HomePR NewsCMMU แนะภาคธุรกิจเพิ่ม 3 ซูเปอร์สกิลด้านความยั่งยืน “มายด์เซ็ต-สกิลเซ็ต-ทูลเซ็ต” ขับเคลื่อนความเชื่อมั่นองค์กร

CMMU แนะภาคธุรกิจเพิ่ม 3 ซูเปอร์สกิลด้านความยั่งยืน “มายด์เซ็ต-สกิลเซ็ต-ทูลเซ็ต” ขับเคลื่อนความเชื่อมั่นองค์กร

แชร์ :

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ฉายแนวโน้มเทรนด์การทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทุกวัน ทำให้ประเด็นด้าน “ความยั่งยืน (Sustainability)” กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรไม่ควรมองข้าม ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น พร้อมแนะแนวทางทำธุรกิจแบบ ESG (Environment, Social, Governance) มากขึ้น เพื่อซื้อใจนักลงทุน โดย CMMU พร้อมผลักดันเรื่อง “ความยั่งยืน (Sustainability)” และ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)” ในทุกมิติ ส่งคอร์สพัฒนาบุคลากรในทุกองค์กร เน้นย้ำต้องมี 3 ทักษะสำคัญ ได้แก่ มายด์เซ็ต (Mindset) สกิลเซ็ต (Skillset) และทูลเซ็ต (Toolset) เพื่อร่วมกันพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย SDGs

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ผศ. ดร.สุภรักษ์ สุริยันเกียรติแก้ว ผู้ช่วยคณบดีหน่วยธุรกิจและสังคมสัมพันธ์ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เทรนด์การทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก โดยผู้บริโภคมีความใส่ใจในประเด็นของสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ทำให้ประเด็นด้านความยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญและจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นต่อทั้งองค์กร ผู้บริหารระดับสูง และบุคลากรในทุก ๆ ภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน ทางด้านนักลงทุนทั่วโลกก็ให้ความสำคัญกับแนวทางทำธุรกิจแบบ ESG (Environment, Social, Governance) มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อประกอบการพิจารณาในการลงทุน นอกจากนี้ จากการดำเนินงานในด้านบริหารและพัฒนากลยุทธ์การตลาดพบว่า การจัดการด้านความยั่งยืนนั้นต้องเพิ่มอีก 3 ทักษะสำคัญ คือ มายด์เซ็ต (Mindset) สกิลเซ็ต (Skillset) และทูลเซ็ต (Toolset) เพื่อที่จะเป็นเครื่องมือในการก้าวไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ CMMU จึงมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะผลักดันเรื่อง “ความยั่งยืน (Sustainability)” และ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)” ในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มุม E – Environment ที่องค์กรต้องใช้ทรัพยากรที่มาจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการทำลายธรรมชาติ มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยมลพิษ เป็นต้น มุม S – Social องค์กรต้องมีความรู้ความเข้าใจสภาพสังคมและพิจารณาตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น จีดีพี (GDP) ว่าตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนอย่างแท้จริงหรือไม่ เนื่องด้วยการพัฒนาสังคม (Social Development) เป็นเรื่องที่ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมากในการพัฒนา และ มุม G – Governance การดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส่ สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงต้องมีความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาองค์กร โดยทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้งหมด 17 เป้าหมาย

ทางด้าน รศ. ดร.แรนดัล แชนนอล หัวหน้าสาขา Marketing And Management วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องของความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นในการทำตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านระบบการศึกษา ในฐานะที่ CMMU เป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน เราได้สอดแทรกและปลูกฝังความรู้เรื่องความยั่งยืนผ่านการศึกษาในวิทยาลัยฯ ในด้านของการศึกษาด้านการตลาด การทำการตลาดโดยคำนึงถึงหลักความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย โดยคำว่า “ความยั่งยืน” ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการทำการตลาดเพื่อให้มีผู้บริโภคสนใจในสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตตลอดทุกช่วงชีวิต

สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวควบคู่ไปกับกลยุทธ์ด้านการตลาดในปัจจุบันคือการทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเชื่อมั่นความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีผลลัพธ์และแนวทางที่สามารถยืนยันได้ว่าทำให้เป้าหมายได้รับผลกระทบในเชิงบวก พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานด้านความยั่งยืนว่าเป็นเทรนด์ หรือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม ผู้บริโภค รวมทั้งผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ในระดับบริหารและวางโครงสร้างจะต้องวางบทบาทการทำงานของบุคคลในองค์กรให้แตกต่างจากเดิม โดยจะต้องมีความคิด รู้จักกระบวนการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งทำให้คนในองค์กรเห็นทิศทางของความยั่งยืนในภาพเดียวกัน นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงวิธีการที่จะทำให้เกิดทักษะดังกล่าวได้ในปริมาณมาก เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว สามารถส่งต่อไปถึงคนทำงานรุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามาทำงานในอนาคต รศ. ดร.แรนดัล กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ผศ. ดร.ตฤณ ธนานุศักดิ์ หัวหน้าสาขา Healthcare Wellness Management วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นอกเหนือจากการนำ ESG มาใช้ในองค์กร ไม่ใช่เพียงการนำมาใช้ในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะการนำมาใช้ในองค์กรที่ดำเนินการโดยคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจและตระหนักในด้านความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นการนำ ESG มาปรับใช้ในองค์กรไม่ว่าจะขนาดใดก็ตามจะช่วยในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร เพราะหากองค์กรใดก็ตามมุ่งเน้นแต่ผลกำไรโดยไม่ใส่ใจสังคม อาจถูกมองข้ามจากผู้บริโภคและนักลงทุนได้ไม่ยาก ดังนั้นสถานศึกษาเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สามารถบ่มเพาะความรู้ และความเข้าใจในเรื่องของความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี วิทยาลัยฯ จึงให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยมีแผนในการนำประเด็นด้านความยั่งยืนเข้าไปสอดแทรกในทุกรายวิชาเรียนของ CMMU รวมถึงสอดแทรกผ่านกรณีศึกษาในชั้นเรียนให้มากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจการบริหารและพัฒนาธุรกิจอย่างมีความยั่งยืน โดยสถานศึกษาจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาแนวคิด (Mindset) และทักษะของผู้เรียน ให้มีความพร้อมในการรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

CMMU มุ่งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีมายด์เซ็ท (Mindset) หรือแบบแผนความคิดที่หล่อหลอมให้มีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม เชื่อในการลงมือปฏิบัติจริง และไม่หยุดเรียนรู้ เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีความยั่งยืน และสามารถอยู่ได้ในระยะยาวโดยไม่กระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม ทางด้านสกิลเซ็ท (Skillset) วิทยาลัยฯ ก็เดินหน้าอัปเดทความรู้ด้านการบริหาร และการจัดการที่สร้างสกิลจากประสบการณ์จริง ไม่ใช่ศึกษาเพียงทฤษฎีในตำราเท่านั้น ทำให้ผู้เรียนมีชุดทักษะที่พร้อมเผชิญความท้าทายบนโลกธุรกิจที่มีความผันผวนรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันสังคมก็ยังคงมองหาความยั่งยืน และสุดท้ายทูลเซ็ต (Toolset) ด้านความยั่งยืนที่มีอุปกรณ์หลากหลายให้นักบริหารได้ทำความเข้าใจตั้งแต่อยู่ในคลาสเรียน พร้อมใช้งานจริงก่อนออกไปสู่โลกภายนอก


แชร์ :

You may also like