กลายเป็นอีกหนึ่งกระแสฮือฮาในโลกออนไลน์ หลัง “ตัน ภาสกรนที ” ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กด้วยภาพที่นำทัพโดย “คุณตัน ภาสกรนที” ที่ออกมาพร้อมพนักงานตั้งแถวไหว้ขอโทษลูกค้าหลังสินค้าผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ระบุว่า “ขอโทษลูกค้าและคู่ค้าทุกท่านที่อิชิตันผลิตสินค้าส่งไม่ทัน หมดสต็อกชั่วคราว แม้จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 100 ล้านขวดต่อเดือน แต่ของก็ยังไม่ทันส่ง เรากำลังเร่งมือทั้งวันทั้งคืนเพื่อส่งมอบสินค้าให้ทุกท่านเร็วที่สุดครับ”
ภายหลังโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ไป แน่นอนมีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์เป็นจำนวนมาก ทั้งชี้เป้ารสชาติที่อร่อย ความนิยมของผลิตภัณฑ์ขวดปากกว้าง ฯลฯ BrandBuffet คุยกับ “คุณตัน ภาสกรนที” ถึงที่มาของคำขอโทษ พร้อมเหตุผลทำไมสินค้าถึงขาดตลาด และวิธีบริหารจัดการตามแบบฉบับ “เจ้าพ่อชาเขียวเมืองไทย” กับอีกหนึ่งพิสูจน์ความสำเร็จใหม่ในรอบ 10 ปี
“ชาเขียว-เย็น เย็น-น้ำด่าง” 3 เรือธง ทำยอดขายพุ่ง
คุณตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI เล่าถึงที่มาของภาพขอโทษและขอบคุณที่เกิดขึ้นว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สินค้าของเราเริ่มขาดตลาด เพราะความต้องการสินค้าที่มีมากขึ้น บวกกับสภาพอากาศที่ร้อนทำให้คนหันมาบริโภคเครื่องดื่มเพื่อดับร้อนมากขึ้น โดยยอดขายของบริษัทเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่โควิด เนื่องจากได้ฐานลูกค้าและร้านค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะร้านโชห่วยในต่างจังหวัดทั้งรายเก่าที่เริ่มกลับมาขายได้ และรายใหม่ที่เปิดร้านเป็นจำนวนมากก็สั่งสินค้าเรา ทำให้สามารถเจาะลูกค้าได้มากขึ้น
“ช่วงโควิดและหลังโควิด ผมได้ร้านค้าที่เป็นโชห่วยเพิ่มเยอะมาก ทำให้ได้ฐานใหม่ จากเดิมโชห่วยเล็กก็ใหญ่ขึ้น ทำให้ยอดขายกลับมาสูงอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้เราเต็มกำลังการผลิตแล้ว และสินค้าก็ผลิตวันต่อวัน หลายคน (ยี่ปั๊ว) โทรมาขอสต็อกเพิ่ม เพราะคนนี้ก็ขาดคนนั้นก็อยากได้ ทำให้เราต้องบริหารจัดการและทำให้ดีที่สุด โดยจะเร่งดำเนินการส่งสินค้าให้ครบทุกรายให้เร็วที่สุด”
จากดีมานด์ที่ทะลักมาอย่างต่อเนื่อง “คุณตัน” บอกว่า ทำให้จากนี้ไปหัวใจสำคัญของอิชิตัน กรุ๊ปคือการเร่งบริหารงาน 3 ภาคส่วน ทั้ง บริหารกำลังการผลิต บริหารกำไรขาดทุน บริหารสินค้า ให้ดีที่สุด เพื่อให้สามารถเติบโตได้ในระยะยาว
โดยตอนนี้ทาง “อิชิตัน” กำลังเร่งขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเบื้องต้นจะมีการจ้างผลิต (OEM) จาก ผลิต บริษัท ยูโรเปี้ยนฟู้ด จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์เจ้าเดิมที่เคยผลิตให้อิชิตันเมื่อช่วง 2-3 ปีแรกที่อิชิตันเข้าทำตลาดใหม่ๆ ในการเข้ามาช่วยซัพพอร์ตในการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะสามารถเริ่มผลิตได้อย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้
ปัจุจบันกำลังการผลิตของโรงงาน “อิชิตัน กรุ๊ป” เต็มที่ 100 ล้านขวดต่อเดือนแล้ว ซึ่งเป็นกำลังการเพิ่มกำลังการผลิตที่สูงสุดในรอบ 10 ปี และโรงงานของเราก็สามารถรองรับได้เพียง 14 เดือนเท่านั้น ทำให้เราเริ่มมองหาบริษัทที่รับ OEM ซึ่งก็คือ ยูโรเปี้ยนฟู้ด ที่เคยผลิตให้เราในการผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดให้ทัน ก่อนที่ในปีหน้า (2567) โรงงานของอิชิตัน จะเพิ่มไลน์การผลิตใหม่อีก 1 ไลน์ที่จะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 600 ขวดต่อนาที ซึ่งจะทำให้โรงงานอิชิตันมีไลน์การผลิตทั้งสิ้น 8 ไลน์การผลิตและน่าจะเพียงพอต่อความต้องการในปีหน้าด้วย
สำหรับแบรนด์ที่มีดีมานด์มากที่สุดในตอนนี้ได้แก่ กลุ่มชาเขียว ทั้งชาเขียวพร้อมดื่มอิชิตัน (รสน้ำผึ้งมะนาวอันดับ 1) ชาเขียวพร้อมดื่มชิซึโอกะ และชาเขียวฝาขวดกว้าง กลุ่มน้ำสมุนไพร อิชิตัน เย็น เย็น น้ำด่างอิชิตัน และ ตันซันซู ที่ทยอยขายดีเพิ่มมากขึ้น
แม้สินค้าในพอร์ตโฟลิโอจะมี “กลุ่มชาเขียว”และ “เย็น เย็น” ที่มียอดขายพุ่งแบบชัดเจนมากกว่าเพื่อนร่วมพอร์ต ทว่า “คุณตัน” กลับมองว่า การจะสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งจำเป็นต้องทำให้สม่ำเสมอ และเพียงพออยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้เจ้าตัวตัดสินใจเดินหน้าผลิตแบรนด์ในเครือทั้งหมดแบบเพิ่มเท่ากันทุกแบรนด์ เพราะการบาลานซ์พอร์ตโฟลิโอเพื่อป้องกันความเสี่ยงยังเป็นเรื่องที่จำเป็นหากในอนาคตเทรนด์เครื่องดื่มมีการเปลี่ยนไป
“ในช่วงยอดขายที่สูงๆ เราสามารถโฟกัสการผลิตไปที่แบรนด์ที่มีความต้องการเพียงแบรนด์เดียวได้ ซึ่งง่ายกว่าการบาลานซ์พอร์ตมาก แต่การทำแบบนั้นจะไม่เป็นผลดีต่อแบรนด์อื่นๆ เพราะลูกค้าจะมองไม่เห็นสินค้าอื่นๆ บนเชลฟ์ จะเห็นเพียงแบรนด์ที่ได้รับความนิยม และเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติลูกค้าจะลืมแบรนด์นั้นไปในที่สุด ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน ทำให้เราต้องยอมเสียสละยอดขายบางส่วนเพื่อรักษายอดขายส่วนรวมให้ดีขึ้นในอนาคต”
ยอดขายนิวไฮ 2 ครั้งในรอบ 10 ปี ทำเครื่องดื่มขาดสต็อก
นอกจากนี้การที่สินค้าของอิชิตัน กรุ๊ป ขาดตลาดส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก สินค้าที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังสถานการณ์ระบาดของโควิดผ่านพ้นไป ทำให้ผลประกอบการของ ICHI สร้างยอดขายและกำไร New High ถึงสองครั้งที่มีการประกาศผลประกอบการในปีนี้
โดยไตรมาส 1/66 ICHI กวาดรายได้ 1,832.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% และมีกำไรสุทธิ 222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นยังอยู่ในระดับสูงกว่า 20% ได้เช่นกัน ถือเป็นการทำนิวไฮรอบ 28 ไตรมาสที่ผ่านมา
และไตรมาส 2/66 ICHI รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 2/66 มีกำไรสุทธิ 255.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 152.54 ล้านบาทและถือเป็นการนิวไออีกครั้ง
นั่นทำให้ระบบบริหารจัดการสต็อกสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย จากเดิมที่ใน Warehouse มีการจัดเก็บก็ต้องเป็นแบบผลิตวันต่อวันเพื่อส่งออกให้ทันความต้องการ โดยการเพิ่มกำลังการผลิตของอิชิตันในปีนี้นับว่าเกิน 100 ล้านขวดไปแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 10 ปีของการผลิต
“ปีที่ผ่านมาเราเคยวางเป้าหมายกันในโรงงานว่า หากกำลังการผลิตและยอดขายเราทะลุ 100 ล้านขวดต่อเดือน ผมจะแจกโบนัสพนักงานเดือนละ 100,000 บาท เพื่อให้ทุกคนได้ไปแบ่งกันและมีกำลังใจในการทำงาน ซึ่งตอนนี้ผมจ่ายไป 200,000 แล้วใน 2 เดือน และกำลังจะจ่ายแสนที่สามในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ และหากยอดขายเราดีแบบนี้ตลอดไป ผมก็พร้อมจ่ายเดือนละแสนเพื่อเป็นกำลังใจแก่พนักงานตลอดไปเช่นกัน”
ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อ “ตลาดเครื่องดื่มเมืองไทย” ที่ทำให้ยอดขายพุ่ง คือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่สินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มจะขายดีช่วงไฮซีซั่นหรือหน้าร้อน (ปลาย ก.พ.-พ.ค.) ของแต่ละปี แต่จากสภาพอากาศ เทรนด์เครื่องดื่มสุขภาพที่เข้ามาทำให้ยอดขายเครื่องดื่มกระจายได้ตลอดทั้งปี โดยไม่โหมตลาดแค่หน้าร้อนเหมือนที่ผ่านมา
นั่นทำให้วิธีการทำตลาดของแบรนด์เปลี่ยนไป โดยจะไม่มีแคมเปญใหญ่ๆ หรือการโหมแคมเปญช่วงหน้าร้อน แต่เลือกที่จะกระจายมาร์เก็ตติ้งแคมเปญตลอดทั้งปีแทน
ท้ายที่สุด “คุณตัน” บอกว่า แม้เรื่องของสินค้าขาดตลาดจะค่อนข้างเป็นปัญหาแต่ต้องยอมรับว่า ผู้ค้าส่งรายใหญ่ (ยี่ปั๊ว) ชอบที่จะขายแบบนี้มากกว่า เพราะการันตีได้ว่าสินค้าขายดี ขายได้ ไม่ตกค้างอย่างแน่นอน แม้จะต้องมีการบริหารจัดการมากขึ้นก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม
ผ่ามุมคิด “ตัน-อิชิตัน” แพ้เพื่อทางผ่านของชัยชนะ เบื้องหลังชูกำลังน้องใหม่ที่เตรียมบุกตุลาคมนี้