HomeDigitalส่อง 6 แนวทาง “Amazon – AWS” ทำธุรกิจคลาวด์ให้ “ยั่งยืน”

ส่อง 6 แนวทาง “Amazon – AWS” ทำธุรกิจคลาวด์ให้ “ยั่งยืน”

แชร์ :

การเติบโตของเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานของธุรกิจทั่วโลกได้ส่งผลให้ธุรกิจคลาวด์กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจคลาวด์กลายเป็นธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนให้โลกไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีแนวคิดของ Amazon และ AWS (Amazon Web Service) ที่น่าสนใจ และอาจเป็นไอเดียให้กับตลาดดังกล่าวได้ต่อยอดในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ก็เป็นได้ โดยสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง Amazon และ AWS ด้านความยั่งยืนมีดังนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

พัฒนาชิปสำหรับ Data Center

ไอเดียนี้ของ AWS เป็นการพัฒนาเพื่อให้การบริการคลาวด์มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย AWS เผยว่า บริษัทมีการลงทุนพัฒนาชิปของตัวเองเพื่อใช้ใน Data Center โดยปัจจุบันพัฒนามาถึงรุ่นที่ 3 แล้ว ในชื่อ AWS Graviton 3 ซึ่งพบว่าสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 60% เมื่อเทียบกับชิปรุ่นก่อน

การพัฒนาชิปของตนเองเพื่อใช้ใน Data Center ยังมีข้อดี โดยผู้บริหาร AWS ให้ความเห็นว่า เมื่อโมเดล Generative AI ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย จะเกิดค่าใช้จ่ายในการเรียกใช้โมเดล AI เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งการมีชิปที่ปรับให้เหมาะสมสำหรับแอปพลิเคชัน Generative AI และสามารถประหยัดพลังงานได้ จะทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งของในส่วน Data Center เอง และค่าใช้จ่ายในการเข้าใช้คลาวด์ของผู้ใช้งานลดลง

ปรับวิธีการใช้ UPS

อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ AWS ประหยัดพลังงานใน Data Center คือการลดการใช้ UPS (เครื่องสำรองไฟ) ขนาดใหญ่ และเปลี่ยนเป็นชุดแบตเตอรี่ขนาดเล็ก – แหล่งจ่ายไฟที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับเซิร์ฟเวอร์แทน โดย AWS ระบุว่า ทุกครั้งที่มีการแปลงแรงดันไฟฟ้าจากแรงดันหนึ่งไปเป็นอีกแรงดันหนึ่ง (เช่นจาก AC เป็น DC) จะมีการสูญเสียพลังงานเกิดขึ้น การลด UPS จึงสามารถช่วยลดกระบวนการสูญเสียพลังงานตรงนี้ได้ โดย AWS เผยว่า แนวทางนี้สามารถลดการสูญเสียพลังงานลงได้ 35%

ใช้คอนกรีตแบบ Low Carbon ในการสร้าง Data Center

AWS มีการจับมือกับ American Rock Products หรือ ARP บริษัทผู้พัฒนาวัสดุก่อสร้างสัญชาติอเมริกัน พัฒนาคอนกรีตคาร์บอนต่ำ (low-carbon concrete) สำหรับใช้ในการก่อสร้าง Data Center อีกวิธีหนึ่งที่ Amazon กำลังดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอาคารก็คือการใช้ CarbonCure หรือก็คือการฉีดคาร์บอนไดออกไซด์ที่รีไซเคิลแล้วเข้าไปในคอนกรีตในระหว่างการผลิต โดยวิธีการนี้ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างสำนักงานใหญ่แห่งที่สองของบริษัท (HQ2) ในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนียด้วย ซึ่ง Amazon คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากกว่า 1,144 ตันเมื่อโครงการเสร็จสิ้น

ใช้รถไฟฟ้าในการส่งของ

aws rivian ev

Amazon และ Rivian บริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าสัญชาติอเมริกันมีแผนจะนำรถไฟฟ้าในลักษณะดังกล่าวมาให้บริการขนส่งสินค้าของ Amazon ใน 100,000 เมืองให้ได้ภายในปี 2030 โดย Amazon ได้มีการทดสอบรถไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2021 สามารถใช้จัดส่งพัสดุไปได้แล้วกว่า 430,000 ชิ้น และวิ่งไปแล้วมากกว่า 90,000 ไมล์

ปัจจุบัน รถไฟฟ้ารุ่นนี้ได้เริ่มให้บริการจัดส่งพัสดุของ Amazon ในบัลติมอร์ ชิคาโก ดัลลาส แคนซัสซิตี้ แนชวิลล์ ฟีนิกซ์ ซานดิเอโก ซีแอตเทิล และเซนต์หลุยส์

จัดการการใช้น้ำ

การสร้าง Data Center นั้นส่งผลให้เกิดความร้อนสูง และต้องมีการนำน้ำมาใช้บำบัดความร้อนที่เกิดจาก Data Center เหล่านั้น ซึ่งนโยบายของ AWS พบว่า มีการตั้งเป้าสู่การเป็นผู้ใช้แหล่งน้ำที่ยั่งยืน โดย AWS จะคืนน้ำสะอาดสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่าที่นำมาใช้ (Water Positive) ภายในปี พ.ศ. 2573 (ตัวชี้วัดความเป็นมาตรฐานในการใช้น้ำของ AWS ทั่วโลกคือ 0.19 ลิตรของน้ำต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง)

นอกจากนั้น น้ำที่ได้จากการระบายความร้อนยังถูกนำไปใช้ที่ศูนย์ข้อมูล 20 แห่งทั่วโลก และมีแผนที่จะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งรวมถึงศูนย์ข้อมูล 2 แห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ศูนย์ข้อมูล 16 แห่งในรัฐเวอร์จิเนีย และศูนย์ข้อมูล 2 แห่งในประเทศสิงคโปร์ด้วย หรือในประเทศอินโดนีเซีย Amazon ได้ร่วมมือกับ Water.org ที่เป็นพันธมิตรกับธนาคารชุมชน จัดทำกองทุนให้กับระบบสาธารณูปโภคน้ำในพื้นที่ชนบทเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงบริการน้ำ การเชื่อมต่อน้ำ และขยายโครงสร้างพื้นฐานบนเกาะชวาด้วยนั่นเอง

เปิดตัว The Climate Pledge

Amazon เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นผู้ลงนามคนแรกของ The Climate Pledge โดยโครงการดังกล่าวริเริ่มขึ้นในปี 2019 และมีวัตถุประสงค์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2040 ซึ่งองค์กรที่ร่วมลงนามถือว่าเห็นด้วยกับการดําเนินการด้านความยั่งยืนใน 3 ด้าน ได้แก่

  1. รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประจำ
  2. การลดคาร์บอน
  3. ปรับการปล่อยก๊าซที่เหลือให้เป็นกลางด้วยการชดเชย

ปัจจุบัน The Climate Pledge มีผู้ลงนามมากกว่า 400 องค์กรใน 55 อุตสาหกรรมและ 38 ประเทศ ส่วนในอาเซียน พบว่ามีองค์กรที่ร่วมลงนามได้แก่ GoTo ในอินโดนีเซีย Neuron, SAI และ Terrascope ในสิงคโปร์ และ VinFast ในเวียดนาม แต่ยังไม่มีองค์กรจากไทยร่วมลงนามในส่วนนี้


แชร์ :

You may also like