อมกำหนดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา เบื้องต้น กทม.ให้เวลา 30 วัน ตามกฎหมาย (สามารถขยายเวลาได้ตามเหตุอันสมควร)​

ลุ้นแก้ไขทางเข้าออกถนนสุขุมวิท19-อโศก

การแก้ไขทางเข้าออกอาคารแอชตัน อโศก ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร คือทางเข้าออกขนาด 12 เมตร ติดถนนสาธารณะขนาดกว้าง 18 เมตร

สำหรับถนนสาธารณะกว้าง 18 เมตร มี 2 ถนน คือ ถนนอโศก และ ถนนสุขุมวิท 19

โดยถนนสุขุมวิท 19 กทม.ระบุตามข้อมูลระวางที่ดินมีขนาดถนนกว้าง 20.5 เมตร (รวมคูคลอง) แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน กทม. จะมีการวัดขนาดถนนสุขุมวิท 19 ใหม่อีกครั้ง หากแอชตัน อโศก ยื่นแก้ไขทางเข้าออกทางโดยใช้ถนนสุขุมวิท 19

แต่หากเจ้าของโครงการแอชตัน อโศก ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ ตามขั้นตอนต่อไปก็จะต้องใช้มาตรา 42 ของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร คือรื้อถอนอาคาร

“เจตนารมณ์กฎหมายเปิดทางให้แก้ไขได้ ขั้นตอนการดำเนินการขณะนี้ ยังไปไม่ถึงจุดนั้น(รื้ออาคาร) เรื่องนี้ไม่มีการเอื้อประโยชน์ใดๆ ให้เอกชน แต่เป็นการดำเนินการตามคำพิพากษา ลูกบ้านไม่ต้องกังวล เพราะไม่มีแนวคิดขณะนี้ว่าต้องทุบอาคารทิ้ง” คุณชัชชาติ กล่าว

กทม.ทักท้วงยื่นแจ้งก่อสร้าง-เปิดใช้อาคาร

รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่าโครงการแอชตัน อโศก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ เรื่องการยื่นแจ้งเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง กับเรื่องการขอใบรับรองดัดแปลงอาคาร โดยบริษัทอนันดาเจ้าของโครงการแอชตัน ยื่นแจ้งก่อสร้างครั้งแรกเมื่อปี 2558 ซึ่ง กทม.มีหนังสือทักท้วงไป จากนั้นมีการยื่นแจ้งก่อสร้างต่อมาอีกรวม 3 ครั้ง กทม. ก็มีหนังสือทักท้วงไปตลอด จนกระทั่งมีการฟ้องเป็นคดีกันในปี 2558

หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะต้องมีการยื่นขอเปิดอาคาร ทางแอชตัน ได้ยื่นขอมาในเมื่อปี 2560 ซึ่ง กทม. ก็ทักท้วงไปเนื่องจากยังมีคดีเรื่องทางเข้า-ออก ซึ่งไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่ โดยแอชตัน ได้ยื่นอุทธรณ์ไปที่กรรมการควบคุมอาคาร จนกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาเห็นว่า กทม. ควรออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯให้

ทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จึงออกใบรับแจ้งฯ ให้แบบมีเงื่อนไข โดยระบุว่า เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของรฟม. ผ่านเข้า-ออก นั้น หากศาลมีคำพิพากษาสิ้นสุดแล้ว ผลพิจารณาทำให้อาคารดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้ใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป

ลูกบ้านจ่อฟ้องค่าเสียหาย 5,000 ล้านบาท

ฝั่งผู้ซื้อคอนโด “แอชตัน อโศก” โดยตัวแทนนิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน อโศก พร้อมทนายความ ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้ บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เจ้าของโครงการแอชตัน อโศก แสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง

คุณพิสุทธิ์ รักวงษ์ ทนายความของนิติบุคคลและลูกบ้านแอชตัน อโศก ได้เรียกร้องให้อนันดา แสดงความรับผิดชอบในการดูแลลูกบ้าน ตามที่เคยยื่นข้อเสนอไปเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา และล่าสุดได้ยื่นข้อเสนอเดิมอีกครั้งหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา

โดยขอให้อนันดา เยียวยาความเสียหาย หากไม่สามารถแก้ปัญหาแอชตัน อโศกได้ และต้องรื้อถอนอาคาร ขอให้ลูกบ้านได้สิทธิ์ย้ายหรือเปลี่ยนไปอยู่โครงการอื่นๆ ของอนันดา ขอเงินคืนกรณีที่มีลูกบ้านไม่อยากอยู่กับโครงการอนันดาแล้ว โดยขอให้อนันดาสร้างความมั่นใจให้ลูกบ้านด้วยการลงนามในหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่ทางอนันดาไม่ได้เซ็นหนังสือดังกล่าว

ล่าสุดอนันดา ออกแถลงการณ์ระบุว่าลูกค้าที่ซื้อและทำสัญญา ได้รับทราบสถานะเกี่ยวกับคดี ซึ่งฝั่งลูกบ้านยืนยันว่าไม่เคยทราบในขณะที่มีการซื้อขายห้องชุดกับทางโครงการ

ดังนั้นหากท้ายสุด อนันดา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเข้าออกอาคารใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ และต้องรื้ออาคาร ฝั่งลูกบ้านจะฟ้องคดีแพ่งกับอนันดา เรียกค่าเสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท รวมถึงเตรียมฟ้องคดีอาญาด้วย

สถานการณ์ขณะนี้จึงเรียกร้องให้ อนันดาแสดงความรับผิดชอบ และมาเจรจากับลูกบ้านภายใน 7 วัน นับจากวันนี้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like